ฟื้น ‘อำนาจเรียก’ กมธ. ติดดาบ ‘คู่แค้น’ เขย่า ‘รัฐบาล’

ฟื้น ‘อำนาจเรียก’ กมธ. ติดดาบ ‘คู่แค้น’ เขย่า ‘รัฐบาล’

สภาฯ เห็นชอบร่างกม.อำนาจเรียกของ กมธ. แล้ว และส่งต่อไปยังวุฒิสภา ต้องจับตาการเพิ่มออฟชั่นในกฎหมายอย่างเข้ม เพื่อหวังผลตรวจสอบฝ่ายบริหาร อีกนัยคือให้ คู่แค้น มีช่องเขย่าเก้าอี้ผู้มีอำนาจ

KEY

POINTS

Key Point :

  • มติสภาฯ คืนดาบให้ "กรรมาธิการ" มีอำนาจเรียก "บุคคล-เจ้าหน้าที่รัฐ" เข้าชี้แจง ส่งเอกสารให้ตรวจสอบ
  • ฉากต่อไปที่ต้องจับตา คือ การกลั่นกรองของ "วุฒิสภา" ที่จะเพิ่มออฟชั่นอะไร ให้ร่างกฎหมายนี้ เป็น "ดาบอาญาสิทธิ์" บังคับใช้ได้จริง
  • ในชั้นการพิจารณาของสภาฯ มีการท้วงติงว่า ร่างกฎหมายนี้ อาจเป็นแค่เสือกระดาษ เพราะสุดท้ายอยู่กับ "ความร่วมมือ"
  • แม้บทบัญญัติจะเขียนเนื้อหาให้ "นายกฯ-รัฐมนตรี" ร่วมรับผิดชอบ ทว่าบทรับผิดนั้น ยังมีไม่ชัดเจน
  • ส่วน "เจ้าหน้าที่รัฐ" ทั้งส่วนกลาง และส่วนท้องถิ่น  หากไม่ให้ความร่วมมือ มีโทษขั้นสูงคือ "ผิดวินัย" ที่มีผลต่อตำแหน่งหน้าที่
  • อีกนัยของร่างพ.ร.บ.อำนาจเรียกนี้ คือ การเปิดช่องให้ "ฝ่ายผู้มีอำนาจ" ถูกตรวจสอบ และ เขย่าเก้าอี้ จากฝ่ายคู่แค้นในสภาฯ

สภาผู้แทนราษฎร ลงมติเห็นชอบกับ “ร่างพระราชบัญญัติอำนาจเรียกของคณะกรรมาธิการของสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภา พ.ศ…” ด้วยมติ เห็นชอบ 398 เสียง ไม่เห็นด้วย 3 เสียง

ถือเป็นการ “คืนดาบ” ให้อำนาจแก่ กรรมาธิการสามัญ กรรมาธิการวิสามัญของสภาฯ และวุฒิสภา รวมถึงกรรมาธิการที่รัฐสภาตั้งขึ้น มีอาญาสิทธิ์ เรียก “บุคคล” ฐานะเจ้าหน้าที่รัฐ รวมถึงเรียกเอกสารให้สอบหาข้อเท็จจริงหรือประเด็นที่ศึกษาอยู่

จากเดิมที่อำนาจนี้ ถูก “ริบ” ไปตามคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ที่ 17/2563 ซึ่งชี้ว่า ตามบทบัญญัติของ พ.ร.บ.คำสั่งเรียกของกรรมาธิการฯ พ.ศ.2554 นั้นไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ

