เมื่อไรจะถึงเวลา เศรษฐกิจอเมริกาถดถอย
สำหรับนักเศรษฐศาสตร์มหภาคอย่างผู้เขียนแล้ว ต้องยอมรับว่า ปัจจุบันเศรษฐกิจสหรัฐ "แกะ" ยากสุด เพราะเห็นสัญญาณขัดแย้งกันหลายประการ
ตัวเลขการผลิต การจับจ่าย การลงทุน หรือแม้แต่ตัวเลข GDP ภาพรวมชะลอลงหรือหดตัวแทบทั้งสิ้น แต่การจ้างงานในเดือน ม.ค. ปรับตัวดีเกินคาดมาก
โดยขยายตัวถึง 5.17 แสนตำแหน่งในเดือน ม.ค. สูงกว่านักเศรษฐศาสตร์ที่คาดไว้สูงสุดที่ประมาณ 2.5 แสนกว่า 2 เท่า
ขณะที่ตำแหน่งงานเปิดใหม่ก็กลับมาเพิ่มขึ้นสู่ระดับ 11 ล้านตำแหน่งอีกครั้ง ขณะที่จำนวนผู้ว่างงานมีไม่ถึง 5 ล้านคน บ่งชี้ว่ามีตำแหน่งงานเปิดใหม่กว่า 2 ตำแหน่งต่อผู้ว่างงาน 1 คน
ตลาดแรงงานที่ดีเกินไปนี้มีนัยยะต่อเศรษฐกิจการลงทุนโลกอย่างมาก เพราะหากการจ้างงานยังดีอยู่ โดยเฉพาะหากตำแหน่งงานที่ว่างยังมีมากกว่าปริมาณคนว่างงานมาก
แปลว่าบริษัทจะต้องขึ้นค่าจ้างต่อเนื่อง ซึ่งบริษัทก็ต้องส่งผ่านต้นทุนแรงงานที่เพิ่มขึ้นผ่านการขึ้นราคา หรือที่เรียกว่าเกิด Wage-price spiral ดึงให้เงินเฟ้อยังสูงอยู่
ทำให้ธนาคารกลางสหรัฐ (Fed) ต้องขึ้นดอกเบี้ยต่อเนื่องเพื่อกดเงินเฟ้อ และทำให้เศรษฐกิจและภาคธุรกิจที่สถานะการเงินเริ่มแย่แล้วยิ่งเผชิญต้นทุนที่เพิ่มขึ้น นำมาสู่การล้มละลายในที่สุด
คำถามคือ แล้วตลาดแรงงานสหรัฐจะอ่อนแอลงเมื่อไร
เพราะหากเศรษฐกิจเริ่มชะลอลง ก็จะทำให้สหรัฐชะลอการจ้างงาน และ/หรือปรับลดคนงานลง ทำให้การขึ้นค่าจ้างเริ่มชะลอลง เงินเฟ้อลดลง ทำให้เศรษฐกิจชะลอลงโดยไม่ต้องขึ้นดอกเบี้ยแรง (หรือที่เรียกว่า Soft Landing)
เพื่อศึกษาในรายละเอียด และเพื่อให้คาดการณ์ "ห้วงเวลา" ของพลวัตเศรษฐกิจสหรัฐได้ถูกต้อง
ผู้เขียนจึงทำการศึกษาดัชนีเศรษฐกิจสหรัฐต่าง ๆ ผ่าน Heatmap (หรือการนำข้อมูลเชิงปริมาณมาทำเป็นสี เพื่อให้ทราบถึงความร้อนแรงของข้อมูลนั้น ๆ) 2 ชั้น
ชั้นแรก ศึกษาจาก Manufacturing and Service Heatmap เพื่อพิจารณาพลวัตของเศรษฐกิจสหรัฐฝั่งการผลิตและภาคบริการในยุคปัจจุบัน (ตั้งแต่ช่วงวิกฤต Covid จนถึงปัจจุบัน)
ชั้นที่ 2 ศึกษาพลวัตเศรษฐกิจสหรัฐในปัจจุบัน เทียบเคียงกับช่วงดอกเบี้ยขาขึ้นในอดีต 2 ช่วง คือ
