นายกฯประชุมบอร์ด คนร.สั่ง 6 รัฐวิสาหกิจขาดทุนเร่งแก้ปัญหา
นายกฯ ประชุมบอร์ด คนร. มอบนโยบายให้รัฐวิสาหกิจมุ่งพัฒนา แก้ไขปัญหาองค์กร โดยเฉพาะ 6 แห่งที่ยังขาดทุน เพื่อความมั่นคง ยั่งยืน เป็นประโยชน์ต่อประเทศ กำชับเร่งดำเนินการแก้ไขปัญหาองค์กรให้เป็นไปตามแผน และเห็นผลอย่างเป็นรูปธรรม พร้อมรับทราบแผนพัฒนารัฐวิสาหกิจ 66-70
วันนี้ (26 ม.ค. 66) เวลา 09.00 น. พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (คนร.) ครั้งที่ 1/2566 ณ ตึกภักดีบดินทร์ ทำเนียบรัฐบาล และผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ โดยมี นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม และผู้ที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมการประชุม นายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี สรุปสาระสำคัญดังนี้
นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า การประชุมบอร์ด คนร. วันนี้เพื่อเดินหน้าดำเนินการเกี่ยวกับเรื่องการพัฒนารัฐวิสาหกิจ ที่มีหลายอย่างต้องปรับปรุงแก้ไข ขณะที่หลายอย่างที่ดีอยู่แล้วก็ขอให้ช่วยกันทำให้ดีขึ้นไปเรื่อย ๆ โดยในเรื่องรายงานผลการประเมินผลการดำเนินงานรัฐวิสาหกิจ ประจำปีบัญชี 2564 นายกรัฐมนตรีฝากให้คณะกรรมการประเมินผลได้มีคำแนะนำเพื่อให้คณะกรรมการบริหารทุกหน่วยงานไปพิจารณาปรับเปลี่ยนยุทธศาสตร์ในแต่ละระยะ ให้ทันกับสถานการณ์ภายนอก เพราะหลายอย่างถึงแม้ได้มีการสั่งการไปแล้ว มีการปรับปรุงพัฒนาไปแล้ว แต่ก็ยังไม่ทันกับเหตุการณ์ ไม่ทันเวลา โดยขอกำชับให้คณะกรรมการประเมินผล และบอร์ดบริหารหน่วยงานต่าง ๆ ได้ร่วมมือกันแก้ปัญหาให้เร็วที่สุด ร่วมกันขับเคลื่อนช่วยกันทำให้ดีที่สุด
นายกรัฐมนตรีกล่าวถึงการแก้ไขปัญหารัฐวิสาหกิจ ขอให้รัฐวิสาหกิจได้ดำเนินการตามข้อเสนอแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ให้ลุล่วงโดยเร็ว และให้มีการรายงานความก้าวหน้าในแต่ละเรื่อง โดยในการแก้ไขปัญหาต้องมองว่าวันนี้ทำได้แค่ไหน ปัญหายังอยู่ตรงไหนอีก และจะแก้ไขปัญหานั้นได้อย่างไร จะมีนโยบายใหม่ในการเดินหน้าไปอย่างไรเพื่อตอบสนองเรื่องรายได้ เรื่องการบริหาร และเรื่องความก้าวหน้าของรัฐวิสาหกิจที่ยังมีปัญหาอยู่ เพื่อให้สังคมและประชาชนเกิดความเชื่อมั่น ไว้วางใจในการทำงานและการลงทุนของรัฐวิสาหกิจ พร้อมกับนายกรัฐมนตรีย้ำให้บอร์ด คนร. นำข้อสังเกตและผลสรุปการประชุมวันนี้ไปดำเนินการขับเคลื่อนให้ทุกประเด็นต้องมีการเปลี่ยนแปลง และต้องมีการดำเนินการในลักษณะที่ไม่ใช่แบบเดิม ๆ ให้สามารถนำไปสู่การปฏิบัติที่เป็นรูปธรรม ดำเนินการให้เกิดผลสำเร็จให้ได้ ทั้งนี้ การที่จะพลิกฟื้นองค์กรต่าง ๆ ขึ้นมาให้สำเร็จได้ ต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกฝ่าย ทั้งคณะกรรมการ บอร์ด CEO ผู้บริหารและพนักงาน
“นายกรัฐมนตรีสั่งการให้คณะอนุกรรมการแก้ไขปัญหาฯ บอร์ด คนร. CEO และพนักงาน ร่วมกันปรับปรุงแผนพลิกฟื้นองค์กรให้แล้วเสร็จโดยเร็ว มีการกำหนดเป้าหมายในการขับเคลื่อนและแก้ไขปัญหาองค์กรในระยะสั้น ระยะปานกลาง ระยะยาว ให้ชัดเจน โดยระยะสั้นให้เน้นการดำเนินการที่เห็นผลเป็นรูปธรรมได้ การเพิ่มรายได้ การปรับปรุงภาพลักษณ์ การลดต้นทุน ที่ต้องคำนึงถึงสถานการณ์โลก พิจารณากำหนดมาตรการสร้างแรงจูงใจและลงโทษให้กับรัฐวิสาหกิจแต่ละแห่งด้วย โดยทุกคนต้องช่วยกันทำเพื่อประเทศ” นายอนุชาฯ กล่าว