สำหรับเนื้อหาสาระที่ผ่านความเห็นชอบจาก “สภาฯ” ไปนั้น ได้ขยายขอบเขต “บุคคล” ที่ อาจถูกเรียกสอบ หรือเรียกเอกสารตรวจสอบใน “กรรมาธิการ” ครอบคลุมถึง “เจ้าหน้าที่ของรัฐ” ที่รวมถึง “ส่วนท้องถิ่น” ตั้งแต่ระดับ ผู้บริหาร ลงไปถึง ผู้ช่วยผู้บริหาร สมาชิกสภาท้องถิ่น และ “บุคคล” ภายนอกสภาฯ ที่มีตำแหน่งเป็น “กรรมการ อนุกรรมการ บุคคล หรือคณะบุคคลที่กฎหมายกำหนดให้ใช้อำนาจทางปกครอง” ด้วย

ฟื้น ‘อำนาจเรียก’ กมธ. ติดดาบ ‘คู่แค้น’ เขย่า ‘รัฐบาล’

รวมทั้งกำหนดบทความรับผิดชอบ รวมถึงการรับผิด ของ “นายกฯ” หรือ “รัฐมนตรี” ที่มีหน้าที่กำกับบุคคลตามหน่วยงานที่ถูก “เรียกมาชี้แจง” ต้อง “สั่งการ” ให้บุคคลนั้น ต้องมาให้ข้อเท็จจริงต่อกรรมาธิการ รวมถึง ส่งเอกสาร หรือแสดงความเห็นต่อกรรมาธิการ ตาม คำสั่งเรียกนั้น

กรณีที่นายกฯ หรือรัฐมนตรี ไม่สั่งการให้ เจ้าหน้าที่ของรัฐในสังกัด มาแถลงข้อเท็จจริงหรือแสดงความเห็นตามหนังสือเรียก นายกฯ หรือ รัฐมนตรี ต้องมาแถลง หรือชี้แจงเหตุผลต่อที่ประชุมสภาฯ วุฒิสภา หรือรัฐสภา ภายใน 15 วัน ในกรณีที่อยู่ในสมัยประชุม แต่หากอยู่นอกสมัยประชุม ให้ส่งคำชี้แจงเป็นลายลักษณ์อักษรต่อประธานสภาฯ ภายใน 15 วัน

ทว่า ในบทบังคับของ “นายกฯ” หรือ “รัฐมนตรี” นั้นกลับไม่พบ “บทลงโทษ” ที่เสมือนเป็นบทบังคับให้ต้องปฏิบัติตามโดยละเว้นไม่ได้ แม้ในชั้นเสนอร่างกฎหมาย จะเขียนให้ “เอาผิดทางจริยธรรม” แต่กลับพบว่าถูกตัดออกในชั้นกรรมาธิการฯ ของสภาฯ

ฟื้น ‘อำนาจเรียก’ กมธ. ติดดาบ ‘คู่แค้น’ เขย่า ‘รัฐบาล’

ต่างจาก “เจ้าหน้าที่รัฐ” ที่ถูก เรียกมาให้ข้อเท็จจริง หรือส่งเอกสาร ที่ร่างพ.ร.บ.อำนาจเรียกฯ เขียนบทกำหนดโทษ ให้ผิดในระดับ “วินัย” ฐานไม่รักษาประโยชน์ทางราชการ ที่มีผลต่อตำแหน่งหน้าที่ การเลื่อนขั้น-เลื่อนตำแหน่ง หากไม่มาชี้แจงต่อกรรมาธิการโดยไม่มีเหตุอันสมควร

พร้อมพ่วงบทกำกับ “ผู้บังคับบัญชา หรือผู้ที่มีอำนาจแต่งตั้งถอดถอน” ด้วยว่า หากไม่พิจารณาโทษวินัยเจ้าหน้าที่รัฐ คนที่ กรรมาธิการชี้เป้า ให้ถือว่า “จงใจปฏิบัติหน้าที่ขัดต่อกฎหมายหรือทำผิดวินัยตามกฎหมาย ระเบียบและข้อบังคับว่าด้วยการบริหารงานบุคคล”

