แรงงานเอเชียเห็นคุณค่างานไม่อยากเกษียณ
บริษัทที่ปรึกษาด้านทรัพยากรมนุษย์เผย วิกฤติค่าครองชีพทำให้แรงงานทั่วโลกต้องชะลอแผนเกษียณอายุออกไป แต่แรงงานเอเชียมีปัจจัยอื่นมากกว่าแค่รายได้
รายงาน Workmonitor ประจำปีฉบับล่าสุดจากแรนด์สตัด (Randstad) บริษัทที่ปรึกษาด้านทรัพยากรมนุษย์สำรวจความคิดเห็นประชาชน 35,000 คน ใน 34 ตลาดถึงความรู้สึกต่อโลกของการทำงาน พบว่า แรงงานที่สำรวจมีเพียงครึ่งหนึ่งเท่านั้นที่เชื่อว่า สามารถเลิกทำงานได้ถาวรก่อนอายุ 65 ปี ลดลงจาก 61% ในปี 2565เนื่องจากเศรษฐกิจโลกชะลอตัว เงินเฟ้อสูง รัฐบาลตัดความช่วยเหลือ หลายคนจึงลังเลที่จะเกษียณ
ขณะที่แรงงาน 70% กล่าวว่า ความกังวลเรื่องเงินทำให้พวกเขาไม่มีความสุขกับชีวิตเกษียณ แรงงานในเอเชียแปซิฟิกรู้สึกว่างานเป็นเรื่องจำเป็นในชีวิตมากกว่าที่อื่น ตัวอย่างเช่น แรงงาน 66% จากอินเดียและ 61% จากจีนมองว่า งานเป็นสิ่ง “จำเป็น” เกือบสองเท่าของค่าเฉลี่ยโลกที่ 32%
“ไม่ว่าจะเพื่อความหมายหรือเป้าประสงค์ การมีปฏิสัมพันธ์ทางสังคม หรือหาประสบการณ์ความท้าทายจากงาน การทำงานสำหรับหลายๆ คนจึงเป็นยิ่งกว่ารายได้ งานทำให้พวกเขาเชื่อมต่อและรู้สึกถึงความเป็นเจ้าของ” รายงานอธิบาย
ไม่เพียงเท่านั้นแรงงานยังคงทำงานต่อเพราะรู้สึกถึง “ภาระหน้าที่ที่มีต่อนายจ้าง” แรงงานในเอเชียแปซิฟิกรายหนึ่งในห้า หรือ 21% รู้สึกว่านายจ้างต้องการพวกเขาจึงไม่อยากเกษียณ เทียบกับ 12% ของทั้งโลก
ซานเดอร์ ฟานนอร์เดนเด ซีอีโอรอนด์สตัด เผยกับสถานีโทรทัศน์ซีเอ็นบีซี ในชีวิตของผู้คน ปัจจัยทางวัฒนธรรมมีส่วนสำคัญในบทบาทการทำงานและการศึกษา คนงานรู้สึกว่างาน “จำเป็น” ต่อชีวิตเพราะการมีงานมั่นคงทำให้พวกเขารู้สึกมีคุณค่าและได้รับการยอมรับจากเพื่อนร่วมงานอย่างไรก็ตาม เศรษฐกิจที่เติบโตเร็วมากของหลายๆ ประเทศ ประกอบกับความต้องการคนเก่งเพิ่มสูงแบบทบเท่าทวีคูณทั้งภายในประเทศและต่างประเทศ ล้วนมีส่วนทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำเมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ ทั่วโลก
เอเชียเป็นที่ตั้งของเขตเศรษฐกิจใหญ่สุดของโลก 3 ใน 5 ได้แก่ จีน ญี่ปุ่น และอินเดีย คนทำงานในเอเชียบางประเทศมีแนวโน้มมองว่า งาน “เป็นส่วนสำคัญของชีวิต” มากกว่า ตัวอย่างเช่น คนงานในจีน 89% คนงานในอินเดีย 90% พิจารณาว่าข้อความนี้เป็นจริง สูงกว่าค่าเฉลี่ยโลกเกือบ 20%
ไม่ว่าคนงานอยู่ที่ใด พวกเขาต้องการ “แพ็กเกจรวม” จากนายจ้างซึ่งก็คืองานที่มั่นคง ยืดหยุ่น ครอบคลุม การเงินมีเสถียรภาพ
“ผู้คนต้องการรู้สึกเหมือนเป็นส่วนหนึ่งของงาน และเรียกร้องให้องค์กรสะท้อนสิ่งที่พวกเขาให้ความสำคัญออกมาในรูปของความยืดหยุ่นและสมดุลชีวิตและงาน โดยเฉพาะคนรุ่นใหม่ที่ต้องการความพึงพอใจจากงานมากกว่ารายได้เพียงอย่างเดียว” ซีอีโอแรนด์สตัดกล่าว และยังสำคัญในภูมิภาคเอเชียด้วย ที่ซึ่งตลาดแรงงานตึงตัวต่อเนื่อง นายจ้างจึงควรให้ความสำคัญกับการดึงดูดและรักษาคนเก่ง
“มีหลักฐานมากขึ้นเรื่อยๆ ว่า แรงงานพร้อมลาออกถ้างานไม่ตอบสนองความต้องการ เช่น แรงงานเอเชียแปซิฟิกกว่าครึ่งจะลาออกถ้ารู้สึกว่าไม่เป็นส่วนหนึ่งของงาน” ยิ่งไปกว่านั้นคนเก่งจะขาดแคลนในอนาคตข้างหน้าผลจากการเปลี่ยนแปลงด้านประชากร
“บริษัทควรพัฒนาบทบาทที่ยืดหยุ่นเพื่อเปิดให้คนวัยใกล้เกษียณชะลอเวลาเกษียณด้วยการเปลี่ยนจากทำงานเต็มเวลามาเป็นทำพาร์ทไทม์แล้วค่อยเกษียณเต็มตัว”