นิคมฯ ห่วงส่งน้ำช่วงรอยต่อ “อีสท์วอเตอร์” คืนท่อให้ธนารักษ์
การบริหารจัดการน้ำภาคอุตสาหกรรมในภาคตะวันออก อยู่ในช่วงที่ต้องติดตามการส่งมอบทรัพย์สินที่บริษัท จัดการและพัฒนาทรัพยากรน้ำภาคตะวันออก จำกัด (มหาชน) หรืออีสท์ วอเตอร์ เช่าจากรมธนารักษ์ หลังจากภาครัฐเปิดประมูลผู้เข้ามาบริหารจัดการน้ำรายใหม่
โดย บริษัท วงษ์สยามก่อสร้าง จำกัด เป็นผู้ชนะการประมูลและได้ลงนามกับกรมธนารักษ์ไปเมื่อวันที่ 23 ก.ย.2565 ซึ่งมีระยะเวลาการเช่า 30 ปี และให้ผลตอบแทนแก่รัฐรวม 25,000 ล้านบาท
ทั้งนี้ ที่ผ่านมากรมธนารักษ์มอบหมายให้อีสท์วอเตอร์ดำเนินการ และล่าสุดกรมธนารักษ์ได้แจ้งให้อีสท์วอเตอร์ ดำเนินการส่งมอบพื้นที่ให้แก่กรมธนารักษ์ แบ่งเป็น 2 ส่วน คือ
1.โครงการท่อส่งน้ำหนองปลาไหล-หนองค้อ และหนองค้อ-แหลมฉบัง ระยะที่ 2 เป็นท่อส่งน้ำที่ไม่มีสัญญาเช่าและจะต้องส่งมอบให้กรมธนารักษ์ภายใน 60 วัน
2.โครงการท่อส่งน้ำดอกกราย ที่มีสัญญาเช่าจะสิ้นสุดสัญญาในวันที่ 31 ธ.ค.2566
อัญชลี ชวนิชย์ นายกสมาคมนิคมอุตสาหกรรมไทยและพันธมิตร กล่าวว่า ปัจจุบันการส่งมอบท่อส่งน้ำอยู่ระหว่างการกำหนดแผนของผู้เกี่ยวข้อง 3 ฝ่าย คือ กรมธนารักษ์ อีสท์วอเตอร์ และบริษัท วงษ์สยามก่อสร้าง จำกัด โดยนิคมอุตสาหกรรมในพื้นที่ภาคตะวันออกกังวลเกี่ยวกับช่วงรอยต่อของการส่งมอบท่องส่งน้ำคืนให้กรมธนารักษ์ โดยสมาคมฯ ได้เข้าไปติดตามการส่งมอบทรัพย์สินดังกล่าวเพื่อไม่ให้กระทบการดำเนินการของผู้ประกอบการ
นอกจากนี้ สมาคมฯ ได้ชี้แจงไปยังผู้เกี่ยวข้องทั้ง 3 หน่วยงาน ว่าการส่งมอบท่อส่งน้ำและทรัพย์สินที่เกี่ยวข้องจะต้องไม่ส่งผลกระทบต่อการส่งน้ำให้กับผู้ประกอบการ โดยการส่งน้ำจะต้องมีทั้งความต่อเนื่องและตามปริมาณที่มีการลงกันไว้
“ความต้องการน้ำของภาคอุตสาหกรรมมีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะการลงทุนในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) ที่กำลังเพิ่มมากขึ้นจากความเชื่อมั่นของนักลงทุน”
เชิดชาย ปิติวัชรากุล กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท จัดการและพัฒนาทรัพยากรน้ำภาคตะวันออก จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า อีสท์วอเตอร์ได้ร่วมพูดคุยกับทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องในการกำหนดแนวทางขั้นตอนการส่งมอบโครงข่ายท่อส่งน้ำคืนให้กรมธนารักษ์ ระยะทาง 135.9 กิโลเมตร แต่แผนดังกล่าวยังไม่มีความชัดเจนในเรื่องการให้สิทธิบริหารจัดการเครื่องสูบน้ำแต่ละสถานีสูบร่วมกัน
นอกจากนี้ การก่อสร้างระบบท่อส่งน้ำของอีสท์วอเตอร์ ในบางส่วนได้มีการใช้พื้นที่ราชพัสดุ และเมื่อต้องมีการตัดแยกระบบท่อส่งน้ำออกจากกันเป็น 2 ส่วน จึงทำให้ยังคงมีทรัพย์สินของบริษัทบางส่วนอยู่ในพื้นที่ราชพัสดุดังกล่าว ซึ่งเป็นกรณีที่ทั้งอีสท์วอเตอร์และกรมธนารักษ์จะต้องร่วมกันแก้ไขปัญหาการใช้พื้นที่ทับซ้อนดังกล่าว