ช่วงที่ 1 ไตรมาส 4 ปี 1998-ไตรมาส 2 ปี 2002 (อันได้แก่ช่วงฟองสบู่ดอทคอม หรือ Y2K Crisis); และ
ช่วงที่ 2 ไตรมาส 3 ปี 2004-ไตรมาส 1 ปี 2010 (อันได้แก่ช่วงวิกฤตแฮมเบอร์เกอร์หรือ Sub-prime crisis)
ผลการวิเคราะห์พลวัตเศรษฐกิจและตลาดแรงงานภาคการผลิตและภาคบริการสหรัฐชั้นที่ 1 พบว่า สัญญาณเศรษฐกิจสหรัฐที่ดีขึ้นมากโดยเฉพาะตลาดแรงงาน ขณะที่ตัวเลขด้านการผลิตชะลอลงต่อเนื่อง
บ่งชี้ว่าเศรษฐกิจสหรัฐกำลังแบ่งเป็น 2 ขั้ว โดยการจ้างงานภาคบริการยังขยายตัวได้ดี โดยยังมีตำแหน่งงานเหลือ แต่การจ้างงานภาคเทคโนโลยี และภาคธุรกิจอื่น ๆ มีแนวโน้มที่จะแย่ลงมากขึ้น
เช่นเดียวกับตัวเลขการผลิตภาคอุตสาหกรรม (วัดจากดัชนีการผลิตภาคอุตสาหกรรมและดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ) และการลงทุนด้านเครื่องมือเครื่องจักรของภาคเอกชนจะแย่ลง แต่เศรษฐกิจภาคบริการจะยังโตได้อีกพักหนึ่ง
ในขณะที่การศึกษาชั้นที่ 2 มี 4 ข้อสรุป กล่าวคือ
(1) ดอกเบี้ยขาขึ้นครั้งนี้ ขึ้นเร็วและแรงกว่าครั้งก่อน ๆ มาก โดยทั้งช่วงก่อนวิกฤตดอทคอม และวิกฤตแฮมเบอร์เกอร์นั้น Fed ขึ้นดอกเบี้ยยาวนานกว่า
แต่อัตราการขึ้นโดยรวมน้อยกว่าครั้งนี้ โดยใช้เวลาการขึ้นดอกเบี้ยประมาณ 1ปีครึ่งถึงเกือบ 2 ปีครึ่ง และขึ้น 2.4-4.25% ขณะที่ในการขึ้นดอกเบี้ยครั้งนี้จะใช้เวลาเพียง 1.25 ปี และขึ้นถึง 500 bps
(2) ก่อนดอกเบี้ยจะถึงจุดสูงสุด ตลาดแรงงานจะดีมาก โดยพบว่า ใน 2 วัฐจักรแล้ว ก่อนที่ดอกเบี้ยจะไปสู่จุดสูงสุด ตลาดแรงงานจะยังคงแข็งแกร่งมาก แต่หลังจากดอกเบี้ยขึ้นขั้นสุดแล้ว ตลาดแรงงานจะแย่ลงอย่างรวดเร็ว โดยการจ้างงานนอกภาคเกษตรจะเข้าสู่แดนลบ บ่งชี้ว่าการจ้างงานจะหดตัว
(3) ภาพความแข็งแกร่งของภาคการผลิตกับภาคบริการไม่แตกต่างกันระหว่างครั้งนี้กับครั้งก่อน ๆ โดยในช่วงดอกเบี้ยถึงจุดสูงสุด จนถึงก่อนลดดอกเบี้ย ภาคการผลิตจะชะลอลง/หดตัวก่อน แต่ภาคบริการจะยังไปได้ แต่เมื่อเศรษฐกิจแย่จะ Fed ต้องลดดอกเบี้ยแล้ว ภาคการผลิตจะฟื้นตัวเร็วกว่าภาคบริการที่จะยังซึมยาว ทำให้กระทบต่อการบริโภคในระยะต่อไป
