มนัญญา ย้ำสร้างระบบป้องการทุจริต ขับเคลื่อนสหกรณ์-กลุ่มเกษตรกร เข้มแข็ง
มนัญญา ยกระดับสหกรณ์จังหวัด จัดทิศทางการขับเคลื่อนงาน เร่งผลักดันสหกรณ์ให้เป็นกลไกหลักในการพัฒนาเศรษฐกิจฐานราก สร้างระบบป้องกันการทุจริต ผลักดันให้สหกรณ์มีความเข้มแข็ง มีธรรมาภิบาล เป็นที่พึ่งให้กับสมาชิกได้
นางสาวมนัญญา ไทยเศรษฐ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยภายหลัง การเป็นประธานเปิดโครงการฝึกอบรมหลักสูตร “การพัฒนาศักยภาพผู้บริหารเพื่อการบริหารงานสำนักงานสหกรณ์จังหวัด” รวมถึงมอบนโยบาย “ภาพรวมนโยบายด้านการเกษตรของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์” ให้กับสหกรณ์จังหวัด และเจ้าหน้าที่กรมส่งเสริมสหกรณ์ ณ โรงแรมปรินซ์ พาเลซ มหานาค กรุงเทพมหานคร ว่า
สหกรณ์จังหวัด เป็นผู้ที่มีบทบาทสำคัญในการแนะนำ ส่งเสริม และพัฒนาสหกรณ์และกลุ่มเกษตรกรโดยตรงในพื้นที่ เป็นผู้นำนโยบายจากกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ไปสู่การปฏิบัติ เพื่อให้เกิดความเจริญก้าวหน้าแก่สหกรณ์และกลุ่มเกษตรกร ยกระดับสหกรณ์ให้มีมาตรฐานและมีประสิทธิภาพ และที่สำคัญต้องสนับสนุนและเปิดโอกาสให้คนรุ่นใหม่ได้เข้ามามี ส่วนร่วมในการพัฒนาสหกรณ์ทั้งของตนเองและในชุมชนให้มีความเข้มแข็ง สมาชิกมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น สามารถเป็นหลักในการสนับสนุน ช่วยเหลือและบริการให้กับสมาชิกนำมาสู่การพัฒนาและต่อยอดในกระบวนการส่งเสริมสหกรณ์ให้ทัน กับการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจในอนาคตได้อย่างยั่งยืน
“สำนักงานสหกรณ์จังหวัด เป็นหน่วยงานที่ทำงานใกล้ชิดกับเกษตรกรมากที่สุดหน่วยงานหนึ่ง สหกรณ์และ กลุ่มเกษตรกรถือเป็นองค์กรหลักของภาคเกษตรกรในระดับฐานราก และเป็นฐานสำคัญของการพัฒนาระบบเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ ซึ่งรัฐบาล และกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้ให้ความสำคัญเป็นอย่างมาก ขอให้สหกรณ์จังหวัดช่วยกันผลักดันและดำเนินโครงการสำคัญให้สำเร็จผล เพื่อให้เกษตรกรและกลุ่มเกษตรกรสามารถช่วยเหลือมวลสมาชิก ให้มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น โดยผลักดันโครงการต่าง ๆ ให้สัมฤทธิ์ผลโดยเร็ว เช่น
โครงการนำลูกหลานเกษตรกรกลับบ้าน สานต่ออาชีพการเกษตร โครงการส่งเสริมการจัดตั้งซูเปอร์มาร์เก็ตสหกรณ์ โครงการพัฒนาอาชีพสมาชิกสหกรณ์ โครงการตลาดนำการผลิต โครงการช่วยเหลือแก้ไขปัญหาด้านหนี้สินของสมาชิก รวมทั้งช่วยกันกำกับ ดูแลและสร้างความรู้ความเข้าใจแก่สหกรณ์เกี่ยวกับกฎ ระเบียบที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างใกล้ชิด ร่วมกันช่วยกันสร้างระบบการป้องกันการทุจริต ในสหกรณ์โดยร่วมมือและบูรณาการร่วมกับกรมตรวจบัญชีสหกรณ์ด้วย”
