‘บูรณุปกรณ์’ ผนึก ‘ค่ายส้ม’ ล้ม‘ชินวัตร’ ยึด อบจ.เชียงใหม่ ?
"พรรคเพื่อไทย" พกยี่ห้อ "ชินวัตร" เดิมพันต้องรักษาเก้าอี้นายก อบจ.เชียงใหม่ โดยมีคู่แข่งฐานเสียงพลังกระแสหนาแน่นอย่าง "พรรคประชาชน" ที่มีฐานเสียง สส. 7 เขต ต้องการประเดิมคว้าเก้าอี้ผู้บริหารท้องถิ่นจังหวัดแรก
KEY
POINTS
- "ทักษิณ ชินวัตร" มีคิวเตรียมลงพื้นที่่ 23-24 ธ.ค. หาเสียงช่วย "พิชัย เลิศพงศ์อดิศร" ว่าที่ผู้สมัครนายก อบจ.เชียงใหม่ พรรคเพื่อไทย เพื่อป้องกันแชมป์ให้อยู่กับ "พรรคเพื่อไทย"
- จ.เชียงใหม่ "พรรคเพื่อไทย" บอบช้ำหนักจากการพ่ายแพ้ สส.เขตและบัญชีรายชื่อให้กับ "พรรคก้าวไกล"ในการเลือกตั้งเมื่อปี 2566
- “บูรณุปกรณ์” ย้ำ “บุญเลิศ บูรณุุปกรณ์” จะเว้นวรรคไม่ลงชิงนายก อบจ. เท่ากับเปิดทางให้ “พรรคประชาชน” สู้กับ “พรรคเพื่อไทย" เต็มที่
- "พรรคประชาชน" มีฐานเสียง สส.ถึง 7 เขต จะผนึกตระกูลบูรณุปกรณ์ บ้านใหญ่เพื่อล้มตระกูลชินวัตร ในเวทีท้องถิ่น ก่อนจะถึงการเลือกตั้งใหญ่ปี 2570
ศึกเลือกตั้งนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงใหม่ รอบนี้ จะเกิดขึ้นในช่วงต้นปี 2568 หลังจาก “สว.ก๊อง” หรือ “พิชัย เลิศพงศ์อดิศร” เปิดเผยหนังสือลาออกจากตำแหน่งนายก อบจ.เชียงใหม่ โดยให้มีผลตั้งแต่วันที่ 17 ธ.ค. 2567 ซึ่งเป็นการลาออกก่อนครบวาระในตำแหน่งเพียง 2 วัน
ศึกเลือกตั้ง นายก อบจ.เชียงใหม่ และสมาชิก อบจ. 42 เขต รวม 25 อำเภอ จะเกิดขึ้นในวันที่ 1 ก.พ. 2568
โฟกัสศึกเลือกตั้งท้องถิ่น จ.เชียงใหม่ รอบนี้ คอการเมืองจับจ้องไปที่การอุ่นเครื่องของขั้วการเมืองใหญ่ระดับชาติ เพราะเหลือเวลาอีก 2 ปีจะมีการเลือกตั้งใหญ่ ในปี 2570
เป็นการวัดพลังของพรรคการเมืองสองค่าย ระหว่าง “ค่ายแดง”พรรคเพื่อไทย จะป้องกันแชมป์ ไม่ให้“ค่ายส้ม”พรรคประชาชน เข้ามายึดกุมเมืองหลวงชินวัตร บ้านเกิดของอดีตนายกฯ ทักษิณ ชินวัตร ประมุขสูงสุดของพรรคเพื่อไทย
ย้อนไปในการเลือกตั้งนายก อบจ.เชียงใหม่ เมื่อปี 2563 “พิชัย เลิศพงศ์อดิศร” ตัวแทนจากพรรคเพื่อไทย ได้รับเลือกตั้ง 421,679 คะแนน เอาชนะ “บุญเลิศ บูรณุปกรณ์” จากกลุ่มเชียงใหม่คุณธรรม ที่ได้ 353,189 คะแนน
การเลือกตั้งหนนั้น “พรรคก้าวไกล” ยังไม่มีความพร้อมเหมือนครั้งนี้ ทำให้ศึกเลือกตั้งรอบนั้น เป็นการสู้กันระหว่างตระกูล “ชินวัตร” และ “บูรณุุปกรณ์” ท้ายที่สุด “ชินวัตร” ยึดกุมอำนาจท้องถิ่นไปครอง เดิมพันรักษาฐานที่มั่นทางการเมืองให้กับ “พ่อใหญ่ทักษิณ” ไว้ได้
ครั้งก่อน “พ่อใหญ่ทักษิณ”ใช้ไม้เด็ด อ้อนขอคะแนนเสียงคนเชียงใหม่ ทั้งผ่านการวีดิโอคอล และส่งจดหมายน้อย เปิดผนึกสื่อสารถึงคนเชียงใหม่ ไม่ให้ลืมคนชินวัตร
