บีโอไอไฟเขียวโรงงานแบตฯ BYD ปลื้มยอดส่งเสริมลงทุนปี 65 ทะลุ 6.6 แสนล้าน
บอร์ดบีโอไอ อนุมัติโครงการลงทุนใหญ่กว่า 1.5 หมื่นล้าน รวมโรงงานแบเตอรี่อีวีของ BYD เผยทั้งปี 2565 ยอดขอรับส่งเสริมลงทุนทะลุ 6.6 แสนล้าน โต 41% กวาด FDI 433,971 ล้าน ขยายตัว 36%
นายนฤตม์ เทอดสถีรศักดิ์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บอร์ดบีโอไอ) ซึ่งมี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน เมื่อวันที่ 13 ม.ค. 2566 ว่า ได้อนุมัติส่งเสริมการลงทุนโครงการขนาดใหญ่ รวมมูลค่า 15,784 ล้านบาท
ได้แก่ โครงการผลิตแบตเตอรี่สำหรับยานพาหนะไฟฟ้า ของบริษัท บีวายดี ออโต้ คอมโพเนนท์ส (ประเทศไทย) จำกัด มูลค่า 3,893 ล้านบาท โครงการผลิต Carbon Black ของบริษัท ไทยโตไกคาร์บอนโปรดักท์ จำกัด มูลค่า 9,490 ล้านบาท และโครงการผลิตเชื้อเพลิงจากขยะ ของบริษัท ทีพีไอ โพลีน เพาเวอร์ จำกัด (มหาชน) มูลค่า 2,401 ล้านบาท
นอกจากนี้ ที่ประชุมบอร์ดบีโอไอ เห็นชอบให้จัดตั้งบริการช่องทางอำนวยความสะดวกออนไลน์สำหรับกิจการสำนักงานภูมิภาคอย่างครบวงจร (ระบบ HQ Biz Portal) ซึ่งประกอบด้วย ระบบนัดหมายให้คำปรึกษาออนไลน์ ศูนย์รวมข้อมูลและบูรณาการการให้บริการจัดตั้งสำนักงานภูมิภาค ระหว่าง 4 หน่วยงาน คือ บีโอไอ กรมสรรพากร กรมพัฒนาธุรกิจการค้า และธนาคารแห่งประเทศไทย เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการเข้าถึงข้อมูล ลดขั้นตอนและอุปสรรคในการจัดตั้งสำนักงานภูมิภาคในประเทศไทย
"ในสถานการณ์ความตึงเครียดทางการเมืองและสงครามระหว่างประเทศ และความอ่อนไหวของเศรษฐกิจทั่วโลก ทำให้นักลงทุนมองหาพื้นที่ลงทุนตั้งธุรกิจที่มีความปลอดภัย มีความเสี่ยงต่ำ จึงเป็นโอกาสสำคัญของประเทศไทยที่ใช้ช่วงเวลานี้ดึงดูดให้บริษัทชั้นนำเข้ามาจัดตั้งสำนักงานภูมิภาค เพื่อใช้เป็นฐานในการกำกับดูแลและให้บริการบริษัทในเครือที่ตั้งอยู่ในประเทศต่าง ๆ ในภูมิภาค"
ปลื้มยอดขอรับส่งเสริมลงทุนปี 65 ทะลุ 6.6 แสนล้าน
สำหรับโครงการขอรับการส่งเสริมการลงทุนในปี 2565 ที่ผ่านมา รวมทั้งสิ้น 2,119 โครงการ เพิ่มขึ้น 41% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2564 และมีเงินลงทุน 664,630 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 39% นับว่าเป็นมูลค่าที่สูงที่สุดนับตั้งแต่เกิดสถานการณ์โควิด นอกจากนี้ การออกบัตรส่งเสริม ซึ่งเป็นขั้นที่ใกล้จะลงทุนจริงมากที่สุด ก็มีแนวโน้มที่ดี ในปี 2565 มีโครงการที่ออกบัตรส่งเสริม ทั้งสิ้น 1,490 โครงการ เพิ่มขึ้น 9% และมีมูลค่าเงินลงทุน 489,090 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 21% เป็นสัญญาณที่ดีว่า ในระยะ 1-2 ปีข้างหน้า จะมีการลงทุนจริงที่มากยิ่งขึ้น
สำหรับการขอรับการส่งเสริมการลงทุนใน 12 อุตสาหกรรมเป้าหมาย มีเงินลงทุน 468,668 ล้านบาท คิดเป็น 71% ของมูลค่าการขอรับการส่งเสริมทั้งสิ้น โดยเงินลงทุนส่วนใหญ่อยู่ในอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์และเครื่องใช้ไฟฟ้า มีมูลค่า 129,475 ล้านบาท รองลงมา ได้แก่ อุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วน มีมูลค่า 105,371 ล้านบาท อุตสาหกรรมเกษตรและแปรรูปอาหาร มีมูลค่า 81,731 ล้านบาท อุตสาหกรรมปิโตรเคมีและเคมีภัณฑ์ มีมูลค่า 59,762 ล้านบาท และอุตสาหกรรมดิจิทัล มีมูลค่า 49,458 ล้านบาท ตามลำดับ
