“ธุรกิจขนส่ง” ชงดีเซล 32 บาท ผู้ผลิตชี้ราคาสินค้ายังแพงต่อ
“พลังงาน” ลดดีเซลรอบ 2 เหลือ 34 บาท มีผล 22 ก.พ. ลุ้นคลังค้ำเงินกู้ 8 หมื่นล้าน สัปดาห์หน้า ทยอยจ่ายหนี้คู่ค้าน้ำมันมาตรา 7 ล่าสุดกองทุนน้ำมันติดลบ 1 แสนล้าน “สมาคมขนส่งทางบก” ขอลดเหลือ 32 บาท แนะ “พาณิชย์” คุมราคาสินค้าลดตามน้ำมัน ผู้ผลิตชี้ทิศทางราคาสินค้ายังแพงต่อ
ราคาน้ำมันตลาดโลกปรับลดลงแต่ยังมีความผันผวน ส่งผลให้กองทุนน้ำมันและเชื้อเพลิงปรับลดราคาดีเซลลงเป็นครั้งที่ 2 ลงมาอยู่ที่ลิตรละ 34 บาท ซึ่งน้ำมันเป็นต้นทุนสำคัญของภาคธุรกิจส่งผลให้มีการพิจารณาถึงประเด็นราคาสินค้าที่ควรปรับลดลง
คณะกรรมการบริหารกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง (กบน.) ที่มีนายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เป็นประธาน เห็นชอบลดราคาขายปลีกดีเซลครั้งที่ 2 ลิตรละ 50 สตางค์ ส่งผลให้ราคาขายปลีกดีเซลลิตรละ 34 บาท มีผลวันที่ 22 ก.พ.2566 โดยลดตามราคาดีเซลตลาดโลกที่ราคาเฉลี่ยน้ำมันดีเซล (Gas Oil) วันที่ 1-13 ก.พ.2566 อยู่ที่ 106.29 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ทำให้การบริหารสภาพคล่องกองทุนดีขึ้น
นายวิศักดิ์ วัฒนศัพท์ ผู้อำนวยการสำนักงานกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง (สกนช.) เปิดเผยว่า ฐานะกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงมีแนวโน้มดีขึ้น โดยสัปดาห์วันที่ 12 ก.พ.2566 ติดลบ 108,610 ล้านบาท และเมื่อเทียบกับวันที่ 29 ม.ค.2556 ติดลบ 113,436 ล้านบาท ซึ่งที่ผ่านมาเก็บเงินเข้ากองทุนได้สัปดาห์ละ 2-3 พันล้านบาท จึงลดราคาดีเซลลง แต่ราคาน้ำมันตลาดโลกจยังผันผวนจึงต้องมอนิเตอร์ทุกวัน และจะพิจารณาปรับราคาน้ำมันอีกครั้งสัปดาห์หน้า
“คลัง”ชงค้ำกู้8หมื่นล้าน
แหล่งข่าวจาก กระทรวงการคลัง กล่าวว่า หลังจากคณะกรรมการนโยบายและกำกับการบริหารหนี้สาธารณะ เห็นชอบปรับปรุงแผนบริหารหนี้สาธารณะ โดยเพิ่มกรอบวงเงินค้ำประกันเงินกู้ให้กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงอีก 80,000 ล้านบาท เข้าไปอยู่ในแผนบริหารหนี้สาธารณะ ซึ่งเมื่อรวมค้ำประกันก่อนหน้านี้ 30,000 ล้านบาท จะค้ำประกันรวม 110,000 ล้านบาท โดยคณะรัฐมนตรี (ครม.) ให้กระทรวงการคลังประกันได้สูงสุด 150,000 ล้านบาท
ทั้งนี้ กระทรวงการคลังจะเสนอ ครม.อนุมัติกรอบวงเงินกู้ 80,000 ล้านบาท ในวันที่ 21 ก.พ.2566 เพื่อให้กองทุนน้ำมันฯ กู้เงินจากสถาบันทางการเงินมาชำระคู่ค้าน้ำมันเชื้อเพลิงตามมาตรา 7 กว่า 90,000 ล้านบาท
ผู้ขนส่งขอราคาดีเซล32บาท
นายอภิชาต ไพรรุ่งเรือง นายกสมาคมขนส่งทางบกแห่งประเทศไทย กล่าวว่า กระทรวงพลังงานควรลดดีเซลลงลิตรละ 3-4 บาท โดยที่ยังไม่ลดมากกว่านี้เพราะกองทุนติดลบ 1 แสนล้านบาท ซึ่งไม่ควรเก็บเข้ากองทุนน้ำมันฯ แบบเต็มเม็ดเต็มหน่วย และควรนำส่วนหนึ่งมาช่วยประชาชนเพราะเศรษฐกิจยังย่ำแย่ และหากต้องการกระตุ้นเศรษฐกิจควรกำหนดเพดานราคา เช่น เดิมเคยกำหนดเพดานลิตรละ 30 บาท แต่ขณะนี้ถ้าลดเหลือลิตรละ 32 บาท ถือว่ายอมรับได้
