บริษัทเทคฯ จีนจ่อพัฒนา ‘ChatGPT’ ของตัวเอง ด้านรัฐบาลจีนจับตาใกล้ชิด 

บริษัทเทคฯ จีนจ่อพัฒนา ‘ChatGPT’ ของตัวเอง ด้านรัฐบาลจีนจับตาใกล้ชิด 

Baidu, Alibaba, JD.com, NetEase บริษัทเทคฯ ของจีน จ่อพัฒนาแพลตฟอร์มคล้าย ChatGPT หวังเข้าตลาดเอไอสู้กับสหรัฐ ด้านกูรูประเมิน ChatGPT เวอร์ชันจีนแตกต่างจากของสหรัฐแน่นอน เหตุรัฐบาลมีอำนาจเซนเซอร์การเข้าถึงอินเทอร์เน็ต และหากพัฒนาเสร็จต้องรายงานต่อหน่วยงานกำกับดูแล

KEY POINTS

  • Baidu, Alibaba, JD.com และ NetEase บริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่ของจีน ประกาศพัฒนา ChatGPT เวอร์ชันของตัวเอง
  • อย่างไรก็ตาม ซีอีโอบริษัทดังกล่าวยังไม่ให้ความชัดเจนเรื่องแหล่งข้อมูลของ ChatGPTเวอร์ชันของตัวเอง และหลีกเลี่ยงไม่กล่าวถึงประเด็นความโปร่งใสและเปิดเผยของแพลตฟอร์ม
  • ผู้เชี่ยวชาญชี้ ChatGPT เวอร์ชันจีนแตกต่างจากของสหรัฐแน่นอน เพราะรัฐบาลเซนเซอร์การเข้าถึงอินเทอร์เน็ตในจีน ส่งผลให้แหล่งข้อมูลมีเพียงแหล่งที่รัฐบาลยอมรับ

ช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมาบริษัทเทคโนโลยีขนาดใหญ่สัญชาติจีน ไม่ว่าจะเป็น Baidu, Alibaba, JD.com และ NetEase ประกาศว่าสนใจพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่มีต้นแบบมาจาก ChatGPT แชทบอทจากปัญญาประดิษฐ์ (เอไอ) โดยหวังเป็นส่วนหนึ่งของตลาดเอไอที่กำลังร้อนแรงอยู่ในขณะนี้ อย่างไรก็ตาม บริษัทเทคโนโลยีดังกล่าวยังไม่ระบุว่าจะพัฒนาแพลตฟอร์มที่ตอบคำถามได้ทุกคำถาม (All-Encompassing Platforms) เหมือนต้นฉบับหรือไม่ โดยระบุเพียงบางฟีเจอร์ที่จะพัฒนาเท่านั้น 

นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่า หากบริษัทฯ พัฒนาแชทบอทที่ตอบได้ทุกคำถามเหมือนเวอร์ชันสหรัฐ อาจสร้างความกังวลให้รัฐบาลจีนที่ตั้งหน้าตั้งตาเซนเซอร์ข้อมูลในอินเทอร์เน็ตอย่างจริงจัง 

พอล ทริโอโล หัวหน้าฝ่ายนโยบายเทคโนโลยีที่อัลไบรท์ สโตนบริดจ์ บริษัทให้คำปรึกษาด้านธุรกิจ สัญชาติอเมริกัน กล่าวว่า “จากการที่รัฐบาลจีนใช้กฎหมายและข้อบังคับเพื่อควบคุมแพลตฟอร์มเทคโนโลยีและอัลกอริธึมเอไออย่างหนักในช่วงที่ผ่านมา ผมมองว่าบริษัทฯ อาจไม่กล้าพัฒนาแพลตฟอร์มที่ขัดกับกฎระเบียบของรัฐบาล ไม่เช่นนั้นจะเป็นการพาบริษัทตัวเองไปตกที่นั่งลำบากเหมือนกับที่ Ant Group เจอในช่วงที่ผ่านมา”

“ลักษณะการตอบคำถามของ ChatGPT เวอร์ชันสหรัฐที่ตรงไปตรงมา อาจเข้าข่ายสุ่มเสี่ยงกระทบความมั่นคงของรัฐบาลจีน และทำให้รัฐบาลจีนกังวล”

อนึ่ง รัฐบาลจีนมีอำนาจควบคุมเนื้อหาบนอินเทอร์เน็ตเต็มหนึ่งร้อยเปอร์เซ็นต์ และรัฐบาลทำมักปิดกั้นการเข้าถึงเว็บไซต์ เซนเซอร์เนื้อหา หรือเซนเซอร์คำบางคำไม่ให้สามารถเสิร์ชได้ และแม้รัฐบาลยังไม่ปิดกั้นการเข้าถึง ChatGPT ของสหรัฐ แต่บริษัท OpenAI ก็ไม่อนุญาตให้ผู้ใช้งานในจีนลงทะเบียนเพื่อเข้าใช้งานอยู่ดี

