ย้อนรอย ‘แอร์ฟอร์ซวัน’ เมืองไทย ถึง ‘เครื่องบินVIP’ ของ ‘นายกรัฐมนตรี’
ภารกิจนายกรัฐมนตรีมีมีทั้งภายใน และต่างประเทศ บ่อยครั้งมีภารกิจที่จะต้องเดินทางไปตรวจราชการ ติดตาม สั่งการโครงการต่างๆ บางครั้งต้องไปเข้าร่วมประชุม การหารือสำคัญตามคำเชิญของรัฐบาลประเทศต่างๆ หรือองค์กรระหว่างประเทศที่ต้องเดินทางโดยเครื่องบินเป็นส่วนใหญ่
ทั้งนี้เพื่อตอบสนองต่อภารกิจและความจำเป็นของนายกรัฐมนตรี คณะรัฐมนตรี รวมทั้งบุคคลสำคัญในการเดินทางโดยเครื่องบินสำนักนายกรัฐมนตรี หรือสำนักบริหารงานของประธานาธิบดีจึงมีการจัด “ซื้อเครื่องบิน” ไว้สำหรับการใช้งานของผู้นำ และบุคคลสำคัญ เช่น สหรัฐฯจะมีเครื่องบิน “แอร์ฟอร์ซวัน” หรือโบอิ้ง VC-25 ที่เป็นทั้งเครื่องบิน และศูนย์บัญชาการลอยฟ้าของประธานาธิบดีสหรัฐฯ
ขณะที่ผู้นำของจีนใช้เครื่องบินพิเศษรุ่น Boeing 747-400 ส่วนผู้นำอังกฤษใช้เครื่องบิน Airbus A330 ที่มีการตกแต่งภายใน และติดตั้งอุปกรณ์การสื่อสารที่จำเป็นในการทำงาน และสั่งการของผู้นำสำหรับการเดินทาง
ในส่วนของประเทศไทยภารกิจการจัดหาเครื่องบินเพื่อรองรับภารกิจของผู้นำและบุคคลสำคัญ ส่วนหนึ่งเป็นหน้าที่ของสำนักนายกรัฐมนตรี (สลน.) โดยที่ผ่านมาได้มีการจัดสรรงบประมาณแบบผูกพันข้ามปีงบประมาณ เพื่อจัดซื้อ “เครื่องบิน” โดยมอบหมายให้กองทัพอากาศเป็นหน่วยงานดำเนินการ และดูแลเครื่องบินของ สลค.เพื่อให้สามารถดำเนินภารกิจที่เกี่ยวข้อง เช่น ภารกิจการบินรับ-ส่งเสด็จ การสนับสนุนภารกิจพระบรมวงศานุวงศ์ การบินรับ-ส่งบุคคลสำคัญ และภารกิจลำเลียงทางอากาศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งภารกิจให้การสนับสนุนภารกิจของรัฐบาลตามที่ได้รับมอบ หมายอย่างต่อเนื่อง เช่น การช่วยเหลือทางมนุษยธรรมแก่ผู้ประสบภัยทางธรรมชาติ และการอพยพคนไทยในต่างแดน เป็นต้น
แหล่งข่าวจากทำเนียบรัฐบาลเปิดเผยว่าปัจจุบันไม่มีเครื่องบินที่ใช้เป็นเครื่องบินประจำนายกฯ บางครั้งใช้เครื่องบินของการบินไทยในการเดินทางไปต่างประเทศ ซึ่งใช้งบประมาณแต่ละครั้งสูงมาก จึงต้องมีการเตรียมเครื่องบินไว้ใช้งาน ส่วนการใช้เครื่องของกองทัพอากาศ กองทัพอากาศเองก็อาจมีภารกิจเร่งด่วน การที่ สลน.มีเครื่องบินเองถือว่าคล่องตัวต่อการใช้งานตามภารกิจมากกว่า
ที่ผ่านมาเครื่องบินที่นายกรัฐมนตรีไทยใช้มีหลายลำแตกต่างกันไปแต่ละภารกิจ และระยะการเดินทาง โดยเครื่องบินสำหรับบุคคลระดับ VIP ที่สลน.