"ส.อ.ท." ผิดหวังรัฐช่วย "ค่าไฟ" ชี้แก้ปัญหาที่ปลายเหตุ
กกพ.นัดสรุปค่าเอฟทีวันนี้ ลุ้นช่วยภาคธุรกิจลดค่าไฟลง 40 สตางค์ ส.อ.ท.ผิดหวังความช่วยเหลือ ชี้รัฐไม่แก้ปัญหาที่ต้นเหตุ เมินข้อเสนอเอกชนให้หาทางช่วยสภาพคล่อง กฟผ. เผย รมว.พลังงานไร้เสียงตอบรับช่วยเอกชน บอร์ด ปตท.เคาะแผนช่วยค่าไฟกลุ่มเปราะบาง เทียบเท่า 6 พันล้าน
การปรับค่าไฟฟ้าผันแปร (Ft) งวดเดือน ม.ค.-เม.ย.2565 ได้ส่งผลให้ทั้งกลุ่มผู้บริโภคและภาคธุรกิจออกมาแสดงความเห็นคัดค้าน โดยในวันที่ 28 ธ.ค.2565 สำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) จะพิจารณาค่าไฟฟ้าผันแปรรอบใหม่ให้กับภาคธุรกิจถูกลงหน่วยละ 40 สตางค์ จากเดิมที่มติเดิมพิจารณาที่หน่วยละ 190.44 สตางค์ คิดเป็นค่าไฟฟ้าหน่วยละ 5.69 บาท
สำหรับการพิจารณาดังกล่าวเป็นไปตามนโยบายรัฐบาลที่ต้องการช่วยเหลือค่าไฟฟ้าของภาคธุรกิจ ภาคอุตสาหกรรมและภาคบริการ โดยการลงทุน 40 สตางค์ แบ่งเป็น 2 ส่วนในอัตราส่วนละ 20 สตางค์ คือ
1.การปรับลดราคาก๊าซธรรมชาติของบริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) รวมทั้งค่าน้ำมันดีเซลที่ใช้ผลิตไฟฟ้าของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.)
2.ปรับการจ่ายหนี้สะสมของ กฟผ.จากเดิมต้องจ่ายให้ กฟผ.หน่วยละ 33 สตางค์ ซึ่งจะพิจารณาว่า กฟผ.จะรับจ่ายหนี้คืนลดลงเท่าไร เช่น รับคืนก่อน 16-20 สตางค์
นายอิศเรศ รัตนดิลก ณ ภูเก็ต รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า รู้สึกผิดหวังมากกับข้อเสนอที่จะมีการพิจารณาครั้งนี้ แต่ถึงจะปรับค่าไฟลง ส.อ.ท.มองว่าไม่ใช่การแก้ปัญหาที่ต้นทาง
ทั้งนี้ เท่าที่ดูจากการที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี สั่งการมายังนายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ให้ปรับลดค่าไฟฟ้าลงนั้น กระทรวงพลังงานยังคงใช้เครื่องมือเดิม คือ การยกภาระให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) และบริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) เป็นตัวหลักในการจัดทำตัวเลขใหม่
“เอกชนพยายามดูประเด็นว่าสิ่งที่ต้องทำจะต้องอย่างไรมากกว่า เพราะการแก้ปัญหายังเป็นวิธีเดิม ดังนั้น เราจึงยืนยันให้แก้ที่ต้นเหตุตาม 5 ข้อที่คณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) เสนอ เช่น ค่าความพร้อมจ่าย หรือ AP ของโรงไฟฟ้าเอกชนควรปรับลงบ้าง ซึ่งไม่พูดถึงประเด็นนี้เลยทั้งที่ภาครัฐมีเครื่องมือ ทั้งนโยบาย กฎหมายและการกำกับดูแล แต่เลือกสั่งเฉพาะ กฟผ.เพราะอยู่ภายใต้กำกับ จนไม่สามารถแบกรับภาระไหวแล้ว”
อย่างไรก็ตาม การแก้ปัญหาโดยโยกก๊าซที่ถูกไปตรึงภาคครัวเรือนก็ควรหางบประมาณจากตรงอื่นมาช่วย โดยไม่ควรให้เฉพาะ ปตท.มาช่วยเหลือในงบประมาณ 6,000 ล้านบาท และโยกภาระก๊าซที่แพงมาให้เอกชน ซึ่งสุดท้ายจะผลักภาระให้ประชาชนอยู่ดี