พอล ทริโอโล กล่าวต่อว่า “ลองนึกดูว่า ChatGPT พัฒนามาจากการทำงานภายใต้แหล่งของมูลของโลกตะวันตกที่สามารถเข้าถึงข้อมูลทุกอย่างได้แบบเสรี จนกระทั่งได้รับขนานนามว่าเป็นเสิร์ชเอนจินที่ทรงพลังมากกว่า Google เสียอีก”

 “ทว่าพอมาเป็นบริบทของจีน ข้อมูลต่างๆ ไม่ได้เปิดเสรีเช่นนั้น ทั้งหมดอาจเป็นงานยากของรัฐบาล และนักพัฒนาซอฟต์แวร์ของบริษัทเทคโนโลยีเหล่านั้นในการทำให้แพลตฟอร์มที่จะพัฒนามีประสิทธิภาพเทียบเท่าเวอร์ชันต้นฉบับ”

ท่าทีของกลุ่มบริษัทเทคโนโลยี

ท่าทีดังกล่าวของกลุ่มบริษัทเทคโนโลยีไม่ว่าจะเป็น Baidu, Alibaba, JD.com หรือ NetEase ออกมาท่ามกลางการที่รัฐบาลจีนกวดขันและตรวจสอบบริษัทเทคโลยีอย่างเข้มข้นตลอดช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ผ่านการออกกฎระเบียบที่มุ่งต่อต้านการผูกขาดข้อมูล (Data Antitrust)  และการปกป้องข้อมูล (Data Protection) 

บทวิเคราะห์ของสำนักข่าวซีเอ็นบีซี ระบุว่า รัฐบาลจีนประสบความสำเร็จอย่างมากในการควบคุมบริษัทเทคโนโลยีในประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากพิจารณาจากท่าทีอันคลุมเครือของกลุ่มบริษัทเทคโนโลยีต่อประเด็นเรื่องความโปร่งใสและเปิดเผยของข้อมูลในแพลตฟอร์มเสมือน ChatGPT ที่กำลังจะพัฒนา

บริษัทเทคฯ จีนจ่อพัฒนา ‘ChatGPT’ ของตัวเอง ด้านรัฐบาลจีนจับตาใกล้ชิด 

ยกตัวอย่างเช่น Alibaba ประกาศผ่านระบบคลาวด์ของบริษัทฯ เพียงแค่ว่า บริษัทฯ กำลังพัฒนาเทคโนโลยีที่คล้ายกับ ChatGPT ชนิดที่สามารถทำงานร่วมกับผลิตภัณฑ์ในเครือจากระบบคลาวด์คอมพิวติงได้ ขณะที่ NetEase บริษัทพัฒนาเกมและอีคอมเมิร์ซสัญชาติจีนระบุว่ากำลังพัฒนา Youdao เสิร์ชเอนจินซึ่งให้บริการด้านการศึกษาด้วยระบบเจนเนอเรทีฟเอไอเพื่อสร้าง ‘เครื่องมือ’ ที่เป็นประโยชน์ต่อภาคการศึกษา ส่วน JD.com อีคอมเมิร์ซยักษ์ใหญ่ของจีนประกาศว่าจะเปิดตัวแชทบอทที่คล้าย ChatGPT สำหรับภาคอุตสาหกรรมค้าปลีกและการเงินเป็นหลัก

บทวิเคราะห์ของสำนักข่าวซีเอ็นบีซี ระบุว่า เห็นได้อย่างชัดเจนว่าบริษัทเทคโนโลยีเหล่านั้นพยายามพัฒนาแพลตฟอร์มที่ใช้สำหรับองค์กรใดองค์กรหนึ่ง และหลีกเลี่ยงการกล่าวถึงประเด็นที่ละเอียดอ่อนทางการเมือง เนื่องจากบริษัทฯ กำลังพยายามสร้างสมดุลระหว่างการลงทุนในเทคโนโลยี พร้อมไปกับการหลีกเลี่ยงความขัดแย้งทางการเมืองที่อาจทำให้บริษัทประสบกับปัญหาได้

ซิน ซุน ศาสตราจารย์ด้านธุรกิจในจีนและเอเชียตะวันออก มหาวิทยาลัยคิงส์คอลเลจ ประเทศอังกฤษ กล่าวว่า “บริษัทเทคโนโลยีเหล่านั้นอยู่ในสภาวะหนีเสือปะจระเข้ ด้านหนึ่งก็ต้องพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อทำให้ประชาชนและนักลงทุนสนใจ ผ่านการทำทุกวิถีทางไม่ให้แพลตฟอร์มของตัวเองล้าหลัง” 