ทว่า ศึกครั้งนั้นยังเป็นการนับหนึ่งความไม่ลงรอยกันระหว่าง “ทักษิณ” และ “จตุพร พรหมพันธุ์” ที่ออกแรงหนุน “บูรณุปกรณ์”อย่างสุดตัว
จนกลายเป็นรอยแผลบาดลึก จนกระทั่ง “ตระกูลบูรณุปกรณ์”ต้องออกจากพรรคเพื่อไทยในที่สุด หลัง “พรรคเพื่อไทย”ชิงการนำ จัดตั้งรัฐบาลแทน“พรรคก้าวไกล”ในปี 2566
การปะทะกันของสองค่าย ระหว่างตัวแทนจากพรรคเพื่อไทย และพรรคประชาชน เก้าอี้นายก อบจ.เชียงใหม่จึงถูกฟันธงว่า คงหนีไม่พ้นสองพรรคนี้
ถ้าไม่ใช่ “พิชัย” ก็จะเป็น “พันธุ์อาจ ชัยรัตน์” ว่าที่ผู้สมัครนายก อบจ.เชียงใหม่ พรรคประชาชน ดีกรีคนรุ่นใหม่ ผ่านการเป็นผู้อำนวยการสำนักนวัตกรรมแห่งชาติ ของพรรค
ก่อนที่ “พรรคก้าวไกล” จะถูกยุบพรรคเมื่อเดือน ส.ค. 2567 “ชัยธวัช ตุลาธน” หัวหน้าพรรคก้าวไกลขณะนั้น ยอมรับว่า กุ้ง “ทัศนีย์ บูรณุปกรณ์” อดีต สส.เชียงใหม่ พรรคเพื่อไทย ที่เป็นสมาชิกพรรคก้าวไกลขณะนั้น ก็ยืนยันว่า “ทัศนีย์” จะทำงานร่วมกับพรรคต่อไปทั้งระดับชาติและท้องถิ่น
ขณะที่ “ทัศนีย์” เคยย้ำว่า แม้จะไม่ได้อยู่ร่วมกับทีมของ “พันธุ์อาจ” แต่ก็สามารถให้คำปรึกษาได้ และยืนยันว่า “บุญเลิศ” อดีตนายก อบจ.เชียงใหม่ จะไม่ส่งตนและ “ทัศนัย” ลงแข่งกับพรรคประชาชน
ขณะเดียวกันก่อนหน้ามีกระแสข่าวทำนองว่า “พิชัย” อาจจะลงในนามอิสระ ในทางลับต่างฝ่ายต่างรู้กันว่าหากลงอิสระ ก็เหมือนลงในนาม “พรรคเพื่อไทย” เพราะ “คนชินวัตร” ก็ยังต้องออกแรงดันหนุน “พิชัย” ให้รักษาเก้าอี้ไว้ครองเป็นสมัยที่2
อย่างไรก็ตาม ก่อน “พิชัย” จะลาออกนั้น “สรวงศ์ เทียนทอง” เลขาธิการพรรคเพื่อไทย ก็มีหนังสือตอบกลับ “พิชัย” ลงวันที่ 25 พ.ย. 2567 ยินยอมให้ “พิชัย” ใช้ชื่อ “พรรคเพื่อไทย” ในการหาเสียงเลือกตั้ง นายก อบจ.เชียงใหม่ เท่ากับว่า “พิชัย” จะใช้ยี่ห้อ "พรรคเพื่อไทย" ลงสมัครรับเลือกตั้งเพื่อป้องกันแชมป์
ย้อนไปศึกเลือกตั้งใหญ่เมื่อ 14 พ.ค. 2566 “พรรคเพื่อไทย” บอบช้ำหนักพ่ายต่ออิทธิพลพลังกระแส “สีส้ม” เห็นได้จากคะแนน สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ได้ที่1 กวาดไป 469,436 คะแนน ส่วน “พรรคเพื่อไทย” สูญเสียแชมป์เชียงใหม่ยกจังหวัด ได้คะแนนปาร์ตี้ลิสต์มา 358,286 คะแนน
ขณะที่ สส.เขต 10 เขต “พรรคก้าวไกล” กวาดเรียบ 7 เขต ทั้งในตัวเมืองและรอบนอก แบ่งให้ “พรรคเพื่อไทย”เพียง 2 เขต คือ จุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ เขต 5 อ.กัลยาณิวัฒนา อ.สะเมิง อำเภอแม่แตง และอำเภอแม่ริม (ยกเว้น ต.เหมืองแก้ว ต.แม่สา และ ต.ดอนแก้ว) และ “ศรีโสภา โกฏคำลือ” เขต 10 อ.อมก๋อย อ.ดอยเต่า อ.ฮอด และ อ.แม่แจ่ม (ยกเว้น ต.แม่นาจร ต.แม่ศึก และต.ช่างเคิ่ง)
