"บอร์ดอีวี" ถก 23 ม.ค. 2566 เคาะมาตรการผู้ผลิตแบตเตอรี่รับเงินอุดหนุน
ลุ้น "บอร์ดอีวี" ถก 23 ม.ค. 2566 นี้ เคาะมาตรการอุดหนุนผู้ผลิตแบตเตอรี่ในไทย เข้ารับเงินอุดหนุนตามขนาดกิโลวัตต์
ยอดจดทะเบียนยานยนต์ไฟฟ้า (รถอีวี) กับกรมขนส่งทางบก ณ วันที่ 30 พ.ย. 2565 มีทั้งสิ้น 29,402 คัน ขณะที่สาถานีอัดประจุไฟฟ้า ณ วันที่ 20 ก.ย. 2565 มีจำนวน 869 สถานี รวม 2,572 หัวจ่าย แบ่งเป็นแบบ DC จำนวน 1,188 หัวจ่าย และ AC จำนวน 1,384 หัวจ่าย สถิตินี้เป็นดัชนีชี้วัดถึงอนาคตรถยนต์อีวีของไทย
แหล่งข่าวจากคณะกรรมการนโยบายยานยนต์ไฟฟ้าแห่งชาติ (บอร์ดอีวี) ที่มีสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เป็นประธาน เปิดเผยว่า วันที่ 23 ม.ค. 2566 นี้ บอร์ดอีวี จะมีการประชุมคณะกรรมการเพื่อหารือแนวทางและมาตรการสนับสนุนอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า หรือรถอีวีในประเทศไทย โดยเฉพาะมาตรการส่งเสริมผู้ผลิตแบตเตอรี่ซึ่งถือว่าเป็นอีกมาตรการสำคัญเพื่อการเปลี่ยนผ่านรถยนต์สันดาปมาสู่รถยนต์อีวี โดยคณะทำงานได้เตรียมแผนงานเสนอบอร์ดอีวีไว้หลายแนวทาง รอเพียงการประชุมเพื่อเคาะแนวทางเท่านั้น
การประชุมดังกล่าวไม่น่าจะมีการเลื่อนประชุมอีกแล้ว โดยครั้งนี้กระทรวงอุตสาหกรรม ทำหน้าที่ฝ่ายเลขาธิการบอร์ด อีกทั้ง ขณะนี้ กรมสรรพสามิต ก็ได้เตรียมข้อมูลเพื่อนำเสนอมาตรการส่งเสริมการผลิตแบตเตอรี่ รวมถึงระบบกักเก็บพลังงานเพื่อเติมเต็มที่ เพื่อสนองนโยบายส่งเสริมการเปลี่ยนผ่านให้ไปถึงเป้าหมายประเทศ อาทิ จำนวนเงินสนับสนุนที่อาจเป็นขั้นบันไดรวมถึงการและพิจารณาในหลายปัจจัย
“นโยบายภาครัฐไทยถือว่าดีมาก ๆ จะเห็นว่าที่ผ่านมาประชาชนสนใจเข้าจองรถเยอะมาก ส่วนหนึ่งมาจาก มาตรการสนับสนุนของภาครัฐที่มีความชัดเจนตั้งแต่ช่วงเดือนมี.ค. 2565 คือ นโยบายทางด้านภาษี อาทิ การลดภาษีนำเข้า การลดภาษีสรรพสามิตและการมอบเงินส่วนลดให้กับประชาชนผู้ซื้อรถอีวี 150,000 บาทต่อคัน เป็นต้น ทำให้ราคารถอีวีมีราคาเทียบเท่ารถสันดาป”
แหล่งข่าว กล่าวว่า หากวันที่ 23 ม.ค. 2566 นี้ บอร์ดอีวีเคาะมาตรการสนับสนุน เชื่อว่านายสุพัฒนพงษ์ ก็จะนำเสนอที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาตามขั้นตอนต่อไปในวันที่ 24 ม.ค. 2566 ทันที เพราะมาตรการด้านแบตเตอรี่ถือเป็นเรื่องที่เอกชนหรือผู้ผลิตให้ความสนใจเป็นอย่างมาก และรอความชัดเจนมาตั้งแต่ปลายปี 2565 แม้ว่ากลุ่มอุตสาหกรรมจะเห็นโครงร่างที่จะมาสนับสนุนแล้วและมีการวางแผนลงทุนไปบ้างแล้ว แต่ก็คงอยากให้รัฐบาลอนุมัติแล้วบรรจุเป็นมติของรัฐบาล
