ส.อ.ท.เผยต้นทุนประกอบการพุ่ง ฉุดดัชนีเชื่อมั่นอุตฯ เดือนธ.ค.
ส.อ.ท. เปิดผลสำรวจดัชนีเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรม เดือน ธ.ค. 2565 อยู่ที่ 92.6 ปรับลดลงในรอบ 7 เดือน ปัจจัยลบจากต้นทุนประกอบการและสัญญาณชะลอตัวภาคส่งออก คาดท่องเที่ยวจะเป็นเครื่องยนต์หลักขับเคลื่อนเศรษฐกิจปีนี้
นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยผลการสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรม ประจำเดือนธ.ค. 2565 อยู่ที่ระดับ 92.6 ปรับตัวลดลงจากระดับ 93.5 ในเดือนพ.ย. 2565 ปรับตัวลดลงครั้งแรกในรอบ 7 เดือน โดยองค์ประกอบของค่าดัชนีฯ ที่มีความเชื่อมั่นลดลง ได้แก่ คำสั่งซื้อโดยรวม ปริมาณการผลิต ผลประกอบการ และต้นทุนประกอบการ ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับยอดขายโดยรวมเป็นองค์ประกอบเดียวที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น
ทั้งนี้ ปัจจัยลบจากภาคการผลิตที่ชะลอลงจากเดือนก่อนหน้า เนื่องจากในเดือนธ.ค. มีวันทำงานน้อยและวันหยุดต่อเนื่องในช่วงเทศกาลปีใหม่ ส่งผลให้ดัชนีฯ คำสั่งซื้อสินค้า ปริมาณการผลิตและผลประกอบการปรับตัวลดลง
รวมทั้งผู้ประกอบการยังมีความกังวลเกี่ยวกับต้นทุนการผลิตโดยเฉพาะการปรับขึ้นค่าไฟฟ้า และการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ หลังจากธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) มีประกาศปรับขึ้นอัตราเงินนำส่งจากสถาบันการเงินเข้ากองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน (FIDF) จาก 0.23% เป็น 0.46% ต่อปี ส่งผลให้ต้นทุนทางการเงินเพิ่มขึ้น
ขณะที่ปัญหาเงินเฟ้อที่ยังบั่นทอนกำลังซื้อในประเทศ ในด้านการส่งออกเริ่มส่งสัญญาณชะลอตัว จากภาวะเศรษฐกิจโลกที่ไม่แน่นอนและสภาวะสงครามรัสเซีย-ยูเครนที่ยังคงยืดเยื้อ
อย่างไรก็ตาม เดือนธ.ค. ยังมีปัจจัยบวกจากการขยายตัวของการบริโภคในประเทศ และการใช้จ่ายในช่วงเทศกาลปีใหม่ รวมทั้งการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยว และราคาน้ำมันที่ปรับตัวลดลงส่งผลดีต่อความเชื่อมั่นด้านต้นทุนการผลิต
จากการสำรวจผู้ประกอบการ 1,303 ราย ครอบคลุม 45 กลุ่มอุตสาหกรรมในเดือนธ.ค. 2565 พบว่า ปัจจัยที่ผู้ประกอบการมีความกังวลเพิ่มขึ้น ได้แก่ เศรษฐกิจโลก 71.5% อัตราแลกเปลี่ยน ในมุมมองผู้ส่งออก โดยอัตราแลกเปลี่ยนอ้างอิงค่าเงินบาทเทียบกับดอลลาร์ 44.5% อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ 48.8%
ส่วนปัจจัยที่มีความกังวลลดลง ได้แก่ ราคาน้ำมัน 54.4% สถานการณ์การเมืองในประเทศ 40.2% เศรษฐกิจในประเทศ 37.7% ตามลำดับ
สำหรับดัชนีฯ คาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้า อยู่ที่ระดับ 99.9 ปรับตัวเพิ่มขึ้นจาก 97.0 ในเดือนพ.ย. 2565 เนื่องจากเศรษฐกิจในประเทศทยอยฟื้นตัวตามการขยายตัวของอุปสงค์ในประเทศและมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ ขณะที่ประเทศจีนประกาศผ่อนคลายมาตรการ Zero-COVID เร็วกว่าคาด ซึ่งส่งผลดีต่อการท่องเที่ยวของไทย
"การท่องเที่ยวในปีนี้จะกลับมาเป็นเครื่องยนต์สำคัญที่ช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจแทนการส่งออกที่เริ่มลดความร้อนแรงลงเนื่องจากเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัว โดยภาคการท่องเที่ยวต้องเร่งจำนวนเที่ยวบินเข้าประเทศ รวมทั้งการควบคุมโรคระบาดตามมาตรการสาธารณสุขให้สมดุลกับการขับเคลื่อนเศรษฐกิจเพื่อไม่ให้เกิดการล็อกดาวน์ขึ้นอีกครั้ง"
โดย ส.อ.ท. มีข้อเสนอต่อภาครัฐให้ช่วยมาตรการดูแลต้นทุนการผลิตให้ผู้ประกอบการอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะค่าไฟฟ้าและราคาพลังงาน เพื่อรักษาขีดความสามารถในการแข่งขันเมื่อเทียบกับคู่แข่งในภูมิภาค
รวมทั้ง การดูแลค่าเงินบาทให้มีความสมดุลทั้งกับผู้ส่งออกและผู้นำเข้า รวมทั้งช่วยเหลือผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบจากความผันผวนของค่าเงินบาท