นอกเหนือจากอุตสาหกรรมเป้าหมายแล้ว ธุรกิจที่มีเงินลงทุนสูง ได้แก่ กิจการผลิตพลังงานไฟฟ้า โดยเฉพาะพลังงานหมุนเวียน กิจการพัฒนานิคมอุตสาหกรรม กิจการขนส่งและโลจิสติกส์
โดยในปี 2565 มีโครงการลงทุนขนาดใหญ่ในหลายกิจการ เช่น กิจการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าทั้งแบบ BEV, PHEV และ Hybrid มูลค่ารวมกว่า 53,000 ล้านบาท (ผู้ลงทุนรายสำคัญ เช่น บีวายดี และฮอริษอน พลัส) กิจการ Data Center มูลค่ารวมกว่า 42,000 ล้านบาท (ผู้ลงทุนรายสำคัญ เช่น อะเมซอน เว็บ เซอร์วิส (AWS)) และกิจการโรงแยกก๊าซธรรมชาติของ ปตท. มูลค่ากว่า 18,000 ล้านบาท
ยอดขอลงทุนใน EEC เพิ่มเกือบเท่าตัว
การลงทุนใน EEC ซึ่งเป็นพื้นที่เป้าหมายสำคัญ มีสัดส่วนกว่าครึ่งหนึ่งของมูลค่าการขอรับการส่งเสริมทั้งหมด โดยมีการขอการรับส่งเสริมจำนวน 637 โครงการ คิดเป็นเงินลงทุนรวม 358,833 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 84% โดยมูลค่าเงินลงทุนกระจุกตัวอยู่ในอุตสาหกรรมเป้าหมาย เช่น อุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วน อิเล็กทรอนิกส์และเครื่องใช้ไฟฟ้า อุตสาหกรรมเทคโนโลยีชีวภาพ และอุตสาหกรรมอื่น ๆ เช่น กิจการผลิตพลังงานไฟฟ้า กิจการพัฒนานิคมอุตสาหกรรม กิจการขนถ่ายสินค้าสำหรับเรือบรรทุกสินค้า เป็นต้น
ในส่วนคำขอรับการส่งเสริมการลงทุนจากต่างประเทศ (FDI) มีมูลค่า 433,971 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 36% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2564 โดยจีน มีมูลค่าการขอรับการส่งเสริมสูงสุด 77,381 ล้านบาท รองลงมาเป็นญี่ปุ่น มูลค่า 50,767 ล้านบาท สหรัฐอเมริกา มูลค่า 50,296 ล้านบาท ไต้หวัน 45,215 ล้านบาท และสิงคโปร์ 44,286 ล้านบาท ตามลำดับ
“ตัวเลขคำขอรับการส่งเสริมการลงทุนในปี 2565 ที่เพิ่มขึ้นมาก สะท้อนให้เห็นถึงความเชื่อมั่นของนักลงทุนที่มีต่อศักยภาพของประเทศไทย โดยเฉพาะการเป็นฐานการผลิตและการลงทุนที่สำคัญในภูมิภาค จากการมีห่วงโซ่อุปทานที่มั่นคงและมีเสถียรภาพ ประกอบกับฐานอุตสาหกรรมสนับสนุนและบุคลากรที่พร้อมรองรับการลงทุนในอุตสาหกรรมใหม่ๆ เช่น ยานยนต์ไฟฟ้า อิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ และดิจิทัล ทำให้ประเทศผู้ลงทุนหลัก ทั้งจีน ญี่ปุ่น และสหรัฐอเมริกา เลือกปักหมุดลงทุนที่ประเทศไทยเพิ่มขึ้น ท่ามกลางการแย่งชิงเม็ดเงินลงทุนของประเทศต่างๆ ทั่วโลก”
นายนฤตม์ กล่าวว่า สำหรับแนวโน้มการลงทุนปี 2566 ภายใต้เศรษฐกิจโลกที่มีความไม่แน่นอนสูงและมีแนวโน้มชะลอตัว คาดว่าประเทศไทยจะสามารถรักษาระดับการลงทุนไม่ต่ำกว่า 5-6 แสนล้านบาท เนื่องจากไทยมีโครงสร้างพื้นฐานและฐานการผลิตที่แข็งแกร่ง ไม่อยู่ในความขัดแย้งด้านภูมิรัฐศาสตร์ และมาตรการส่งเสริมการลงทุนใหม่ ทำให้ประเทศไทยเป็นที่สนใจของนักลงทุน โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า BCG พลังงานสะอาด การแพทย์และสุขภาพ ดิจิทัล อิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ ระบบอัตโนมัติและหุ่นยนต์ เป็นต้น