คลังฟื้น"เหมืองแร่โปแตชอาเซียน"ชัยภูมิ 6.3 หมื่นล้าน แก้ปุ๋ยแพง

คลังฟื้น"เหมืองแร่โปแตชอาเซียน"ชัยภูมิ 6.3 หมื่นล้าน แก้ปุ๋ยแพง

คลังเสนอฟื้นโครงการ"เหมืองแร่โปแตชอาเซียน" จังหวัดชัยภูมิ วงเงินลงทุนรวม 63,800 ล้านบาท ทดแทนการนําเข้าแม่ปุ๋ยโพแทสเซียมจากต่างประเทศ 7-8 แสนตันต่อปี ช่วยให้เกษตรกรเข้าถึงปุ๋ยโพแทสเซียมราคาถูกลง 20-30%

โครงการ"เหมืองแร่โปแตชอาเซียน" ที่อําเภอบําเหน็จณรงค์ จังหวัดชัยภูมิ ที่ยืดเยื้อมาอย่างยาวนานกว่า 43 ปี เริ่มมีความชัดเจนมากขึ้นเมื่อกระทรวงการคลัง ได้เสนอแนวทางการดําเนินการปรับโครงสร้างผู้ถือหุ้นบริษัท อาเซียนโปแตชชัยภูมิ จํากัด (มหาชน) ให้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีรับทราบ เมื่อวันที่ 24 มกราคม 2566 ที่ผ่านมา

โดยครม.ได้มีมติมอบหมายให้กระทรวงอุตสาหกรรมเป็นหน่วยงานหลักในการพิจารณาความจําเป็นและความเหมาะสม ในการลงทุนในโครงการทําเหมืองแร่โปแตชที่อําเภอบําเหน็จณรงค์ จังหวัดชัยภูมิ วงเงินลงทุนรวม 63,800 ล้านบาท ให้เป็นไปตามข้อตกลงพื้นฐานว่าด้วยโครงการอุตสาหกรรมอาเซียน (Basic Agreement on ASEAN Industrial Projects) (Basic Agreement)

รวมถึงประเด็นเกี่ยวกับสัดส่วนการถือหุ้นของรัฐบาล และแหล่งเงินที่จะนำมาใช้ในการเพิ่มทุนบริษัท อาเซียนโปแตชชัยภูมิ จํากัด (มหาชน) เพื่อเสนอครม.พิจารณาต่อไป

สำหรับโครงการทําเหมืองแร่โปแตชที่อําเภอบําเหน็จณรงค์ จังหวัดชัยภูมิ เริ่มต้นเมื่อปี 2523 โดยประเทศสมาชิกอาเซียน 5 ประเทศ ประกอบด้วย อินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ บรูไน และประเทศไทย ได้ลงนามในข้อตกลงพื้นฐานว่าด้วยโครงการอุตสาหกรรมอาเซียน(Basic Agreement) ภายใต้โครงการอุตสาหกรรมอาเซียน (ASEAN Industrial Projects:AIP) เพื่อกําหนดให้มีโครงการอุตสาหกรรมอาเซียนที่มีวัตถุประสงค์ในการสร้างความร่วมมือเกี่ยวกับการใช้ทรัพยากร ในกลุ่มประเทศอาเซียนให้เกิดประโยชน์สูงสุด

โดยแต่ละประเทศจะต้องดําเนินโครงการอย่างน้อยหนึ่งโครงการ และกําหนดให้ประเทศเจ้าของโครงการต้องร่วมลงทุนไม่น้อยกว่า 50% ของยอดเงินลงทุนทั้งหมด และมีสัดส่วนที่เป็นเงินลงทุนจากรัฐบาลเจ้าของโครงการไม่น้อยกว่า 1 ใน 3 หรือ 20% ของยอดเงินลงทุน และอีก 40% ประเทศสมาชิกอาเซียนจะเป็นผู้ลงทุน 

 