นายณัฐพล รังสิตพล ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า เบื้องต้นได้บรรจุวาระการประชุมช่วงสัปดาห์ที่ 3-4 ของเดือนม.ค. 2566 นี้ โดยขณะนี้คณะทำงานอยู่ระหว่างตรวจสอบรายละเอียดของมาตรการสนับสนุนต่าง ๆ ที่จะต้องนำเสนอที่ประชุม เชื่อว่ามาตรการต่าง ๆ ที่จะมีการหารือจะเป็นประโยชน์ต่ออุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า (อีวี) อย่างแน่นอน โดยเฉพาะมาตรการสนับสนุนกลุ่มผู้ผลิตแบตเตอรี่ในประเทศ
รายงานข่าวระบุว่า กรมสรรพสามิต เตรียมนำเสนอมาตรการอุดหนุนแบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้า (อีวี) ประกอบด้วย
1.การอุดหนุนในระดับเซลล์ หรือการอุดหนุนตั้งแต่กระบวนการผลิตโดยเริ่มจากวัตถุดิบที่ใช้ในการผลิตจนถึงการผลิตสำเร็จ
2.การอุดหนุนในระดับ Module ซึ่งแบตเตอรี่รถยนต์จะมีหลาย Module สามารถเปลี่ยนเฉพาะ Module ที่เสื่อมสภาพได้ และ
3.การอุดหนุนราคาในระดับ Pack หรือแบตเตอรี่ทั้งลูกที่ติดตั้งอยู่ในรถยนต์ไฟฟ้า ทั้งนี้ การอุดหนุนราคาแบตเตอรี่จะคล้ายกับการอุดหนุนราคาให้กับผู้ซื้อรถอีวี โดยเงินอุดหนุนจะขึ้นอยู่กับจำนวนของกิกะวัตต์
สำหรับมาตรการสนับสนุนอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าและแบตเตอรี่สืบเนื่องมาจากเป้าหมายของรัฐบาลที่กำหนดว่าภายในปี2030 จะต้องมีการใช้รถยนต์ไฟฟ้า (BEV) ในสัดส่วน 30% ของกำลังการผลิตรถยนต์ภายในประเทศหรือราว 6-7 แสนคัน ซึ่งหมายความว่าจะต้องมีการใช้แบตเตอรี่ 6-7 แสนลูก หากแบตเตอรี่เหล่านี้เสื่อมสภาพ และกลายเป็นขยะเป็นปัญหาสิ่งแวดล้อมของประเทศ ดังนั้น จำเป็นต้องหามาตรการสนับสนุนการรีไซเคิลแบตเตอรี่เก่าให้สามารถนำกลับมาใช้ใหม่ได้ เพราะในอนาคต 8 ปี เมื่อแบตเตอรี่หมดอายุก็จะกลายเป็นขยะอิเล็กทรอนิกส์
ทั้งนี้ สรรพสามิตยังมีโครงการปรับโครงสร้างภาษีแบตเตอรี่ ซึ่งปัจจุบันเก็บในอัตราคงที่ 8% ขณะนี้กำลังจัดทำโครงสร้างภาษีแบตเตอรี่ใหม่ โดยหากผู้ผลิตแบตเตอรี่มีกระบวนการรีไซเคิลที่ดีก็อาจจะเสียภาษีเพียง 1% เป็นต้น เพื่อเป็นการส่งเสริมให้ผู้ประกอบการพร้อมลงทุนระบบการรีไซเคิลแบบครบวงจร
อย่างไรก็ตาม มาตรการสนับสนุนการใช้รถยนต์ไฟฟ้าภายในประเทศ นอกเหนือจากการลดภาษีนำเข้ารถยนต์ และการลดภาษีสรรพสามิตรถยนต์แล้ว รัฐบาลได้ให้เงินอุดหนุนผู้ซื้อรถยนต์ในวงเงินตั้งแต่คันละ 70,000-150,000 บาท โดยขึ้นอยู่กับความจุของแบตเตอรี่ และค่ายรถยนต์ที่ใช้สิทธิเงินชดเชยดังกล่าวจะต้องผลิตรถอีวีภายในประเทศชดเชยในอัตรา 1 ต่อ 1 ภายในปี 2567
โดยรัฐบาลได้ตั้งงบประมาณก้อนแรกเพื่อสนับสนุนในวงเงิน 3,000 ล้านบาท ซึ่งจะจ่ายเงินอุดหนุนให้รถยนต์ไฟฟ้าได้ 20,000 คัน และคาดว่าในระยะต่อไปหรือช่วงปี 2566-2567 จะต้องของบอุดหนุนอีก 10,000 ล้านบาท ซึ่งจะจ่ายเงินอุดหนุนให้ผู้ใช้รถยนต์ไฟฟ้าอีก 75,000 คัน โดยรถยนต์ 10,000 คัน จะใช้งบประมาณอุดหนุน 1,500 ล้านบาท คาดว่าปี 2566 จะมียอดจองรถยนต์อีวีไม่ต่ำกว่า 30,000 คันจากปี 2565 ที่คาดว่ามียอดจองเข้าร่วม 25,000 คัน ส่วนปี 2566-2567 จะมีรถยนต์เข้าร่วมมาตรการราว 75,000 คัน