"อีสท์ วอเตอร์" แจงส่งมอบทรัพย์สินต้องทำถูกกฎหมาย ไม่กระทบผู้ใช้น้ำ
อีสท์วอเตอร์ แจงปมส่งมอบท่อส่งน้ำภาคตะวันออก ระบุต้องใช้เวลาแก้ไขปัญหาการใช้พื้นที่ทับซ้อน ระบบท่อส่งน้ำบริษัทฯ บางส่วนอยู่บนที่ดินราชพัสดุ
นายเชิดชาย ปิติวัชรากุล กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท จัดการและพัฒนาทรัพยากรน้ำภาคตะวันออก จำกัด (มหาชน) หรือ อีสท์ วอเตอร์ กล่าวว่า เมื่อกรมธนารักษ์ประสงค์ที่จะตัดแยกระบบท่อส่งน้ำของกระทรวงการคลัง และของบริษัทฯ เพื่อแยกดำเนินการและบริหารงานออกจากกัน บริษัทฯ ในฐานะที่เป็นผู้บริหารจัดการน้ำในพื้นที่ภาคตะวันออกมากว่า 30 ปี จึงมองเห็นถึงปัญหาที่จะเกิดขึ้นตามมาได้อย่างชัดเจนว่าผู้ใช้น้ำจะได้รับผลกระทบอย่างแน่นอน
เพราะจะทำให้ประสิทธิภาพการส่งน้ำและผันน้ำลดลงไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป จำเป็นต้องใช้ระยะเวลาในการแก้ไขและปรับปรุง และผลกระทบต่อผู้ใช้น้ำนี้ ก็มิได้มีแค่เพียงผู้ใช้น้ำตามแนวเส้นทางท่อส่งน้ำของกระทรวงการคลังเท่านั้น แต่ยังมีผู้ใช้น้ำตามแนวเส้นทางท่อส่งน้ำของบริษัทฯ ด้วยเช่นกัน
สำหรับเหตุผลที่การกำหนดแนวทางขั้นตอนการส่งมอบ-รับมอบทรัพย์สิน ต้องดำเนินการแก้ไขปัญหาการใช้พื้นที่ทับซ้อนด้วย ซึ่งบริษัทฯ จัดตั้งขึ้นตามมติคณะรัฐมนตรี และตลอดระยะเวลากว่า 30 ปีที่ผ่านมา บริษัทฯ ได้ลงทุนก่อสร้างท่อส่งน้ำของตนเองในพื้นที่ภาคตะวันออกเป็นการเพิ่มเติมและมีการเชื่อมต่อกับท่อส่งน้ำของกระทรวงการคลัง เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการสูบส่งและจ่ายน้ำ รวมทั้งการผันน้ำจากแหล่งน้ำต่างๆ ของระบบท่อส่งน้ำเพิ่มเติม
ซึ่งการก่อสร้างระบบท่อส่งน้ำของบริษัทฯ นั้น บางส่วนมีการใช้พื้นที่ราชพัสดุ เมื่อต้องมีการตัดแยกระบบท่อส่งน้ำออกจากกันเป็น 2 ส่วน จึงทำให้ยังคงมีทรัพย์สินของบริษัทฯ บางส่วนอยู่ในพื้นที่ราชพัสดุดังกล่าว ซึ่งเป็นกรณีที่ทั้งบริษัทฯ และกรมธนารักษ์จะต้องร่วมกันแก้ไขปัญหาการใช้พื้นที่ทับซ้อนดังกล่าว เพื่อให้การจัดทำบริการสาธารณะของบริษัทฯ ด้านการบริหารจัดการท่อส่งน้ำในภาคตะวันออกสามารถดำเนินการอย่างต่อเนื่องได้ต่อไป
เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาอุปสรรคและผลกระทบต่อผู้ใช้น้ำ และเป็นการดำเนินการที่สอดคล้องกับมติของคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 6 สิงหาคม 2539 ที่กำหนดให้หน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้อง ซึ่งรวมถึงกระทรวงการคลัง และกรมธนารักษ์ ให้ความร่วมมือและอำนวยความสะดวกแก่บริษัทฯ ในการขอรับการอนุมัติและการทำสัญญาต่างๆ ที่จำเป็นในการดำเนินกิจการของบริษัทฯ ด้วย
อย่างไรก็ดี บริษัทฯ ได้พิจารณาแล้วพบว่ามีทรัพย์สินโครงการท่อส่งน้ำทั้งสองที่บริษัทฯ ได้รับมอบจากกรมธนารักษ์เมื่อปี 2540 และปี 2541 ซึ่งมิได้ใช้งานสามารถส่งคืนในกรณีที่กรมธนารักษ์มีความประสงค์ให้ส่งมอบคืนบางส่วนได้ต่อไป
ส่วนทรัพย์สินอื่นของโครงการท่อส่งน้ำทั้งสองนั้น บริษัทฯ ยินดีให้ความร่วมมือกับกรมธนารักษ์ในการกำหนดขั้นตอนแนวทางการส่งมอบ-รับมอบทรัพย์สิน โดยมีหลักการและวัตถุประสงค์ไม่สร้างปัญหาอุปสรรคและไม่เกิดผลกระทบต่อผู้ใช้น้ำ ดังที่คณะกรรมการที่ราชพัสดุได้มีมติให้กรมธนารักษ์ดำเนินการ และเป็นไปตามหลักกฎหมายในเรื่องการจัดทำบริการสาธารณะที่ต้องมีความต่อเนื่องต่อไป
อนึ่ง ปัจจุบันบริษัทฯ ได้ใช้สิทธิตามกฎหมายยื่นฟ้องคดีต่อศาลปกครอง เพื่อขอให้ศาลปกครองพิพากษาเพิกถอนคำสั่งกรมธนารักษ์แจ้งให้บริษัทฯ ส่งมอบทรัพย์สินโครงการท่อส่งน้ำหนองปลาไหล-หนองค้อ และโครงการท่อส่งน้ำหนองค้อ-แหลมฉบัง (ระยะที่ 2) ไว้แล้ว และบริษัทฯ ขอสงวนสิทธิใดๆ ตามกฎหมายในการเป็นผู้มีสิทธิใช้และบริหารจัดการระบบท่อส่งน้ำสายหลักในภาคตะวันออกตามนิติสัมพันธ์ระหว่างบริษัทฯ กับกระทรวงการคลัง และกรมธนารักษ์
รวมทั้งสิทธิของบริษัทฯ ในการดำเนินคดีต่างๆ ในศาลปกครองกับคณะกรรมการคัดเลือกเอกชน กรมธนารักษ์ และคณะกรรมการที่ราชพัสดุ ต่อไปจนกว่าคดีจะถึงที่สุด รวมทั้งสิทธิประการอื่นใดตามกฎหมาย ตลอดจนสิทธิในการเรียกร้องค่าเสียหายทุกประการที่เกิดขึ้นหรือน่าจะเกิดขึ้นต่อไปด้วย นายเชิดชายกล่าวทิ้งท้าย