จัดซื้อนั้นจะอยู่ในการดูแลของกองทัพอากาศ (กองบิน 603) โดยปัจจุบันไม่มีเครื่องบินที่นายกรัฐมนตรีใช้เป็นประจำในแบบที่จะเรียกว่า “แอร์ฟอร์ซวัน” แบบ เครื่องบินผู้นำสหรัฐ แต่หากย้อนดูอดีตจะพบว่าเครื่องบินบางลำที่นายกรัฐมนตรีใช้งานจะถูกขนานนามว่า “แอร์ฟอร์ซวันเมืองไทย” เช่น ในสมัยที่อดีตนายก ทักษิณ ชินวัตร ได้มีโครงการจัดซื้อเครื่องบิน "Airbus A319CJ" เพื่อทำเป็นเครื่องบินประจำตำแหน่งนายกฯที่ชื่อ “ไทยคู่ฟ้า” เพื่อจัดเป็นเครื่องวีไอพีรองรับภารกิจของนายกรัฐมนตรี และคณะรัฐมนตรี โดยมีการตกแต่งเครื่องบินให้ครบ 36 ที่นั่งและมีการติดป้ายสิงห์ สัญลักษณ์สำนักนายกรัฐมนตรี ก่อนจะมีการยกเลิกโครงการไป
ส่วนในช่วงปี 2557 สมัยที่ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม มีโครงการจัดซื้อเครื่องบินโดยงบประมาณของสำนักนายกฯ รวม 4 ลำ โดยในครั้งนั้นมีการระบุว่า 1 ลำจะเป็นเครื่องบินสำหรับบุคคลสำคัญ (ไม่เกี่ยวกับเครื่องบินพระราชพาหนะ) ที่คาดว่าจะเป็นเครื่องบินประจำตำแหน่งนายกรัฐมนตรี หรือ ที่เรียกกันว่า "แอร์ฟอร์ซวัน" ได้ แต่โครงการนี้ได้ยกเลิกไปหลังจากที่มีการรัฐประหารในช่วงกลางปี 2557 โดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) โดยการจัดซื้อเครื่องบินของ สลน.ได้มีการปรับเปลี่ยนรายละเอียดใหม่
รายงานข่าวจากทำเนียบรัฐบาลเปิดเผยว่าปัจจุบันเครื่องบินที่ใช้งบประมาณจาก สลน.จัดซื้อที่ให้กองทัพอากาศดูแลอยู่มีหลายรุ่น และประเภท เพื่อรองรับภารกิจการใช้งานที่แตกต่างกัน ได้แก่
1.เครื่องบินลำเลียงแบบ 19 แอร์บัส A340 – 500 เป็นเครื่องบินที่ สลน.อนุมัติงบประมาณจัดซื้อต่อจากการบินไทย ตั้งแต่ปี 2559 โดยขณะนั้นรายงานว่า ที่ประชุมบอร์ดการบินไทยได้อนุมัติขายเครื่องบิน A340-500 ทะเบียน 698 HS-TLC นามพิษณุโลก จำนวน 1 ลำ แบบแพ็คเกจรวมเครื่องยนต์อะไหล่ 1 เครื่องยนต์ (ESN71270) และอุปกรณ์ที่จำเป็นต้องมีเพื่อการใช้งานเครื่องบิน พร้อมพ่นสี ค่าใช้จ่ายในการฝึกอบรมช่าง นักบิน และลูกเรือ ค่าใช้จ่ายในการปรับปรุงที่นั่ง พร้อมระบบที่เกี่ยวข้อง เพื่อนำเครื่องบินกลับมาใช้งานให้กับกองทัพอากาศจำนวนเงิน 1,745.32 ล้านบาท
โดยเครื่องบินลำนี้มีเครื่องยนต์เจ็ตลำเลียง 4 เครื่องยนต์สมารถทำการบินในระยะไกล โดยมีการปฏิบัติภารกิจในการนำนายกรัฐมนตรี และคณะรัฐมนตรีเดินทางไปต่างประเทศหลายครั้ง รวมทั้งการนำนายกรัฐมนตรีไปร่วมประชุม CPO26 ที่เมืองกลาสโกว์ ของสกอตแลนด์ ในเดือน พ.ย.2564 โดยในระหว่างการเดินทางได้เกิดเหตุขัดข้อง น้ำมันรั่ว แม้จะซ่อมเสร็จเรียบร้อย แต่ทางกองทัพอากาศเห็นว่า มาตรฐานทางการบินไม่แนะนำให้นำเครื่องขึ้นบินใช้งาน ดังนั้นต้องเปลี่ยนไปใช้เครื่องบินแอร์บัส 320 ซึ่งมีขนาดเล็กกว่าเดิมแทนในการเดินทางไปยังจุดหมาย
ทั้งนี้เครื่องบินแอร์บัส A340 – 500 ลำนี้ถือว่ามีอายุการใช้งานมาอย่างยาวนาน และเป็นเครื่องมือ 2 ที่ซื้อต่อมาจากการบินไทย ถึงแม้จะมีการบำรุงรักษาอย่างต่อเนื่อง แต่อะไหล่หายากมาก