ทั้งนี้ ที่ประชุม คนร. ได้พิจารณาในเรื่องต่าง ๆ โดยสรุปผลการประชุมที่สำคัญได้ดังนี้
1. ด้วยแผนพัฒนารัฐวิสาหกิจ พ.ศ. 2566-2570 มีผลบังคับใช้แล้ว ส่งผลให้กระทรวงเจ้าสังกัด
และรัฐวิสาหกิจต้องจัดทำแผนวิสาหกิจระยะ 5 ปี และแผนปฏิบัติการประจำปี เพื่อกำหนดทิศทางการดำเนินงานที่สอดคล้องกับแผนพัฒนาดังกล่าว ให้บรรลุวัตถุประสงค์และเป้าหมายของยุทธศาสตร์ชาติต่อไป โดย คนร. ได้กำชับให้มีการติดตามการดำเนินการตามแผนดังกล่าวให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ โดยขอให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ กระทรวงเจ้าสังกัด คณะกรรมการรัฐวิสาหกิจ ฝ่ายบริหารและพนักงานรัฐวิสาหกิจร่วมกันกำหนดเป้าหมายในการพัฒนาและขับเคลื่อน อาทิ การปรับตัวให้เข้ากับสถานการณ์โลกที่เปลี่ยนแปลงไป การเพิ่มรายได้ การปรับปรุงภาพลักษณ์ การลดต้นทุน การลงทุนและพัฒนาที่ให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อม ใช้ประโยชน์ในทรัพย์สินที่มีให้เกิดประโยชน์สูงสุด การร่วมมือกันระหว่างรัฐวิสาหกิจ เป็นต้น เพื่อให้รัฐวิสาหกิจมีความมั่นคง เข้มแข็ง และเป็นประโยชน์ต่อประเทศต่อไป
2. คนร. รับทราบผลการประเมินผลการดำเนินงานรัฐวิสาหกิจ ประจำปีบัญชี 2564 ตามระบบประเมินผลฯ จำนวน 52 แห่ง โดยในภาพรวมรัฐวิสาหกิจมีผลการดำเนินงานและการบริหารจัดการองค์กรดีขึ้น โดย คนร. มีข้อสังเกตให้ผู้ที่เกี่ยวข้องนำปัจจัยต่าง ๆ ไปพิจารณาจัดทำแผนงานและจัดลำดับความสำคัญ รวมถึงกำหนดตัวชี้วัดให้มีความเหมาะสมยิ่งขึ้น อาทิ ผลกระทบจากสถานการณ์ COVID-19 การเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยี การพัฒนาระบบฐานข้อมูล การพัฒนาเศรษฐกิจชีวภาพ BCG Model รวมถึงการร่วมมือกันระหว่างรัฐวิสาหกิจ โดยให้มีการกำกับติดตามการดำเนินงานของรัฐวิสาหกิจอย่างใกล้ชิด เพื่อให้สามารถกำหนดมาตรการสนับสนุน แก้ไข หรือแนวทางการปรับตัวให้ทันต่อสถานการณ์ได้อย่างทันท่วงที และส่งผลให้การดำเนินงานของรัฐวิสาหกิจมีประสิทธิภาพและประสิทธิผลดีขึ้น ซึ่งจะส่งผลต่อการขับเคลื่อนประเทศต่อไป
3. การดำเนินการแก้ไขปัญหาองค์กรของรัฐวิสาหกิจทั้ง 6 แห่ง ได้แก่ การรถไฟแห่งประเทศไทย องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ บริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด (มหาชน) บริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย และธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย มีความคืบหน้าในการดำเนินงานตามลำดับ ซึ่ง คนร. กำชับให้รัฐวิสาหกิจเร่งดำเนินการแก้ไขปัญหาองค์กรให้เป็นไปตามแผนและเห็นผลอย่างเป็นรูปธรรม โดยให้มีการกำหนดเป้าหมาย/มาตรการดำเนินงานในระยะต่าง ๆ ทั้งในระยะสั้น ระยะปานกลาง และระยะยาว
เพื่อให้มีการติดตามและปรับปรุงแก้ไขได้ทันต่อสถานการณ์ รวมถึงเน้นการดำเนินงานที่เป็นประโยชน์กับประชาชนและประเทศชาติ พร้อมทั้งกำชับให้กระทรวงเจ้าสังกัดกำกับดูแลและรายงานความคืบหน้าต่อ คนร. อย่างต่อเนื่อง