ส่วนการปรับโรงงานมาใช้น้ำมันเตาผลิตไฟฟ้าแทนการใช้ก๊าซ LNG นั้น กลุ่มโรงงานเมื่อเลิกใช้น้ำมันเตาก็มีการรื้อถังทิ้งมาเปลี่ยนเป็นท่อเพื่อใช้แก๊สแทน ซึ่งตอนนี้หลายโรงงานเริ่มกลับมาใช้น้ำมันเตาจะต้องหาถังมาใส่ใหม่ ซึ่งต้องใช้เงินลงทุนและเวลาปรับเปลี่ยน แต่ไม่ใช่เรื่องง่ายเหมือนการเดินท่อน้ำประปา
นอกจากนี้ เมื่อก๊าซในอ่าวไทยลดลงและนำเข้า LNG ในราคาแพง ดังนั้น วิธีแก้คือต้องลดการนำเข้า และให้ภาคธุรกิจช่วยกันประหยัด ซึ่งโรงงานที่ปรับตัวได้ก็ทำมาตลอด ซึ่งกระทรวงพลังงานควรเน้นการหาเงินเข้าประเทศไม่ใช่มาควบคุมปริมาณการใช้พลังงานของโรงงาน
“ภาระหนี้ กฟผ.กระทรวงการคลังควรเข้ามาช่วย เช่น ออกบอนด์เพื่อระดมเงินทุนจากประชาชนแล้วเพื่อมาช่วยเสริมสภาพคล่องให้กฟผ. แต่ปัญหาตอนนี้ คือ รองนายกฯ ได้ดูเรื่องนี้หรือไม่ ทุกคนรักษาบทบาทตัวเองหมด ดังนั้น นายกฯ ต้องสั่งการไป อีกทั้งคณะรัฐมนตรีเศรษฐกิจควรหารือว่าจะเอาอย่างไรให้ดีที่สุด ถ้าเป็นหน่วยงานอื่นเชื่อว่าจะมีวิธีการหาทางออกที่ดี”
ไร้เสียงตอบรับจาก รมว.พลังงาน
นอกจากนี้ กรณีนายสุพัฒนพงษ์ ระบุให้เอกชนเข้ามาหารือนั้น ยืนยันว่าได้ทำหนังสือไปหากระทรวงพลังงาน 4-5 ฉบับ แต่ไม่เคยเปิดช่องให้หารือเลย ทั้งที่เป็นรองนายกฯ ดูแลเศรษฐกิจจึงควรหารือหลายกระทรวงเพื่อแก้ปัญหา เช่น กระทรวงอุตสาหกรรมในปลดล็อคการขอใบอนุญาตโรงงาน (รง.4) สำหรับการติดตั้งโซลาร์รูฟเพื่อช่วยภาคอุตสาหกรรม ซึ่งเป็นแนวทางที่ดีกว่าการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ โดยควรใช้กลไกการทำงานร่วมกับกระทรวงพลังงาน แต่หากดำเนินการไม่ไหวควรเสนอขอใช้อำนาจนายกรัฐมนตรีสั่งการ
“กกพ.น่าจะปรับลดค่าไฟลงแต่ก็ไม่เยอะ ความหวังเราคือแก้ปัญหาตรงจุดตามวิธีที่เหมาะสม ซึ่งผลจะเป็นอย่างไรเราก็ยอมรับได้ เราอยากให้การทำงานเป็นเชิงรุกสร้างสรรค์ ผลที่ได้ถ้าไม่ได้ก็คือไม่ได้ ไม่ใช่ว่ายังไม่ทำแล้วบอกว่าไม่ได้ก็ไม่มีใครยอมหรอก ผลที่ออกมาเป็นวิธีของเขา เราก็ไม่พอใจอยู่แล้ว เพราะวิธีการที่เสนอไปยังไม่ได้เอามาพิจารณาเลย รอบนี้เป็นระเบิดเวลาจริงๆ”
5ข้อเสนอแก้ปัญหาค่าไฟแพง
สำหรับ 5 ข้อเสนอของ กกร.ที่เสนอรัฐบาล คือ 1.ตรึงค่าไฟฟ้าประเภทบ้านที่อยู่อาศัยโดยไม่ผลักภาระต้นทุนเพิ่มมาเป็นภาระผู้ใช้ไฟฟ้าส่วนที่เหลือ แต่ภาครัฐควรหางบประมาณจากส่วนอื่นมาช่วยเหลือกลุ่มบ้านอยู่อาศัย
2.ขยายเพดานหนี้ 2 ปี ให้ กฟผ.ด้วยการเพิ่มเพดานเงินกู้เฉพาะกิจ จัดสรรวงเงินให้ยืมและชะลอการส่งเงินรายได้เข้าคลัง เพราะภาระต้นทุนค่าเชื้อเพลิงและค่าซื้อไฟฟ้าที่ กฟผ.ที่เป็นรัฐวิสาหกิจรับภาระแทนประชาชนไปก่อนนั้น เป็นการสมควรและอยู่ในวิสัยที่ภาครัฐจะบริหารจัดการให้ กฟผ.เพิ่มการรับภาระได้มากขึ้นและนานขึ้นมากกว่า 2 ปี
3.ปรับโครงสร้างค่าไฟฟ้า โดยขอให้ปรับค่า Ft แบบขั้นบันไดเพื่อลดผลกระทบผู้ประกอบการและนำค่าไฟฟ้าส่วนเพิ่มครั้งนี้มาหักค่าใช้จ่ายหรือลดหย่อนภาษีได้ 2-3 เท่าเพื่อแบ่งเบาภาระให้ผู้ประกอบการ และส่งเสริมให้ผู้ประกอบการมีการปรับตัวหรือบริหารจัดการพลังงาน เช่น การปรับกระบวนการผลิตให้มาใช้ไฟฟ้าในช่วง Off-Peak มากขึ้น
