ชงบอร์ดอีวี เคาะ 2.4 หมื่นล้าน มาตรการหนุนตั้งโรงงานผลิตแบต
“บอร์ดอีวี” ถกหนุนลงทุนแบตอีวี “สรรพสามิต” ลดภาษีเหลือ 1% เตรียมเคาะจ่ายเงินอุดหนุนผู้ผลิตแบต 2.4 หมื่นล้าน จ่ายแบบขั้นบันไดตามขนาดแบต-โรงงาน หนุนอีโคซิสเต็มยานยนต์ไฟฟ้า “สมาคมยานยนต์ไฟฟ้า” ชี้ดีมานด์ในไทยพุ่ง ยอดจดทะเบียนรถป้ายแดงปี 65 “บีอีวี” แซงไฮบริดปีแรก
หลังจากที่รัฐบาลได้ประกาศมาตรอุดหนุนการซื้อยานยนต์ไฟฟ้า (อีวี) ไม่เกินคันละ 150,000 บาท ครอบคลุมรถยนต์ รถกระบะและรถจักรยานยนต์ ส่งผลให้ความต้องการอีวีเพิ่มมากขึ้น และขั้นต่อมาจะเป็นการกำหนดมาตรการสนับสนุนการลงทุนตั้งโรงงานแบตเตอรี่
นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน จะเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการนโยบายยานยนต์ไฟฟ้าแห่งชาติ (บอร์ดอีวี) ในวันนี้ (2 ก.พ.) ที่ทำเนียบรัฐบาลในเวลา 13.00 น. เพื่อพิจารณามาตรการส่งเสริมอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า โดยเฉพาะมาตรการส่งเสริมผู้ผลิตแบตเตอรี่อีวีในประเทศไทยและทำให้ราคาแบตเตอรี่ลดลง ซึ่งจะทำให้อีโคซิสเต็มอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าของไทยสมบูรณ์ขึ้น
แหล่งข่าวจากบอร์ดอีวี กล่าวว่า การประชุมครั้งนี้จะพิจารณามาตรการสนับสนุนที่กรมสรรพสามิตและกระทรวงอุตสาหกรรมเสนอ ประกอบด้วย 2 ส่วน คือ
1. มาตรการด้านภาษี มีการเสนอลดภาษีสรรพสามิตแบตเตอรี่ลงจาก 8% เหลือ 1%
2.มาตรการจ่ายเงินอุดหนุนการลงทุนตั้งโรงงานผลิตแบตเตอรี่ในประเทศไทย โดยผู้เข้าร่วมโครงการต้องทำข้อตกลงเพื่อยอมรับเงื่อนไขการรับเงินอุดหนุนกับกรมสรรพสามิต และเบื้องต้นกำหนดวงเงินไว้ที่ 24,000 ล้านบาท
ทั้งนี้ ที่ผ่านมากรมสรรพสามิตมีข้อเสนอการจ่ายเงินอุดหนุนให้กับผู้ตั้งโรงงานแบตเตอรี่ 3 ประเภท คือ 1.การอุดหนุนการผลิตในระดับเซลล์ หรือการอุดหนุนตั้งแต่กระบวนการผลิตโดยเริ่มจากวัตถุดิบที่ใช้ในการผลิตจนถึงการผลิตสำเร็จ 2.การอุดหนุนการผลิตในระดับ Module ซึ่งแบตเตอรี่รถยนต์จะมีหลาย Module สามารถเปลี่ยนเฉพาะ Module ที่เสื่อมสภาพได้ 3.การอุดหนุนการผลิตระดับ Pack หรือแบตเตอรี่ทั้งลูกที่ติดตั้งอยู่ในรถยนต์ไฟฟ้า
สำหรับข้อเสนอของกรมสรรพสามิตมีแนวคิดที่จะสร้างการเข้าถึงแบตเตอรี่ในราคาที่จูงใจการซื้อรถยนต์ไฟฟ้าเพื่อเพิ่มความต้องการแบตเตอรี่ในประเทศ โดยลดภาษีสรรพสามิตลงและจ่ายเงินอุดหนุนเหมือนมาตรการอุดหนุนราคารถอีวี ซึ่งผู้นำเข้าแบตเตอรีที่มาใช้สิทธิรับเงินอุดหนุนต้องยอมรับเงื่อนไขการตั้งโรงงานผลิตในไทย โดยต้องผลิตจำนวน 2 เท่าของแบตเตอรี่ที่เข้า่วมโครงการ และต้องตั้งโรงงานภายใน 3 ปี
