‘ประยุทธ์’ สั่งดูแลค่าไฟ ผู้มีรายได้น้อย 25 ล้านครัวเรือน
“ประยุทธ์” สั่งดูแลค่าไฟฟ้าประชาชนกลุ่มรายได้น้อย 25 ล้านครัวเรือน ควบคู่มาตรการประหยัดพลังงาน ครม.ไฟเขียวแผนปฏิบัติการกำกับกิจการพลังงาน ระยะ 5 ปี) วงเงิน 5,286 ล้านบาท ขับเคลื่อนกิจการพลังงานไทยอย่างมั่นคง
นายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม สั่งการในที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่าเกี่ยวกับราคาพลังงานที่เพิ่มสูงขึ้นในช่วงที่ผ่านมารัฐบาลได้พยายามที่จะดูแลราคาพลังงาน และค่าครองชีพให้กับประชาชนไปพอสมควร ซึ่งเมื่อรวมแล้วเป็นตัวเลขที่สูงมาก
อย่างไรก็ตามในช่วงเวลาต่อไปที่ราคาพลังงานยังคงอยู่ในระดับสูงนั้นรัฐบาลก็ยังต้องดูแลในเรื่องของราคาพลังงานต่อไป และพร้อมที่จะมีมาตรการสนับสนุนเพิ่มเติม โดยเฉพาะผู้มีรายได้น้อยซึ่งมีอยู่ประมาณ 25 ล้านครัวเรือน ซึ่งรัฐบาลจะยังคงมีมาตรการช่วยเหลือต่อไปควบคู่กับการรณรงค์ให้ประชาชนใช้พลังงานอย่างประหยัด
นางสาวรัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 27 ธันวาคม 2565 ว่า ครม.เห็นชอบแผนปฏิบัติการการกำกับกิจการพลังงาน ระยะ 5 ปี (พ.ศ. 2566 – 2570) และแผนการดำเนินงานงบประมาณรายจ่ายและประมาณการรายได้ประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2566 ของสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ซึ่งมีรายละเอียด ดังนี้
แผนปฏิบัติการการกำกับกิจการพลังงาน ระยะ 5 ปี (พ.ศ. 2566 – 2570) กรอบวงเงิน 5,286 ล้านบาท เป็นแผนต่อเนื่องจากแผนฉบับเดิม ที่จะสิ้นสุดในปี 2565 โดยเป็นกรอบการดำเนินงานของสำนักงาน กกพ. ในระยะ 5 ปีข้างหน้า ประกอบด้วย 5 วัตถุประสงค์หลัก
1.ส่งเสริมให้มีบริการด้านพลังงานอย่างเพียงพอ มีความมั่นคง ทั่วถึง และมีความเป็นธรรมต่อผู้ใช้พลังงานและผู้รับใบอนุญาต
2.ส่งเสริมการแข่งขันในกิจการพลังงาน อย่างเป็นธรรมในอัตราค่าบริการที่เหมาะสมสะท้อนต้นทุนการประกอบกิจการพลังงานที่มีประสิทธิภาพ
และ 3.ปกป้องสิทธิเสรีภาพของผู้ใช้พลังงาน ชุมชนท้องถิ่น ประชาชน และผู้รับใบอนุญาต ในการมีส่วนร่วม เข้าถึง ใช้ และจัดการ ด้านพลังงานภายใต้หลักเกณฑ์ที่ให้ความเป็นธรรมแก่ทุกฝ่าย
สำหรับแผนการดำเนินงานงบประมาณรายจ่ายและประมาณการรายได้ประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2566 ของสำนักงาน กกพ. มีแผนงานและโครงการ เช่น
1.สนับสนุนโครงการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน ทั้งแบบที่เชื่อมต่อระบบโครงข่ายไฟฟ้า (On - Grid) และในพื้นที่ห่างไกลระบบส่งไฟฟ้า (Off - Grid) ผ่าน กองทุนพัฒนาไฟฟ้า
2.ศึกษาและจัดทำแบบจำลองการพยากรณ์ ความต้องการใช้ก๊าซธรรมชาติ และระบบฐานข้อมูลปริมาณความต้องการใช้และปริมาณการจัดหาก๊าซธรรมชาติ
3.สรุปผลการดำเนินโครงการทดสอบนวัตกรรมที่นำเทคโนโลยีมาสนับสนุนการให้บริการด้านพลังงาน (ERC Sandbox) ระยะที่ 2
4.ปรับปรุงมาตรฐานวิศวกรรมความปลอดภัยกิจการก๊าซธรรมชาติ และปรับปรุงมาตรฐานคุณภาพการให้บริการ
5.พัฒนาระบบการบริหารกองทุนพัฒนาไฟฟ้าด้วยระบบดิจิทัล สำหรับประมาณการรายจ่าย คาดว่าจะมีรายจ่าย จำนวน 1,000.25 ล้านบาท เป็นค่าใช้จ่าย เช่น บุคลากร การจัดการบริหารสำนักงาน งบลงทุน เป็นต้น ส่วนประมาณการรายได้ คาดว่า จะจัดเก็บรายได้ จำนวน 1,000.81 ล้านบาท โดยมาจากค่าธรรมเนียมใบอนุญาต ค่าธรรมเนียมการประกอบกิจการพลังงาน และรายได้อื่น ๆ เช่น ดอกเบี้ยเงินฝาก
นางสาวรัชดา กล่าวด้วยว่า ที่ประชุมเห็นควรให้สำนักงาน กกพ. ให้ความสำคัญกับการจัดทำฐานข้อมูล แบบจำลองพยากรณ์ รวมทั้งพัฒนาองค์ความรู้ที่เกี่ยวข้องกับการกำกับกิจการพลังงานรูปแบบใหม่ให้แล้วเสร็จตามเป้าหมายที่กำหนดไว้ พร้อมทั้งควรติดตามสถานการณ์การเปลี่ยนแปลงตลาดพลังงานอย่างใกล้ชิด เพื่อให้สามารถกำกับกิจการพลังงานของประเทศให้สอดรับการกับเปลี่ยนผ่านด้านพลังงาน (Energy Transition) ได้อย่างมีประสิทธิภาพ