นอกจากนี้ กระทรวงพาณิชย์ ควรมาควบคุมราคาสินค้าเมื่อน้ำมันลดลงแล้ว โดยราคาสินค้าที่เคยปรับราคาขึ้นตามราคาน้ำมันควรต้องลดลงตามด้วย เช่น บะหมี่กึ่งสำเร็จรูปที่ปรับขึ้นซองละ 50 สตางค์
“เมื่อราคาน้ำมันมีขึ้นมีลง ธุรกิจขนส่งจะปรับราคาให้ผู้ว่าจ้างอยู่แล้ว ซึ่งเรามีเพดานว่าถ้าราคาน้ำมันขึ้น 1 บาทจะปรับค่าขนส่งเท่าไหร่ และในวันที่ 22 ก.พ.นี้ น้ำมันลดลงรวม 1 บาท เราจะปรับลงอัตโนมัติเช่นกัน สิ่งที่เป็นห่วงมาก คือ กระทรวงพาณิชย์ควรควบคุมราคาสินค้า โดยเฉพาะกลุ่มอาหารที่ส่วนใหญ่ขึ้นแล้วไม่ยอมลง รัฐบาลต้องแสดงฝีมือให้ทุกอย่างเดินควบคู่กันไป”
ทิศทางราคาสินค้ายังแพงต่อ
นายพันธ์ พะเนียงเวทย์ ผู้จัดการสำนักกรรมการผู้อำนวยการ บริษัท ไทยเพรซิเดนท์ฟูดส์ จำกัด (มหาชน) ผู้ผลิตบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป “มาม่า” กล่าวว่า สถานการณ์ราคาดีเซลที่ลดลงในรอบหลายเดือนไม่กระทบต่อต้นทุนบริษัทมากนัก เพราะค่าขนส่งเป็นเพียงส่วนหนึ่งและค่อนข้างน้อยเมื่อเทียบกับต้นทุนอื่น
“ต้นทุนค่าขนส่งลดลงเป็นเรื่องดี แต่มาม่ามีต้นทุนดังกล่าวน้อย จึงไม่มีผลต่อภาพรวมการผลิตสินค้า”
นายสมชาย พรรัตนเจริญ นายกสมาคมค้าส่ง-ปลีกไทย กล่าวว่า ที่ผ่านมาราคาพลังงานพุ่งขึ้นสูงมากกระทบต้นทุนการผลิตสินค้า เมื่อผู้ประกอบการแบกรับภาระไม่ไหวจึงขึ้นราคา โดยแนวโน้มราคาสินค้าปี 2566 ยังส่งสัญญาณพุ่งขึ้นต่อเนื่อง ล่าสุดผู้ผลิตผ้าอ้อมผู้ใหญ่จะขึ้นราคาเร็วๆนี้ และแจ้งให้ร้านค้าส่งเตรียมบริหารจัดการสต๊อก
ทั้งนี้ ปี 2565 ราคาพลังงานพุ่งขึ้นสูงมากทำให้สินค้าจำเป็นหลายรายการขึ้นราคา เช่น บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป สบู่ ขนมขบเคี้ยว ขณะที่ต้นปี 2566 สินค้าที่ประเดิมขยับ เช่น นมถั่วเหลืองแลคตาซอยทุกขนาด เบียร์ลีโอแบบขวด ร้านค้าทั่วไปบางแห่งในต่างจังหวัดขยับราคาขายปลีกจาก 60 บาท เป็น 65 บาท และเร็วๆนี้ กลุ่มขนมขบเคี้ยว (สแน็ค) เล็งขึ้นราคาโดยเฉพาะกลุ่มถั่วเคลือบ แต่ยังรอให้หมวดใหญ่อย่างมันฝรั่งขึ้นก่อน รวมถึงเครื่องดื่มชูกำลัง “คาราบาวแดง” ที่เคยบ่นภาระต้นทุนพุ่งทั้งพลังงาน บรรจุภัณฑ์ขวดแก้วและอะลูมิเนียม
แนะรัฐตรึงราคาสินค้า
นางสาวณัฐา ปิยะวิโรจน์เสถียร ผู้อำนวยการแผนกวางแผนกลยุทธ์ มายด์แชร์ ประเทศไทย กล่าวว่า สถานการณ์เงินเฟ้อสูงและราคาพลังงานพุ่งเป็นปัจจัยกระทบต้นทุนผลิตสินค้าทำให้สินค้าแพงขึ้น ขณะที่ภาวะเศรษฐกิจชะลอตัวมีผลต่อการจับจ่ายใช้สอยของผู้บริโภค
ทั้งนี้ จากภาวะสินค้าราคาแพงทำให้ผู้บริโภคต้องการเรียกร้องให้ภาครัฐและผู้ผลิตสินค้าตรึงราคาไว้ โดยพฤติกรรมการใช้จ่ายยอมรับว่าของแพง แต่การซื้อจำเป็นยังมี เช่น ซื้อสินค้าที่มีความคุ้มค่า มองหาสินค้าเฮ้าส์แบรนด์ สินค้าปริมาณมาก ซึ่งต่างประเทศเผชิญปัญหานี้เช่นกัน แต่ร้านค้าในสหรัฐและแคนาดาตรึงราคาขายช่วงเทศกาลเฉลิมฉลองวันสำคัญเพื่อให้ผู้บริโภคมีอำนาจซื้อ
“เนื่องจากเศรษฐกิจไม่ได้ดีนักทำให้ผู้บริโภคมองการใช้เงิน 100 บาท หรือ 1,000 บาท อาจซื้อของไม่ได้ปริมาณเท่าเดิม แต่ปัจจัยดังกล่าวไม่ทำให้หยุดการใช้จ่าย เพราะ 2-3 ปีที่เผชิญโควิด เสียสละการรัดเข็มขัดมามากแล้ว การใช้จ่ายจากนี้จะฉลาดและคุ้มค่าขึ้น”