ส่วนข้อเสนอของกระทรวงอุตสาหกรรมต้องการให้มีการจัดตั้งโรงงานผลิตเซลล์ในประเทศไทย ซึ่งเป็นต้นน้ำของของการผลิตแบตเตอรี่ โดยจะส่งผลดีในระยะยาวต่ออุตสาหกรรมยานยนต์ของไทย ซึ่งการรับเงินอุดหนุนจะต้องลงทุนตั้งโรงงานผลิตแบตเตอรี่ก่อน
“การประชุมครั้งนี้จะมาพิจารณาว่าจะใช้แนวทางใดในการอุดหนุนเงินให้กับผู้ผลิตแบตเตอรี่ รวมทั้งจะมาพิจารณาจำนวนเงินที่จะอุดหนุนต่อขนาดกิโลวัต์ชั่วโมง ซึ่งอาจจะมีการกำหนดเงินอุดหนุนเป็นขั้นบันได โดยพิจารณาจากขนาดของแบตเตอรี่ รวมทั้งอาจมีการพิจารณาตามขนาดกำลังการผลิตของโรงงานแบตเตอรี่ ซึ่งที่ผ่านมามีข้อเสนอจ่ายเงินอุดหนุนตามขนาดแบตเตอรี่ตั้งแต่ 500-1,000 บาท ต่อกิโลวัตต์ชั่วโมง” แหล่งข่าว กล่าว
ไทยมีโรงงานแบตอีวีแค่2แห่ง
ทั้งนี้ ปัจจุบันประเทศไทยมีโรงงานผลิตแบตเตอรี่ลิเทียมไอออน และระบบกักเก็บพลังงานแบบครบวงจร คือ
1. บริษัท พลังงานบริสุทธิ์ จำกัด (มหาชน) หรือ EA ดำเนินการโดย บริษัท อมิตา เทคโนโลยี (ประเทศไทย) จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทย่อยของ EA มีกำลังการผลิตเริ่มต้น 1 กิกะวัตต์ชั่วโมงต่อปี และมีความพร้อมที่จะขยายกำลังการผลิตได้สูงสุดถึง 4 กิกะวัตต์ชั่วโมงต่อปีในทันที โดยหากได้รับการสนับสนุนนโยบายที่ดีจากภาครัฐ EA พร้อมขยายกำลังการผลิตเพิ่มอีก 10 เท่า หรือคิดเป็นกำลังการผลิตสูงสุดของภูมิภาคอาเซียนที่ 50 กิกะวัตต์ชั่วโมงต่อปี
2. บริษัท โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) หรือ GPSC ดำเนินธุรกิจนวัตกรรมไฟฟ้าไฟฟ้ากลุ่ม ปตท.โดยร่วมกับบริษัท นูออโว พลัส จำกัด พัฒนาธุรกิจแบตเตอรี่ให้กับ NUOVO PLUS เพื่อผลิตแบตเตอรี่ขยายขอบเขตให้ครอบคลุม Battery Value Chain ที่กว้างขึ้น ทั้งในส่วนของแบตเตอรี่โมดูล (Module) และแบตเตอรี่แพ็ค (Battery Pack) พร้อมทั้งเปิดรับพันธมิตรทางธุรกิจที่จะร่วมสร้างความแข็งแกร่งและเสริมศักยภาพธุรกิจแบตเตอรี่เพื่อยานยนต์ไฟฟ้าสู่การผลิตในระดับ 5-10 กิกะวัตต์ชั่วโมง
สำหรับเป้าหมายประเทศไทยในการเตรียมความพร้อมเพื่อก้าวสู่การเป็นฐานการผลิตอีวีและชิ้นส่วนยานยนต์ไฟฟ้าที่สำคัญของโลก ตามนโยบาย 30@30 ของรัฐบาล คือ ตั้งเป้าผลิตรถ ZEV ให้ได้อย่างน้อย 30% ของการผลิตยานยนต์ทั้งหมดในปี 2573 ซึ่งการจะมีรถ BEV จำนวน 700,000 คัน จะต้องมีโรงงานผลิตแบตเตอรี่กำลังการผลิตรองรับในประเทศไทยประมาณ 25-30 กิกะวัตต์ ดังนั้น จากตัวเลขโรงงานผลิตแบตเตอรี่ปัจจุบันยังถือว่าห่างจากตัวเลขที่ควรจะมี
หวังมาตรการกระตุ้นดีมานด์
