ธปท.จับตา 3 ปัจจัยเสี่ยงฉุดเศรษฐกิจไทย
ด้านภาคการส่งออกแม้ว่าจะกลับมาดีขึ้นเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า แต่ยังคงได้รับแรงกดดันจากเศรษฐกิจคู่ค้าทำให้ขยายตัวต่ำ 0.6% ส่งผลให้การผลิตภาคอุตสาหกรรมและเครื่องชี้การลงทุนภาคเอกชนลดลงตามแรงกดดันเศรษฐกิจคู่ค้าชะลอตัว
ผู้ช่วยผู้ว่าการสายองค์กรสัมพันธ์ ธนาคารแห่งประเทศไทย หรือ ธปท. ชญาวดี ชัยอนันต์ ระบุ ภาพรวมเศรษฐกิจไทยฟื้นตัวต่อเนื่องในเดือน ธ.ค. และไตรมาส 4 ปี 2565 แรงขับเคลื่อนสำคัญ จากการท่องเที่ยวเป็นหลัก ที่ช่วยหนุนการบริโภคในประเทศปรับตัวดีขึ้น โดยการท่องเที่ยว ทั้งไตรมาส 4 อยู่ที่ 5.4 ล้านคน ส่งผลให้ทั้งปีนักท่องเที่ยวอยู่ที่ 11.15 ล้านคน ที่ช่วยหนุนให้เศรษฐกิจปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่อง จำนวนนักท่องเที่ยวที่เพิ่มสูงขึ้นเป็นแรงส่งให้ภาคท่องเที่ยวและบริการ ขยายตัวได้ที่ระดับ 2.5% และการขนส่งผู้โดยสารก็ยังเติบโตได้ดีตามการท่องเที่ยวที่ฟื้นตัว
ด้านภาคการส่งออกแม้ว่าจะกลับมาดีขึ้นเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า แต่ยังคงได้รับแรงกดดันจากเศรษฐกิจคู่ค้าทำให้ขยายตัวต่ำ 0.6% ส่งผลให้การผลิตภาคอุตสาหกรรมและเครื่องชี้การลงทุนภาคเอกชนลดลงตามแรงกดดันเศรษฐกิจคู่ค้าชะลอตัว
สำหรับการขยายตัวของภาคท่องเที่ยวปัจจุบันมีสัดส่วนต่อจีดีพีเพียง 11-12% ขณะที่ส่งออกมีสัดส่วนถึง 53% ดังนั้น ต้องติดตามพัฒนาการท่องเที่ยวว่าเพิ่มได้มากน้อยแค่ไหน และจะมีส่วนชดเชยส่งออกที่หายไปได้หรือไม่ แม้ว่าจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นมากกว่าที่คาดไว้ จากการที่จีนเปิดประเทศเร็วกว่าที่คาดแต่เนื่องจากการส่งออกของไทยยังคงได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าที่ชะลอลง ดังนั้น ในการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน หรือ กนง. ครั้งหน้าจะประเมินภาพเศรษฐกิจในปี 2566 อีกครั้ง ส่วนเศรษฐกิจปี 2565 นั้น ต้องรอสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หรือ สศช.ประกาศตัวเลขอย่างเป็นทางการ
ส่วนภาพเศรษฐกิจเดือน ม.ค.และในระยะต่อไป กิจกรรมทางเศรษฐกิจยังมีแนวโน้มฟื้นตัวได้อย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ดี ธปท.ยังคงต้องติดตาม 3 ปัจจัยเสี่ยง คือ เศรษฐกิจโลก เศรษฐกิจจีน และการส่งผ่านต้นทุนจากเงินเฟ้อว่าจะเป็นอย่างไรในระยะข้างหน้า
ด้านเสถียรภาพเศรษฐกิจอัตราเงินเฟ้อทั่วไปเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 5.89% จากผลของฐานต่ำในปีก่อนทั้งในหมวดอาหารสดและหมวดพลังงาน รวมทั้งราคาผักที่เพิ่มขึ้นตามผลผลิตที่ออกสู่ตลาดน้อย ส่วนอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานทรงตัวใกล้เคียงกับเดือนก่อนอยู่ที่ 3.23%
ด้านตลาดแรงงานโดยรวมทยอยฟื้นตัวตามภาวะเศรษฐกิจ สะท้อนจากจำนวนผู้ประกันตนในระบบประกันสังคมที่ยังอยู่ในระดับใกล้เคียงช่วงก่อนการแพร่ระบาดของโควิด-19 รวมทั้งความเชื่อมั่นของผู้ประกอบอาชีพอิสระที่เป็นบวกต่อเนื่อง
สำหรับดุลบัญชีเดินสะพัดกกลับมาเกินดุลอยู่ที่ 1,100 ล้านดอลลาร์ มาจากดุลการค้าที่เกินดุลเพิ่มขึ้นเป็นสำคัญ ประกอบกับดุลบริการ รายได้ และเงินโอนที่กลับมาเกินดุลเล็กน้อยตามรายรับภาคการท่องเที่ยวที่เพิ่มขึ้น โดยทั้งปี 2565 ขาดดุลอยู่ที่ 1.69 หมื่นล้านดอลลาร์
ด้านอัตราแลกเปลี่ยนเงินบาทเทียบกับดอลลาร์เฉลี่ยแข็งค่าขึ้นตามการเปิดประเทศของจีนที่เร็วกว่าตลาดคาด ส่งผลให้ตลาดมีมุมมองที่ดีต่อการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยวไทย รวมทั้งตลาดคาดว่าธนาคารกลางสหรัฐฯ จะปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายในอัตราที่ชะลอลง