“ภายในไตรมาส 1 ปีนี้ อีสท์วอเตอร์คาดว่าจะสามารถดำเนินการส่งมอบพื้นที่ส่วนบ้านพัก โรงสูบน้ำ และส่วนระบบปฏิบัติการท่อส่งน้ำหลักให้แก่กรมธนารักษ์ได้ อย่างไรก็ตาม จะต้องมีการกำหนดข้อตกลงประเด็นพื้นที่ทับซ้อนและสิทธิในการใช้งานร่วมกัน ไม่อย่างนั้นอาจนำไปสู่ความขัดแย้งในอนาคตได้ และสร้างความเสียหายแก่ผู้ใช้น้ำได้ในอนาคต
ทั้งนี้ อีสท์วอเตอร์ยอมรับว่าการส่งมอบทรัพย์สินคืนแก่กรมธนารักษ์จะส่งผลกระทบต่อรายได้ของอีสท์วอเตอร์ แต่มั่นใจว่าจะไม่ส่งผลที่รุนแรงจนส่งผลทำให้เกิดการขาดทุนได้ โดยในปี 2566 คาดว่ารายได้ของอีสท์วอเตอร์ยังคงมีทิศทางเติบโต ด้วยปัจจัยสำคัญจากการขยายตัวของการลงทุนภาคอุตสาหกรรมในพื้นที่อีอีซี และทำให้มีความต้องการใช้น้ำเพิ่มขึ้น ขณะเดียวกันคาดว่าอาจเกิดภาวะฝนแล้งหลังจากที่ปีก่อนมีฝนมาก จึงเป็นประเด็นที่ต้องติดตามต่อไป"
รายงานข่าวระบุว่า ที่ผ่านมากรมธนารักษ์ได้เร่งรัดให้อีสท์วอเตอร์ส่งมอบท่อน้ำให้ โดยที่ผ่านมา “จำเริญ โพธิยอด” อธิบดีกรมธนารักษ์ ออกมาระบุว่าอีสท์วอเตอร์มีกำหนดต้องส่งมอบพื้นที่และท่อน้ำให้รอบแรกในวันที่ 6 ธ.ค.2565 และส่งมอบรอบที่ 2 ในวันที่ 16 ธ.ค.2565
ซึ่งที่ผ่านมามีการระบุถึงเหตุผลที่ยังไม่ส่งมอบพื้นที่และท่อน้ำให้แก่บริษัท วงษ์สยามก่อสร้าง จำกัด โดยระบุถึงความกังวลว่าการส่งมอบพื้นที่ที่ต้องมีการปรับปรุงท่อส่งน้ำในบางจุดอาจจะทำให้เกิดผลกระทบต่อผู้ใช้น้ำ เนื่องจากท่อส่งน้ำบางจุดเป็นทรัพย์สินของอีสท์วอเตอร์ผู้รับสัมปทานรายใหม่ไม่สามารถจัดหาท่อมาทดแทนได้ทัน ขณะที่วงษ์สยามก่อสร้างยืนยันว่าไม่มีปัญหาในการนำท่อส่งน้ำไปเชื่อมต่อ
นอกจากนี้ กรมธนารักษ์มีความกังวลเกี่ยวกับการส่งมอบทรัพย์สินดังกล่าวหากล่าช้าจะมีผลต่อรายได้ ที่กรมธนารักษ์จะได้รับจากการบริหารจัดการน้ำของบริษัท วงษ์สยามก่อสร้าง จำกัด โดยคำนวณเป็นสัดส่วน 27% ของรายรับค่าใช้น้ำโดยไม่หักค่าใช้จ่าย รวมทั้งมีรายรับที่กรมธนารักษ์จะได้รับเมื่อมีการส่งมอบพื้นที่ให้แก่บริษัท วงษ์สยามก่อสร้าง จำกัด เป็นจำนวนอีก 870 ล้านบาท
สำหรับโครงการท่อส่งน้ำดังกล่าว กรมธนารักษ์ได้นำมาเปิดประมูลหาผู้บริหาร และบริษัท วงษ์สยามก่อสร้าง จำกัด ที่ชนะการประมูล ได้ยื่นข้อเสนอผลตอบแทนแก่รัฐ 25,000 ล้านบาท แบ่งเป็น
1.ค่าแรกเข้า จำนวน 1,450 ล้านบาท ชำระครั้งแรกในการเซ็นสัญญาจำนวน 580 ล้านบาท และเมื่อส่งมอบทรัพย์สินอีก 870 ล้านบาท 2.ผลประโยชน์ตอบแทน 2,908 ล้านบาท 3.ส่วนแบ่งรายได้ตลอดอายุสัญญา 21,335 ล้านบาท
ทั้งนี้ บริษัท วงษ์สยามก่อสร้าง จำกัด ได้นำเข้าอุปกรณ์เพื่อดำเนินการตามสัญญา และเมื่อกรมธนารักษ์ส่งมอบทรัพย์สินก็พร้อมจ่ายน้ำให้กับผู้ใช้น้ำ รวมทั้งได้ลงนามบันทึกข้อตกลงเบื้องต้นกับการประปาภูมิภาค (กปภ.) และคิดค่าน้ำสำหรับอุปโภค-บริโภคอัตรา 9.50 บาทต่อลูกบาศก์เมตร ส่วนการจำหน่ายน้ำให้กับภาคอุตสาหกรรมอยู่ที่ราคาไม่เกิน 12.40 บาทต่อลูกบาศก์เมตร ตลอดอายุสัญญา 30 ปี