นายกฤษฎา อุตตโมทย์ นายกสมาคมยานยนต์ไฟฟ้าไทย กล่าวว่า จากการสนับสนุนมาตรการด้านอีวีของภาครัฐตั้งแต่ต้นปี 2565 ที่ผ่านมา อาทิ นโยบายทางด้านภาษี อาทิ การลดภาษีนำเข้า การลดภาษีสรรพสามิตและการมอบเงินส่วนลดให้กับประชาชนผู้ซื้อรถอีวีให้มีราคาเทียบเท่ากับเครื่องยนต์สันดาปนั้นทำให้ปี 2565 ยอดการจดทะเบียนรถอีวีเติบโตขึ้นอย่างเห็นได้ชัดเจน และเมื่อเทียบกับประเทศเพื่อนบ้าน มองว่ารถอีวีในไทยมีราคาเริ่มต้นที่ไม่แพงเลย
นอกจากนี้ จากมาตรการสนับสนุนของภาครัฐและศักยภาพด้านเศรษฐกิจในประเทศไทยมีแข็งแกร่งมากหากเทียบในระดับภูมิภาคอาเซียน จึงทำให้ผู้ผลิตรถทั้งค่ายยุโรปและจีนสนใจเข้ามาลงทุนอุตสาหกรรมอีวีในประเทศไทย อีกทั้งพื้นฐานประเทศไทยเป็นประเทศเมื่อมีโรงงานต่างๆ ตัดสินใจเข้ามาตั้งโรงงานแล้วมีจุดประสงค์หลัก คือ ตอบรับกับจำนวนดีมานด์ก่อนที่เหลือจะเป็นส่วนที่จะส่งอออกไปประเทศที่ใกล้เคียง
เอกชนมั่นใจหนุนลงทุนแบต
สำหรับการประชุมบอร์ดอีวีในวันที่ 2 ก.พ.2566 ภาคเอกชนกำลังจับตารอความชัดเจน จึงมองว่ารัฐบาลพยามจะมีคำตอบและมาตรการออกมาในทางที่ดี เพื่อดึงดูดนักลงทุนให้เข้ามาผลิตในประเทศไทย ตั้งแต่ระดับเซลล์ขึ้นไป จึงมองว่าโครงร่างของการสนับสนุนจากกรมสรรพสามิตมีความชัดเจนในระดับหนึ่งแล้ว ที่เหลือรอการอมัติจากบอร์ดอีวี เพื่อนำเสนอที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาตามขั้นตอนต่อไป
“หากมองทิศทางการลงทุนภาครัฐนั้น ได้สนับสนุนทั้งในส่วนของการดึงดูดในขั้นที่เป็นผู้ผลิตระดับเซลล์มาลงทุน โดยจะมีเงินมาสนับสนุนให้ตามแต่กิโลวัตต์ที่จะผลิตออกมา ซึ่งมาตรการของภาครัฐที่ออกมาถือเป็นการวางแนวทางขับเคลื่อนอุตสาหกรรมอีวีไทยทั้งระยะสั้นและระยะยาวที่มีความชัดเจนจึงเป็นอีกหนึ่งตัวช่วยให้ผู้บริโภคเกิดความเชื่อมั่นได้ดี” นายกฤษฎา กล่าว
“บีอีวี”จดทะเบียนแซงไฮบริด
สมาคมยานยนต์ไฟฟ้าไทย รายงานจำนวนการจดทะเบียนยานยนต์ไฟฟ้าปี 2565 หรือรถป้ายแดง พบว่า ภาพรวมการจดทะเบียนของยานยนต์ไฟฟ้าตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.- 31 ธ.ค.2565 อยู่ที่ 96,182 คัน โดยยานยนต์พลังงานไฟฟ้า (BEV) มียอดจดทะเบียนอยู่ที่ 20,816 คัน เติบโตขึ้น 260% จากปี 2565 ที่อยู่ที่ 5,781 คัน, ยานยนต์ปลั๊กอินไฮบริด (PHEV) มียอดจดทะเบียนอยู่ที่ 11,331 คัน จากปี 2565 อยู่ที่ 7,060 คัน ในขณะที่ยานยนต์ไฮบริด (HEV) มียอดจดทะเบียนอยู่ที่ 64,035 คัน จากปี 2565 อยู่ที่ 35,740 คัน
ทั้งนี้ ปี 2565 เป็นปีแรกที่ประเทศไทยเริ่มมีการผลิตและส่งออกรถยนต์ไฟฟ้า โดยกระทรวงพาณิชย์รายงานว่าการส่งออก รถยนต์นั่งประเภทยานยนต์ไฟฟ้ามีทั้งเครื่องยนต์สันดาปภายในและมอเตอร์ไฟฟ้าสำหรับขับเคลื่อนมีมูลค่า 500 ล้านดอลลาร์ มีตลาดหลักอยู่ที่ญี่ปุ่นและอาเซียน รวมทั้งมีการส่งออกรถยนต์นั่งที่ขับเคลื่อนด้วยมอเตอร์ไฟฟ้ามีมูลค่า 2.3 ล้านดอลลาร์ ตลาดหลักอยู่ในอาเซียน