ทั้งนี้ ในบทบัญญัติที่ผ่านสภาฯ ขั้นตอนต่อไปคือ ต้องส่งให้ “วุฒิสภา” ฐานะสภากลั่นกรอง พิจารณาบทบัญญัติอีกครั้ง ซึ่งต้องติดตามอีกครั้งว่า สว.จะเพิ่มออฟชั่นใดๆ ให้กับอำนาจเรียกของกรรมาธิการหรือไม่

ในการอภิปรายของสภาฯนั้น สส.ยังมีข้อทักท้วงถึงการ “คืนดาบ” ให้ เป็นเพียง “มีดปอกผลไม้” เท่านั้น หาใช่ดาบอาญาสิทธิ์ หรือกระบองของยักษ์

นอกจากนั้นแล้ว จะมีเพิ่มบทกำกับการทำหน้าที่ของกรรมาธิการที่ใช้อำนาจ-หน้าที่ระดับเข้มข้นหรือไม่ เพื่อไม่ให้ ใช้ “กระบอง” ที่มีไปแสวงหาประโยชน์มิชอบ

เพราะในการอภิปรายของ สส. ในสภาฯ มีการยอมรับว่า บทบาทของกรรมาธิการที่เรียกหน่วยงานตรวจสอบ แต่กลับเรียกเจ้าหน้าที่รัฐ ไป“ขูดรีด”

ฟื้น ‘อำนาจเรียก’ กมธ. ติดดาบ ‘คู่แค้น’ เขย่า ‘รัฐบาล’

แม้ในร่างพ.ร.บ. ที่ผ่านสภาฯ จะเขียนบทกำกับ “กรรมาธิการ” ไว้ว่า หากละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายกับผู้ใด หรือปฏิบัติหน้าที่ทุจริต ให้ถือว่าฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานจริยธรรม แต่หาได้มีหลักประกันว่ากรรมาธิการจะใช้หน้าที่และอำนาจนั้น เพื่อประโยชน์ของประชาชนอย่างแท้จริง

เพราะที่ผ่านมาแม้จะมีกฎหมาย และกติกาจริยธรรมกำกับการทำหน้าที่ แต่กลับพบว่า คนที่ได้ตำแหน่งกรรมาธิการใช้หน้าที่ไปแสวงหาประโยชน์ จนถูกโจทย์ขานว่าเป็น “นักรีดไถ” ทำให้ภาพพจน์ของ “สภาผู้แทนราษฎร-วุฒิสภา” ถูกมองในแง่ลบ

นอกเหนือจากนี้ ที่ต้องจับตาให้ดี ในกรณีที่ “พรรคภูมิใจไทย” ยังเป็นพรรคร่วมรัฐบาลที่มีบทบาทสกัด “นโยบายการเมือง” ของ “พรรคเพื่อไทย” และยังเป็นพรรคการเมืองที่ทักษิณ ชินวัตร “นายใหญ่” ไม่ไว้วางใจ 

อาจใช้กลไกของ “วุฒิสภา”เติมเนื้อหาขั้นสุด เพื่อ “ไล่ล่า-เขย่าเก้าอี้” ผู้มีอำนาจทางการเมือง เพียงแค่ “ไม่สั่งการ-ไม่กำกับ” ผู้ใต้บังคับบัญชา ให้มาชี้แจงต่อกรรมาธิการ หรือส่งเอกสารมาให้ตรวจสอบ

และในเกมนี้ “ฝ่ายค้าน” ก็ได้ประโยชน์ ที่สามารถตรวจสอบ “เจ้าหน้าที่รัฐ” ที่ลามไปถึง “ผู้มีอำนาจในรัฐบาล”

ดังนั้น ในเกมของ “การตรากฎหมาย” ที่อีกนัยคือ ช่องทางที่สามารถใช้เป็นเครื่องมือห้ำหั่นทางการเมือง ไม่ได้จบแค่ที่ “เสียงข้างมาก​“ ตามที่ปรากฏในมติสภาฯ เท่านั้น.