เวิลด์แบงก์ชี้ศก.ชะลอตัวยืดเยื้อเสี่ยงกระทบประเทศกำลังพัฒนาอย่างหนัก

เวิลด์แบงก์ชี้ศก.ชะลอตัวยืดเยื้อเสี่ยงกระทบประเทศกำลังพัฒนาอย่างหนัก

เวิลด์แบงก์รายงานแนวโน้มเศรษฐกิจโลกฉบับล่าสุดในเดือนนี้ว่า เศรษฐกิจโลกชะลอการเติบโตอย่างมากท่ามกลางปัญหาเงินเฟ้อสูง อัตราดอกเบี้ยที่เพิ่มขึ้น การลงทุนที่ลดลง และภาวะชะงักงันที่เกิดจากสงครามในยูเครน

เมื่อพิจารณาถึงภาวะเศรษฐกิจที่เปราะบางแล้ว หากเกิดสถานการณ์ย่ำแย่ใหม่ ๆ เช่น เงินเฟ้อที่สูงกว่าคาดการณ์ การขึ้นอัตราดอกเบี้ยแบบฉับพลัน โควิด-19 ระบาดระลอกใหม่ หรือความตึงเครียดทางการเมือง เศรษฐกิจโลกอาจเข้าสู่ภาวะถดถอย โดยอาจเป็นครั้งแรกในรอบกว่า 80 ปีที่เกิดภาวะเศรษฐกิจโลกถดถอย 2 ครั้งในทศวรรษเดียวกัน

ทั้งนี้ ธนาคารโลกคาดการณ์ว่า เศรษฐกิจโลกจะเติบโต 1.7% ในปี 2566 และ 2.7% ในปี 2567 โดยเศรษฐกิจมีแนวโน้มเติบโตชะลอลงอย่างรุนแรงเป็นวงกว้าง โดยธนาคารโลกปรับลดคาดการณ์เศรษฐกิจปี 2566 สำหรับ 95% ของประเทศเศรษฐกิจพัฒนาแล้วและเกือบ 70% ของประเทศตลาดเกิดใหม่และประเทศเศรษฐกิจกำลังพัฒนา

ในช่วง 2 ปีข้างหน้า ธนาคารโลก คาดการณ์ว่า รายได้ต่อหัวในประเทศตลาดเกิดใหม่และประเทศเศรษฐกิจกำลังพัฒนา จะเติบโตเฉลี่ย 2.8% ซึ่งลดลงจากค่าเฉลี่ยปี 2553 ? 2562 ถึง 1%

เศรษฐกิจประเทศพัฒนาแล้วมีแนวโน้มเติบโตชะลอตัวลงจาก 2.5% ในปี 2565 สู่ 0.5% ในปี 2566 โดยตลอดช่วง 2 ทศวรรษที่ผ่านมาแสดงให้เห็นว่า การชะลอตัวในระดับนี้ถือเป็นเค้าลางของภาวะเศรษฐกิจโลกถดถอย

ธนาคารโลกคาดการณ์ว่า เศรษฐกิจสหรัฐมีแนวโน้มเติบโตลดลงแตะ 0.5% ในปีนี้ ซึ่งลดลงจากการเติบโต 1.9% ที่เคยคาดการณ์เอาไว้ก่อนหน้านี้และต่ำสุดนับตั้งแต่ปี 2513 หากไม่นับรวมภาวะถดถอยอย่างเป็นทางการ

ในปี 2566 เศรษฐกิจยูโรโซนมีแนวโน้มขยายตัว 0% ซึ่งลดลงจากการคาดการณ์ก่อนหน้านี้ที่คาดว่าอาจเติบโต 1.9% ขณะที่จีนมีแนวโน้มเติบโต 4.3% ในปีนี้ ซึ่งลดลงจากคาดการณ์ก่อนหน้านี้อยู่ 0.9%

หากไม่นับรวมจีน เศรษฐกิจประเทศตลาดเกิดใหม่และประเทศกำลังพัฒนามีแนวโน้มเติบโตชะลอตัวลงจาก 3.8% ในปี 2565 สู่ 2.7% ในปี 2566 ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงภาวะอุปสงค์จากต่างประเทศที่ทรุดตัวลงอย่างรุนแรง ควบคู่ไปกับปัญหาเงินเฟ้อสูง เงินอ่อนค่า ภาวะการเงินที่ตึงตัวขึ้น และอุปสรรคอื่น ๆ ภายในประเทศ

ภายในปี 2567 ระดับผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) ในประเทศตลาดเกิดใหม่และประเทศกำลังพัฒนาจะต่ำกว่าระดับที่เคยคาดการณ์เอาไว้ก่อนช่วงโควิด-19 ระบาดประมาณ 6% ขณะเดียวกัน แม้เงินเฟ้อทั่วโลกมีแนวโน้มชะลอตัวลง แต่จะยังอยู่เหนือระดับก่อนเกิดโรคระบาด เมื่อพิจารณาเป็นรายภูมิภาค ธนาคารโลกคาดการณ์ว่า

เศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก จะเติบโต 4.3% ในปี 2566 และเติบโตขึ้น 4.9% ในปี 2567

เศรษฐกิจยุโรปและเอเชียกลาง มีแนวโน้มเติบโตชะลอตัวสู่ 0.1% ในปี 2566 ก่อนเพิ่มขึ้นสู่ 2.8% ในปี 2567

เศรษฐกิจลาตินอเมริกาและแคริบเบียน มีแนวโน้มเติบโตชะลอตัวสู่ 1.3% ในปี 2566 ก่อนฟื้นตัวสู่ 2.4% ในปี 2567

เศรษฐกิจตะวันออกกลางและแอฟริกาเหนือ มีแนวโน้มเติบโตชะลอตัวสู่ 3.5% ในปี 2566 และ 2.7% ในปี 2567

เศรษฐกิจเอเชียใต้ มีแนวโน้มเติบโตชะลอตัวสู่ 5.5% ในปี 2566 ก่อนปรับขึ้นสู่ 5.8% ในปี 2567

ซับซาฮาราแอฟริกา มีแนวโน้มเติบโตที่ 3.6% ในปี 2566 และเพิ่มขึ้นสู่ 3.9% ในปี 2567