ประกอบกับตั้งแต่ปี 2555 บริษัท Airbusได้ยกเลิกสายการผลิตเครื่องบินแบบ A340-500 ส่งผลให้การบำรุงรักษาและการซ่อมบำรุงมีมูลค่าสูงขึ้น โดยเครื่องบินลำดังกล่าวกองทัพอากาศใช้ในภารกิจการบิน รับ-ส่ง บุคคลสำคัญทุกระดับ เช่น พระบรมวงศานุวงศ์ องคมนตรี นายกรัฐมนตรี คณะรัฐมนตรี ราชอาคันตุกะ หรือแขกของรัฐบาล ตลอดจนการสนับสนุนภารกิจลำเลียงทางอากาศสำหรับการปฏิบัติการ ทางทหารมิใช่การรบ ได้แก่ การช่วยเหลือทางมนุษยธรรมแก่ผู้ประสบภัยทางธรรมชาติ การอพยพคนไทยในต่างแดน และการปฏิบัติการเพื่อรักษาสันติภาพ
ทั้งนี้มีความเป็นไปได้ว่าการจัดหาเครื่องบินทดแทน เครื่องเดิมทางกองทัพอากาศจะจัดหาเครื่องบินที่มีความใกล้เคียงกับรุ่นเดิม โดยอาจเป็นแอร์บัส A330 หรือ A350 ที่มีความทันสมัยมากขึ้น นักบิน เจ้าหน้าที่ประจำเครื่องและเจ้าหน้าที่ซ่อมบำรุงของกองทัพอากาศมีความชำนาญกับเครื่องบินในตระกูลนี้มากกว่า
2.เครื่องบิน ATR 72-500 ได้รับอนุมัติงบประมาณจัดซื่อตั้งแต่สมัยรัฐบาล พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ โดยจัดซื้อเครื่องบิน รุ่นดังกล่าวจาก บริษัทอาวิลอน เดอ ทรานสปอร์ต ริจินัล ( AVIONS DE TRANSPORT REGIONAL: ATR) ประเทศฝรั่งเศสจำนวน 4 เครื่อง พร้อมอุปกรณ์ตกแต่งภายใน เครื่องมือภาคพื้นอะไหล่ การฝึกอบรมและการสร้างโรงเก็บมาตรฐานจำนวน 2 โรง วงเงินงบประมาณ 3,650 ล้านบาท
เครื่องบินรุ่นนี้สามารถทำ ความเร็วในการบินเดินทาง 490 กิโลเมตรต่อชั่วโมง เพดานบินสูงสุด : 7620 เมตร / 25,000 ฟุต บินไกล : 1,668 กิโลเมตร (900 naut miles) ระวางบรรทุกสินค้า : 7,050 กิโลกรัม
3.เครื่องบินลำเลียงแบบ 18 (Sukhoi Superjet 100LR หรือซูคอย ซุเปอร์เจ็ท 100 แอลอาร์) บรรจุเข้าประจำการในปี 2559 อนุมัติรับ-ส่งบุคคลสำคัญ จำนวน 2 เครื่อง โดยใช้งบประมาณจากสำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ในลักษณะการใช้งบประมาณผูกพัน 3 ปี ระหว่างปี 2557-2559
ถือเป็นเครื่องบินที่มีพิสัยบินในระยะปานกลาง สามารถทำการบินได้ไกลถึง 2,000 ไมล์ทะเล ต่อการเติมเชื้อเพลิง 1 ครั้ง
ปฏิบัติการบินได้อย่างปลอดภัยเป็นไปตามมาตรฐาน สามารถบรรทุกผู้โดยสารและสัมภาระได้ตามความต้องการที่เหมาะสม ในการจัดซื้อเครื่องบินมาพร้อมกับอุปกรณ์สนับสนุนภาคพื้น อะไหล่ และการฝึกอบรมจากบริษัท Joint Stock Company “Sukhoi Civil Aircraft” ของประเทศรัสเซีย บรรจุเข้าประจำการ ณ ฝูงบิน 603 ตั้งแต่วันที่ 31 ส.ค.2559 เป็นต้นมา
4.เครื่องบินรุ่น Boeing 737- 800 ปัจจุบันเป็นเครื่องบินราชพาหนะสำรอง โดยเครื่องบินรุ่นนี้ใช้ในการภารกิจอื่นๆของรัฐบาลด้วยในบางครั้ง โดยเครื่องบินลำนี้บรรจุในกองทัพอากาศตั้งแต่เดือน เม.ย.2555 หรือกว่า 10 ปีก่อน