อีก 1 เขตเป็นของ ซุ้ม ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า ซึ่งล่าสุดเพิ่งถูกพรรคพลังประชารัฐขับพ้นพรรค คือ “นเรศ ธำรงค์ทิพยคุณ” จากพรรคพลังประชารัฐ ในเขต 9 อ.ดอยหล่อ อ.จอมทอง อ.แม่วาง และ อ.แม่แจ่ม (เฉพาะ ต.แม่นาจร ต.แม่ศึก และต.ช่างเคิ่ง)
“ตระกูลบูรณุปกรณ์” ได้รับยืนยันภายในว่า “บุญเลิศ” จะเว้นวรรคไม่ลงชิงนายก อบจ. เท่ากับเป็นการเปิดทางให้ “พรรคประชาชน” สู้กับ “พรรคเพื่อไทย” เต็มที่
“พิชัย” ยังคงเป็นตัวแทนจาก เจ๊แดง เยาวภา วงศ์สวัสดิ์ ลงรักษาฐานที่มั่น จ.เชียงใหม่ ถ้าหากยังสามารถเอาชนะได้อีกสมัยก็จะเท่ากับเป็นการเรียกกระแสศรัทธากลับคืนมาให้กับพรรคเพื่อไทยได้อยู่บ้าง ต่อเนื่องจากที่ จ.อุดรธานี พรรคเพื่อไทย เอาชนะถล่มทลายล่าสุด ด้วยบารมี “พ่อใหญ่ทักษิณ”
แน่นอนว่า “ทักษิณ”มีคิวจะลงพื้นที่ช่วย “พิชัย” ในฐานะผู้ช่วยหาเสียง ประเดิมตั้งแต่วันสมัครรับเลือกตั้งวันแรก 23 ธ.ค. 2567 เพื่อยับยั้งไม่ให้พลังกระแสของ “สีส้ม” ยึดครองเชียงใหม่ผ่านเวทีท้องถิ่น เหมือนการเลือกตั้งระดับชาติ
โดยอดีตนายกฯ มีคิวลงพื้นที่ จ.เชียงใหม่ ระหว่างวันที่ 23-24 ธ.ค.นี้ โดยช่วงบ่ายวันที่ 23 ธ.ค. 2567 ขึ้นเวทีปราศรัยที่ศูนย์ประชุมและแสดงสินค้านานาชาติฯ กับประชาชนอำเภอเมือง ในเขตนอกเขตเทศบาล 25 อำเภอ
ช่วงเช้าวันที่ 24 ธันวาคม จะพบกับสมาคมหอการค้า ผู้ประกอบการท่องเที่ยวและโรงแรม ที่โรงแรมสมายล์ ล้านนา ก่อนที่ช่วงสายจะขึ้นเวทีปราศรัย ที่ตลาดภูสุวรรณ อ.สันป่าตอง ส่วนช่วงบ่ายจะขึ้นเวทีปราศรัย ที่หอประชุมมหาวิทยาลัยแม่โจ้ เพื่อพบกับประชาชน ใน อ.สันทราย อ.แม่ริม อ.พร้าว อ.สะเมิง อ.แม่แตง และ อ.เชียงดาว ก่อนที่ช่วงเย็นจะขึ้นเวทีปราศรัยอีกครั้งบริเวณลานหน้าหมู่บ้านสมหวัง เพื่อพบกับประชาชนในพื้นที่ อ.สันกำแพง อ.ดอยสะเด็ด อ.แม่ออน และ อ.สารภี
ส่วน “พรรคประชาชน” จะมีพันธมิตรบ้านใหญ่อย่าง “บูรณุปกรณ์” อยู่ฉากหลัง เท่ากับ “ค่ายสีส้ม” มีฐานที่มั่นอาศัยพลัง “กระแส” ของ สส. 7 เขต และ “พลังบ้านใหญ่”ที่มีคนการเมืองท้องถิ่น รวมพลังกันหนุนแต้มให้ “พรรคประชาชน”คว้าเก้าอี้ นายก อบจ.เป็นจังหวัดแรกด้วยอีกทาง
ไม่ว่าจะ “ค่ายแดง” หรือ “ค่ายส้ม” จะได้เก้าอี้ นายก อบจ.เชียงใหม่ รอบนี้ไป ผลคะแนนที่ออกมาย่อมมีผลถึงการทำนายอนาคตเลือกตั้งใหญ่ที่จะเกิดขึ้นด้วยหลังจากนั้นด้วย
ส่วน“ชินวัตร”จะดับหรือยังผงาดใน จ.เชียงใหม่ ศึกเลือกตั้งท้องถิ่นครั้งนี้เดี๋ยวรู้ผลกัน