กม.ใหม่บุคคลธรรมดา 2 คน จดทะเบียนตั้งบริษัทได้แล้ว หนุนตั้ง 'สตาร์ทอัพ'
เปิดทางบุคคล 2 คนจดทะเบียนตั้งบริษัทจำกัดมีผลบังคับแล้ว จากเดิมต้องใช้ 3 คน เอื้อเปิดกิจการขนาดเล็กหรือสตาร์ทอัพง่ายขึ้นส่งผลดีต่อเศรษฐกิจระยะยาว
นางสาวไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า รัฐบาลได้ดำเนินการปรับปรุงกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการลดขั้นตอน อุปสรรคเพื่ออำนวยความสะดวกในการประกอบธุรกิจและทยอยมีผลบังคับใช้อย่างต่อเนื่อง โดยล่าสุดพระราชบัญญัติ(พ.ร.บ.) แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่23) พ.ศ. 2565 ซึ่งมีสาระสำคัญในการแก้ไขกฎหมายว่าด้วยหุ้นส่วนบริษัทได้เริ่มมีผลบังคับ โดยผลของกฎหมายจะเอื้อให้เกิดการก่อตั้งธุรกิจง่ายขึ้น มีความคล่องตัว ลดค่าใช้จ่ายและต้นทุนในการดำเนินงาน สนับสนุนให้ภาคธุรกิจเป็นกลไกสำคัญสนับสนุนต่อการเติบโตของเศรษฐกิจในระยะยาว
สำหรับ พ.ร.บ. แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่ 23)ฯ ได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เมื่อ 8 พ.ย. 65 กำหนดให้มีผลบังคับเมื่อพ้นกำหนด 90 วันนับแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษา หรือมีผลบังคับตั้งแต่วันที่ 7 ก.พ. 66 เป็นต้นมา ได้มีการปรับปรุงแก้ไขในหลายประเด็น อาทิ การลดจำนวนขั้นต่ำของผู้เริ่มก่อตั้งบริษัทเป็น 2 คน จากเดิมที่กำหนดขั้นต่ำไว้ที่ 3 คน ซึ่งเกณฑ์ในเรื่องนี้จะทำให้มีการจัดตั้งธุรกิจได้ง่ายเอื้อต่อการเกิดธุรกิจขนาดเล็กหรือวิสาหกิจเริ่มต้น (Start Up) มากขึ้น
กฎหมายยังมีการปรับปรุงให้สอดคล้องกับเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงไป โดยกำหนดวิธีประชุมกรรมการให้สามารถดำเนินการประชุมผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ได้ด้วย ส่วนการส่งคำบอกกล่าวเรียกประชุมใหญ่นั้นได้กำหนดวิธีบอกกล่าวเรียกประชุมใหญ่เป็น 2 กรณี ตามชนิดใบหุ้น โดยกรณีผู้ถือหุ้นชนิดระบุชื่อมีการลดขั้นตอนการพิมพ์โฆษณาในหนังสือพิมพ์ ส่วนกรณีหุ้นชนิดผู้ถือ ได้กำหนดให้มีการลงโฆษณาในหนังสือพิมพ์แห่งท้องที่หรือโฆษณาในสื่ออิเล็กทรอนิกส์ก็ได้
นอกจากนี้ ยังมีบทบัญญัติที่เอื้อต่อความคล่องตัวอื่นๆ เช่น การกำหนดให้หนังสือบริคณห์สนธิสิ้นสุดลงในกรณีที่ไม่ดำเนินการจดทะเบียนตั้งบริษัทภายใน 3 ปี ซึ่งจะส่งผลดีต่อผู้ประกอบการรายอื่นๆ ที่ต้องการใช้ชื่อบริษัทชื่อเดียวกับบริษัทที่ได้จดทะเบียนหนังสือบริคณห์สนธินั้น รวมถึงการกำหนดบทบัญญัติเกี่ยวกับการควบรวมบริษัทที่ให้สามารถรวมกันได้ใน 2 ลักษณะ คือ การควบบริษัท(รวมกันแล้วเกิดเป็นนิติบุคคลใหม่) กับ การผนวกบริษัท (บริษัทหนึ่งยังคงมีสภาพเป็นนิติบุคคล
ส่วนบริษัทอื่นสิ้นสภาพนิติบุคคลไป) จากเดิมที่มีเฉพาะลักษณะการควบบริษัทเท่านั้น ซึ่งบทบัญญัติเรื่องนี้จะช่วยลดภาระให้ไม่ต้องมีการจดทะเบียนหรือดำเนินการส่วนที่เกี่ยวเนื่องกับนิติบุคคลใหม่เมื่อต้องมีการควบรวมกิจการ
พร้อมกันนี้ ได้มีบัญญัติเพื่อคุ้มครองผู้ถือหุ้นโดยการกำหนดระยะเวลาในการจ่ายปันผลให้ต้องแล้วเสร็จภายใน 1 เดือนนับแต่วันประชุมใหญ่หรือกรรมการลงมติจากเดิมที่ไม่ได้มีการกำหนดไว้ ซึ่งจะเป็นการคุ้มครองสิทธิผู้ถือหุ้นรายย่อยให้ได้รับเงินปันผลมากขึ้น
สำหรับผู้สนใจเกี่ยวกับข้อกฎหมายสามารถ คลิ๊กที่ลิงค์ เพื่อศึกษาในรายละเอียดต่อไป