เมื่อ 28 มีนาคม 2532 ไทยเห็นชอบให้กระทรวงอุตสาหกรรม นําโครงการทําเหมืองแร่โปแตชที่อําเภอบําเหน็จณรงค์ จังหวัดชัยภูมิ เข้าสู่การพิจารณาของกลุ่มผู้เชี่ยวชาญ (ASEAN Experts Group) ของคณะกรรมการอาเซียนว่าด้วยอุตสาหกรรมแร่ธาตุและพลังงาน (COIME) โดยกระทรวงอุตสาหกรรมได้เสนอต่อคณะรัฐมนตรีว่า โครงการข้างต้นมีความเหมาะสม ทั้งทางด้านเทคนิค และทางเศรษฐกิจ มีผลตอบแทนทางการลงทุนภายหลังเสียภาษีแล้วในอัตรา 18.34% เหมาะสมที่จะเป็นโครงการอุตสาหกรรมอาเซียนได้

อย่างไรก็ตามโครงการทําเหมืองแร่โปแตชเป็นโครงการขนาดใหญ่ ต้องผลิตปุ๋ยโปแตชอย่างต่ํา 1 ล้านตันต่อปี จึงจะมีความเหมาะสมในเชิงพาณิชย์ จําเป็นต้องหาตลาด ที่แน่นอน การเสนอเป็นโครงการอุตสาหกรรมอาเซียน จะทําให้โครงการมีตลาดอาเซียนรองรับ และจะได้สิทธิพิเศษในการจําหน่ายปุ๋ยโปแตชในประเทศเหล่านี้อีกด้วย

รวมถึงการเสนอโครงการนี้เป็นโครงการ อุตสาหกรรมอาเซียนของประเทศไทยจะเป็นการแบ่งเบาภาระการลงทุนของรัฐบาล เนื่องจากโครงการนี้เป็นโครงการขนาดใหญ่ ต้องใช้เงินลงทุนถึง 306 ล้านเหรียญสหรัฐ

18 กันยายน 2533 ที่ประชุมครม.ได้เห็นชอบให้จัดตั้งองค์กร ผู้ถือหุ้นของฝ่ายไทยเข้าร่วมทุนจัดตั้งบริษัททําเหมืองแร่โปแตชของอาเซียนตามหลักเกณฑ์ Basic Agreement ภายใต้ชื่อบริษัท อาเซียนโปแตชชัยภูมิ จํากัด (มหาชน) และให้กระทรวงอุตสาหกรรมหารือกับกระทรวงการคลัง จัดหาเงินจํานวน 770,000 เหรียญสหรัฐ เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายสําหรับทุนจดทะเบียนขั้นต้น

คลังฟื้น\"เหมืองแร่โปแตชอาเซียน\"ชัยภูมิ 6.3 หมื่นล้าน แก้ปุ๋ยแพง

 17 มกราคม 2534 กระทรวงอุตสาหกรรมได้ลงนามใน Joint Venture Agreement โดยไทยถือหุ้น 71% อินโดนีเซียและมาเลเซียถือหุ้นประเทศละ 13% บรูไน ฟิลิปปินส์ และสิงคโปร์ถือหุ้นประเทศละ 1% 

ปี 2541-2547 อาเซียนโปแตชชัยภูมิ ได้พัฒนาการทำเหมืองจนถึงชั้นแร่ลึก 180 เมตร จากผิวดิน และประกาศเชิญชวนผู้ร่วมลงทุนและดำเนินการ

 

 

28 คุลาคม 2547 บริษัทได้ยื่นคำขอประทานบัตร ยื่นคำขอประทานบัตรในการดำเนินโครงการฯ ในเขตท้องที่ ต.บ้านตาล ต.บ้านเพชร และ ต. ห้วยทะเล อ.บำเหน็จณรงค์ จ.ชัยภูมิ จำนวน 1 แปลง เนื้อที่จำนวน 9,708 ไร่