นอกจากนี้ ยังได้เน้นย้ำการนำนโยบายจากกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ไปสู่การปฏิบัติ เพื่อให้เกิดความเจริญ ก้าวหน้าแก่สหกรณ์และกลุ่มเกษตรกร พัฒนาสหกรณ์ ฟื้นฟู เสริมสร้าง กระจายความเข้มแข็งสู่เกษตรกรเพื่อความมั่นคง ตลอดจนส่งผลให้สมาชิกมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ภารกิจที่สำคัญของสหกรณ์จังหวัด จะต้องมีความรอบรู้ มีความพร้อมในการปฏิบัติงานอยู่เสมอ และเข้าใจหลักการบริหารอย่างแท้จริง ทั้งบุคลากรในองค์กร บริหารงบประมาณที่ได้รับอย่างจำกัดให้เกิดความคุ้มค่าและประโยชน์สูงสุด บริหารแผนงานโครงการให้บรรลุเป้าหมายตัวชี้วัด และบริหารจัดการเทคโนโลยีสารสนเทศ รวมทั้งเครื่องมืออุปกรณ์ที่มีอยู่จำกัดให้เกิดความเป็นธรรมและเท่าเทียม เพื่อส่งผลให้การส่งเสริมและพัฒนาสหกรณ์และกลุ่มเกษตรกรเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด
ทั้งนี้ นโนบายสำคัญที่กรมส่งเสริมสหกรณ์ได้ดำเนินการขับเคลื่อนโดยใช้กลไกสหกรณ์เข้ามาช่วยดูแล ความเป็นอยู่และการประกอบอาชีพให้แก่เกษตรกร ซึ่งสหกรณ์และกลุ่มเกษตรกรถือเป็นองค์กรกรหลักของภาคการเกษตรในระดับพื้นที่ และเป็นฐานสำคัญของการพัฒนาระบบเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ ซึ่งรัฐบาลโดยกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้ให้ความสำคัญต่อการนำระบบสหกรณ์เป็นกลไกในการยกระดับคุณภาพชีวิตให้กับประชาชนในทุกพื้นที่ โดยคาดหวังว่าสหกรณ์และกลุ่มเกษตรกรจะเป็นองค์กรที่ช่วยส่งเสริมให้สมาชิกมีความเป็นอยู่และคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น นอกจากนี้ กรมฯ ยังมีนโยบายเร่งดำเนินการฟื้นฟู พัฒนาสหกรณ์การเกษตรและสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยน แก้ไขปัญหาหนี้สินให้กับสมาชิกสหกรณ์ พัฒนาการดำเนินธุรกิจให้มีกำไร ส่งเสริมอาชีพสมาชิกโดยบูรณาการร่วมกับหน่วยงานอื่น กำกับดูแลการดำเนินงานของสหกรณ์ออมทรัพย์ ตรวจการสหกรณ์โดยมุ่งเน้นการปฏิบัติตามระเบียบ ข้อบังคับ กฎหมายสหกรณ์และกฎหมายอื่น มุ่งแก้ไขปัญหาหนี้สินให้กับสมาชิก เพิ่มเงินออม มีการให้สินเชื่อที่ดี
รวมทั้งยกระดับการดำเนินธุรกิจเพื่อมุ่งเน้นการแก้ไขปัญหาให้สมาชิกสหกรณ์ กลุ่มเกษตรกร พัฒนาการดำเนินธุรกิจให้มีกำไร ส่งเสริมการดำเนินธุรกิจเพื่อแก้ไขปัญหาสมาชิก รักษาฐานเดิมของลูกค้า ขยายผลการเชื่อมโยงสินค้าและผลิตภัณฑ์กับสหกรณ์ ภาคการเกษตร รวมทั้งเพิ่มคุณภาพในการจัดตั้งสหกรณ์ กลุ่มเกษตรกร พร้อมทั้งพัฒนาบุคลากรกรมส่งเสริมสหกรณ์ ในด้านการส่งเสริมและพัฒนา ด้านกำกับดูแลสหกรณ์ เพื่อให้สหกรณ์มีความเข้มแข็ง สามารถเป็นองค์กรหลักของ ภาคการเกษตรในระดับพื้นที่ และเป็นรากฐานสำคัญของการพัฒนาระบบเศรษฐกิจและสังคมประเทศต่อไป