4.ส่งเสริมการติดตั้งโซลาร์เซลล์เพื่อใช้เองมากขึ้น โดยเน้นใช้พลังงานจากแสงอาทิตย์ชั่วคราวช่วงวิกฤติพลังงานและขายไฟฟ้าส่วนเกินให้การไฟฟ้าด้วยการปลดล็อคเรื่องใบอนุญาตโรงงาน, ขยายกำลังไฟฟ้าเกิน 1 เมกะวัตต์ (แต่ไม่เกินกำลังไฟฟ้าปกติเดิมที่เคยใช้), ลดภาษีนำเข้าแผงโซลาร์และอุปกรณ์ รวมทั้งพิจารณา Net metering สำหรับอุตสาหกรรมและบริการ
5.มีส่วนร่วมกับภาคเอกชนในด้านพลังงานให้มากขึ้นโดยเสนอให้แต่งตั้งคณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชนด้านพลังงานหรือ กรอ.ด้านพลังงาน
ปตท.ช่วยค่าไฟกลุ่มเปราะบาง
นายอรรถพล ฤกษ์พิบูลย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ตามที่คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) เห็นชอบแนวนโยบายการบริหารจัดการก๊าซธรรมชาติเพื่อลดภาระค่าไฟฟ้าช่วงวิกฤติราคาพลังงาน (ม.ค.-เม.ย.2566) และขอความร่วมมือ ปตท.สนับสนุนรายได้จากธุรกิจโรงแยกก๊าซธรรมชาติ นั้น
ปตท.ไม่นิ่งนอนใจต่อสถานการณ์วิกฤติพลังงานที่จะกระทบความเป็นอยู่ประชาชน โดยคณะกรรมการ ปตท.เห็นชอบมาตรการเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการ โดยจัดสรรก๊าซธรรมชาติเพิ่มเติมเพื่อใช้ผลิตกระแสไฟฟ้า รวมทั้งพยายามจัดหา LNG ที่มีราคาเหมาะสม มุ่งลดต้นทุนเชื้อเพลิงการผลิตไฟฟ้าเทียบเท่า 6,000 ล้านบาท พร้อมมั่นใจไม่กระทบการดำเนินธุรกิจ
ทั้งนี้ การดำเนินการดังกล่าวจะทำได้เนื่องจากคาดการณ์ว่าความต้องการปิโตรเคมีต้นปี 2566 ยังอยู่ระดับต่ำกว่าปกติส่งผลให้จัดส่งก๊าซธรรมชาติในส่วนนี้เพิ่มเติมให้ภาคไฟฟ้าได้
นอกจากนี้ ที่ผ่านมา ปตท.บริหารจัดการพลังงานเพื่อลดผลกระทบประชาชนให้มากที่สุด โดยเฉพาะกลุ่มเปราะบาง รวมงบประมาณช่วยเหลือตลอดโครงการ 1,223 ล้านบาท ได้แก่ การขยายเวลาตรึงราคาขายปลีก NGV สำหรับผู้ขับขี่รถแท็กซี่ในกรุงเทพฯ ถึงวันที่ 15 มี.ค.2566 และการขยายเวลาช่วยส่วนลดก๊าซหุงต้มให้กลุ่มร้านค้า หาบเร่ แผงลอยอาหารที่ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ถึงวันที่ 31 มี.ค.2566
รวมทั้ง ปตท.ในฐานะรัฐวิสาหกิจและบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ มุ่งสร้างความมั่นคงทางพลังงานให้แก่ประเทศ ยึดมั่นหลักธรรมภิบาล พร้อมดูแลผู้มีส่วนได้เสียทุกกลุ่มอย่างสมดุล เพื่อร่วมขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศให้เดินหน้าได้อย่างเข้มแข็ง
นายกฯสั่งดูแล25ล้านครัวเรือน
นายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า นายกรัฐมนตรี สั่งการในที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่าราคาพลังงานที่สูงขึ้นช่วงที่ผ่านมา รัฐบาลพยายามดูแลราคาพลังงานและค่าครองชีพให้ประชาชนพอสมควร ซึ่งเมื่อรวมแล้วเป็นตัวเลขที่สูงมาก
อย่างไรก็ตาม ในช่วงเวลาต่อไปที่ราคาพลังงานยังคงอยู่ในระดับสูงนั้นรัฐบาลก็ยังต้องดูแลในเรื่องของราคาพลังงานต่อไป และพร้อมที่จะมีมาตรการสนับสนุนเพิ่มเติม โดยเฉพาะผู้มีรายได้น้อยที่มี 25 ล้านครัวเรือน ซึ่งรัฐบาลจะยังคงมีมาตรการช่วยเหลือต่อไปควบคู่การรณรงค์ให้ประชาชนใช้พลังงานอย่างประหยัด