และ (4) ด้วยภาพดังกล่าว ทำให้ผู้เขียนเชื่อว่า ใช้เวลาอีกประมาณครึ่งปีหลังจากที่ Fed ขึ้นดอกเบี้ยครั้งสุดท้าย (ซึ่งน่าจะเป็นเดือน พ.ค. โดยดอกเบี้ยจะไปอยู่ที่ 5.13%) ก่อนที่เศรษฐกิจจะต้องแย่ลงมาก
โดยตัวเลขสำคัญคือ การจ้างงานจะต้องติดลบ และทำให้ Fed ต้องลดดอกเบี้ยเป็นครั้งแรก
โดยเราเชื่อว่า Fed จะเริ่มลดลดดอกเบี้ยครั้งแรกในเดือน พ.ย. 2023 ที่ 0.25% และ ธ.ค. ที่ 0.25% และเป็นไปได้ที่จะลดอีกอย่างน้อย 0.5% ในปี 2024
โดยเมื่อลดแล้ว ภาคการผลิตจะเริ่มฟื้นตัวดีขึ้น แต่ตัวเลขเศรษฐกิจภาคบริการ การจับจ่าย หรือการลงทุนเครื่องมือเครื่องจักรจะยังแย่ลง
ทั้งนี้ การวิเคราะห์ครั้งนี้ ยังไม่ได้พิจารณาถึงปัจจัยที่มีผลทำให้เศรษฐกิจเปลี่ยนแปลงไป
เช่น การเปิดเศรษฐกิจของจีน ความเสี่ยงภูมิรัฐศาสตร์ สงครามเย็นระหว่างสหรัฐและจีน การปรับลดกำลังการผลิตน้ำมันของ OPEC และรัสเซีย และปริมาณสต๊อกก๊าซธรรมชาติในยุโรป เป็นต้น
ปัจจัยต่าง ๆ ที่กล่าวมา จะมีผลต่อพลวัตเศรษฐกิจสหรัฐในยุคต่อไป โดยหากสงครามรุนแรงขึ้น และ/หรือ OPEC และรัสเซียปรับลดการผลิตน้ำมันมากเกินไป
และ/หรือ การเปิดเศรษฐกิจจีนทำให้ความต้องการพลังงานพุ่งสูงขึ้นมาก ขณะที่ก๊าซธรรมชาติในยุโรปลดลงอย่างรวดเร็ว ท่ามกลางการปิดท่อก๊าซของรัสเซีย
ภาพเหล่านี้อาจทำให้ราคาพลังงานพุ่งสูงขึ้นเกินกว่าคาด ผลักดันให้เงินเฟ้อพุ่งสูงขึ้นเกินคาด และทำให้ธนาคารกลางต่าง ๆ โดยเฉพาะ Fed ต้องขึ้นดอกเบี้ยแรงกว่าคาด และทำให้เศรษฐกิจหดตัวรุนแรงกว่าคาดได้เช่นกัน
กล่าวโดยสรุป ด้วยการวิเคราะห์ Heatmap ครั้งนี้ เป็นไปได้ที่เศรษฐกิจสหรัฐจะเริ่มเข้าสู่ภาวะถดถอยช่วงปลายปีนี้
นำโดยการจ้างงานที่หดตัว และลามเข้าสู่ภาคบริการ ภาคการบริโภค และเศรษฐกิจในภาพรวม ทำให้ Fed ต้องลดดอกเบี้ย และเมื่อเริ่มลดแล้ว ภาคการผลิตจะฟื้นตัวขึ้น แต่ภาคบริการและการบริโภคจะยังคงซึมยาวไปสู่ปี 2024
โดยทั้งหมดนี้ ขึ้นอยู่กับพลวัตเงินเฟ้อ รวมถึงสถานการณ์ภาคธุรกิจและการล้มละลายของธุรกิจขนาดใหญ่ในสหรัฐเป็นสำคัญ
เศรษฐกิจอเมริกาน่าจะถดถอยเป็นแน่ พี่น้องพ่อแม่โปรดเตรียมตัวป้องกัน
บทความนี้เป็นความเห็นส่วนตัวของผู้เขียน ไม่เกี่ยวข้องใด ๆ กับหน่วยงานที่ผู้เขียนสังกัดอยู่