ต่อมากระทรวงอุตสาหกรรมได้ขอความร่วมมือกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเปิดพื้นที่ ตามมาตรา 6 ทวิ แห่ง พ.ร.บ.แร่ 2510 เพิ่มเติมเพราะโครงการเหมืองแร่โปแตชอาเซียนเดิมได้รับอนุมัติรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) และอนุญาตให้ยื่นคำขอเปิดพื้นที่ตามมาตรา 6 ทวิ จำนวน 2,500 ไร่ เมื่อวันที่ 19 กันยายน 2548 แต่บริษัทได้ขออุทธรณ์ขยายพื้นที่เป็น 10,000 ไร่ พร้อมส่วนขยายอีก 6,000 ไร่  ซึ่งตามกฎหมายแล้วบริษัทต้องขอมาทั้งหมด 16,000 ไร่

ต่อมาบริษัทได้ทบทวนพื้นที่และทำหนังสือไปยังกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติฯ เพื่อขอเสนอการประกาศเปิดพื้นที่ทั้งหมด 40,000 ไร่ โดยครอบคลุมเป็นพื้นที่ทำเหมืองเดิม และขยายขอบเขตการประกาศให้ควบคุมพื้นผิวดินที่สมบูรณ์ โดยระบุพื้นที่ทำเหมืองใต้ดินจริงแล้ว 10,000 ไร่ นับรวมพื้นที่กองหางแร่จำนวน 6,000 ไร่ ด้วย ซึ่งการทำเหมืองจะมีท่อส่งหางแร่จากจุดที่ทำเหมืองห่างออกไป 7 กิโลเมตร

ดังนั้น เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาอีกภายหลังบริษัทจึงตีกรอบพื้นที่ที่มีการทำเหมือง ท่อส่งหางแร่ และพื้นที่เก็บหางแร่ออกเป็น 4 เหลี่ยม คิดเป็นพื้นที่ครอบคลุมทั้งหมด 40,000 ไร่

6 กุมภาพันธ์ 2558 บริษัทได้รับอนุญาตประทานบัตร โดยบริษัทคาดว่าจะใช้เวลาก่อสร้างโครงการ 3 ปี ภายหลังก่อสร้างเสร็จคาดว่าจะสามารถขุดแร่โปแตซได้ปริมาณ 150,000 ตันต่อปี และในปี 2562 ขุดแร่ได้เต็มการผลิต 1.1 ล้านตันต่อปี 

12 พฤษภาคม 2564 บริษัทฯ ได้มีหนังสือถึงคณะกรรมการบริหารแจ้งว่าบริษัทฯ มีความเดือดร้อนจากการขาดสภาพคล่องทางการเงินอย่างรุนแรง และเพิ่มขึ้นทุกเดือนต่อเนื่อง โดยการเรียกชําระค่าหุ้นเพิ่มทุนก็ไม่ประสบความสําเร็จ จึงมีมติให้เลิกบริษัทฯ ตามขั้นตอนที่กําหนดไว้ในพระราชบัญญัติบริษัทมหาชนจํากัด พ.ศ. 2535 และที่แก้ไขเพิ่มเติม และจะนําเสนอ วาระที่เกี่ยวข้องกับการเลิกบริษัทฯ ต่อที่ประชุมคณะกรรมการและที่ประชุมผู้ถือหุ้น ตามลําดับ 

ปัจจุบันกระทรวงการคลังมีสัดส่วนการถือหุ้นในบริษัท 20% ของทุนจดทะเบียน ที่ออกและชําระแล้วตาม Basic Agreement อย่างไรก็ดี ในการเพิ่มทุนที่ผ่านมา ผู้ถือหุ้นในสัดส่วนของรัฐบาล ต่างประเทศตาม Basic Agreement ไม่ประสงค์ที่จะเพิ่มทุนในบริษัทฯ จึงส่งผลให้สัดส่วนการถือหุ้นของรัฐบาล อินโดนีเซียและประเทศมาเลเซีย ลดลงจาก 13% เป็น 5.96% และรัฐบาลประเทศบรูไน ฟิลิปปินส์ และสิงคโปร์ ลดลงจาก 1% เป็น 0.56% ซึ่งต่างจากสัดส่วน ตาม Basic Agreement และ JV 

ปฏิเสธไม่ได้ว่าการดำเนินโครงการเหมืองแร่โปแตชที่อําเภอบําเหน็จณรงค์ จังหวัดชัยภูมิ ที่ผ่านมามีปัญหาๆมาโดยตลอด ทำให้ผลการดำเนินงานของบริษัท อาเซียนโปแตชชัยภูมิ จํากัด (มหาชน) ขาดสภาพคล่องทางการเงินอย่างรุนแรงในปี 2564 และเพิ่มขึ้นทุกเดือนต่อเนื่อง

ขณะที่การหาเงินมาใช้เพิ่มทุนตั้งแต่ปี 2560 และการหาผู้เข้าร่วมลงทุนในโครงการในสัดส่วนของรัฐบาลไทยยังไม่ประสบความสําเร็จ เนื่องจากผู้ลงทุนที่มีศักยภาพยังไม่พร้อมที่จะยืนยันการเข้าร่วมลงทุนในโครงการบริษัทก็ไม่ประสบความสําเร็จ โดยมีประเด็นสําคัญทั้งในด้านการยืนยันปริมาณสํารองแร่และแผนการทําเหมือง การจัดทํา Bankable Feasibility การสรุปเงื่อนไขสัญญาเงินกู้กับธนาคารพาณิชย์ และการมีนักลงทุน ที่มีประสบการณ์ทางธุรกิจเหมืองแร่โพแทชเข้าร่วมลงทุน

ประกอบกับบริษัทฯ มีหนี้สินระยะยาว สําหรับค่าประทานบัตรกับกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ (กพร.) จํานวนทั้งสิ้น 4,549 ล้านบาท ไม่นับรวมเงินค่าปรับในอัตรา 15% ต่อปี นับแต่วันผิดนัดถึงวันชําระจริง โดยปัจจุบันกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่อยู่ระหว่าง การดําเนินการตามกฎหมายกับบริษัทฯ จนถึงขั้นมีแนวคิดให้ยกเลิกบริษัทในปี 2564 

18 สิงหาคม 2565 บริษัทมีหนังสือแจ้งว่า สถานการณ์ราคาปุ๋ยมีการปรับตัวสูงขึ้น และมีผลกระทบกับภาคเกษตรกรรม ประกอบกับมีผู้ลงทุนรายใหม่ที่สนใจเข้าร่วมลงทุนในโครงการฯ 2 ราย ในสัดส่วนการถือหุ้นรวม 40% ของทุนจดทะเบียน

บริษัทฯ จึงวางแผนที่จะเรียกชําระค่าหุ้นเพิ่มทุน เพื่อจะได้ดําเนินโครงการฯ ต่อไป และมีเงินทุนในการจ้างที่ปรึกษา โดยสําหรับสัดส่วนการถือหุ้น ของกระทรวงการคลัง 20% ของทุนจดทะเบียน รัฐบาลต้องจัดสรรงบประมาณสําหรับโครงการฯประมาณ 4,000 ล้านบาท

ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับต้นทุนโครงการฯ และสัดส่วนหนี้ต่อทุนตามเงื่อนไขของสินเชื่อ โครงการขนาดใหญ่ (Project Financing) ที่จะได้รับจากสถาบันการเงิน 

จากนั้นกระทรวงการคลังได้ประชุมหารือร่วมกับกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ และบริษัทฯล่าสุด บริษัทแจ้งว่าการดำเนินโครงการดังกล่าวจะมีกําลังการผลิตแร่โพแทชประมาณ 1.235 ล้านตันต่อปี โดยใช้เวลาพัฒนาโครงการฯ ประมาณ 3 ปี และสามารถผลิตได้ประมาณ 13.5 ปี สิ้นสุดประทานบัตรในวันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2583