“แต่อีกด้านหนึ่งก็ต้องระมัดระวังรัฐบาลจีนที่กำลังจับจ้องอยู่ บวกกับต้องทำให้ไม่ถูกมองว่าเป็นแพลตฟอร์มที่กระทบความมั่นคงของรัฐ หรือแม้กระทั่งต้องสร้างเทคโนโลยีที่ไม่เข้าไปเปลี่ยนแปลงภูมิทัศน์ทางการเมืองและกฎหมายที่เป็นอยู่ในปัจจุบันด้วย”

ซิน ซุน กล่าวต่อว่า จากการบาลานซ์ระหว่างสองฝั่งที่กล่าวไปข้างต้นอาจทำให้ ChatGPT ของจีนแตกต่างจากของสหรัฐอย่างสิ้นเชิง ภายใต้บริบทการเซนเซอร์ข้อมูลในอินเทอร์เน็ตของจีน

ความสมดุลระหว่างการ ‘การเมือง’ และ ‘เทคโนโลยี’

อย่างไรก็ตาม จีนยังคงต้องการเร่งพัฒนาระบบปัญญาประดิษฐ์เพื่อเข้ามาแข่งขันกับสหรัฐ ในสงครามภูมิรัฐศาสตร์และสงครามการค้าในปัจจุบัน แม้รัฐบาลยังคงจับจ้องอย่างไม่ลดละสายตา และออกกฎหมายมากมายเพื่อ ‘กำกับดูแล’ การมีอยู่ของเทคโนโลยีเหล่านั้นก็ตาม คาดว่าทั้งหมดเป็นลักษณะของ ‘ความสมดุล’ ที่รัฐบาลจีนพยายามสร้างให้เกิดขึ้นในประเทศ

หากย้อนกลับไปเมื่อ 10 ม.ค. ที่ผ่านมา หน่วยงานกำกับดูแลไซเบอร์สเปซของจีน หรือ Cyberspace Administration of China (CAC) ออกกฎหมายควบคุมเทคโนโลยี ‘Deep Synthesis’ หรือเทคโนโลยีการสร้างภาพและวิดีโอผ่านเอไอ โดย CAC ระบุว่า ต้องใส่ลายน้ำในผลงานที่ผลิตออกมาโดยเอไอทุกครั้งเพื่อไม่ให้ประชาชนเกิดความเข้าใจผิด

ในขณะที่เมื่อปีที่แล้ว CAC ได้ออกกฎหมายให้บริษัทเทคโนโลยีในประเทศต้องรายงานกฎเกณฑ์และรายละเอียดที่บริษัทฯ ใช้เพื่อแนะนำสินค้าหรือบริการให้ประชาชนผ่านระบบ ‘อัลกอริธึมการแนะนํา’ หรือ Recommendation Algorithms ต่อเจ้าพนักงาน ซึ่งคาดว่ากฎระเบียบเหล่านี้ก็ต้องนำมาปรับใช้ในอนาคตกลับแพลตฟอร์มที่พัฒนาขึ้นมาให้คล้ายคลึงกับ ChatGPT ของจีนเช่นเดียวกัน

ภาวะหุ้นเทคฯ จีน

หลังจากมีข่าวการพัฒนา ChatGPT ออกมา วันนี้ เวลา 12.00 น. เว็บไซต์อินเวสติงดอทคอม รายงานภาวะหุ้นเทคโนโลยี สัญชาติจีน ดังนี้ 

Alibaba Group Holding Ltd (9988) ในตลาดหลักทรัพย์ฮ่องกง ปรับตัวลดลง 0.32 ดอลลาร์ฮ่องกง (ประมาณ 1.38 บาท) หรือ 0.29% มาอยู่ที่  103.70 ดอลลาร์ฮ่องกง (ประมาณ 446.91 บาท)

Alibaba Group Holdings Ltd ADR (BABA) ในตลาดหลักทรัพย์นิวยอร์ก ขยับขึ้น 1.14 ดอลลาร์ (ประมาณ 37.62 บาท) หรือ 1.10% มาอยู่ที่  104.79 ดอลลาร์ (ประมาณ 3,458.07 บาท)

Baidu Inc (BIDU) ในกระดานแนสแด็ก สหรัฐ ปรับตัวสูงขึ้น 7.87 ดอลลาร์ (ประมาณ 259.71 บาท) หรือ 5.66% มาอยู่ที่ 146.86 ดอลลาร์ (ประมาณ 4,846.38 บาท)

JD.com Inc Adr (JD) ในกระดานแนสแด็ก สหรัฐ ขยับตัวขึ้น 0.14 ดอลลาร์ (ประมาณ 4..62 บาท) หรือ 0.27% มาอยู่ที่ 52.43 ดอลลาร์ (ประมาณ 1,730.19 บาท)

NetEase Inc (9999) ในตลาดหลักทรัพย์ฮ่องกง ย่อตัวลง 0.40 ดอลลาร์ฮ่องกง (ประมาณ 1.72 บาท) หรือ 0.29% มาอยู่ที่ 138.60 ดอลลาร์ฮ่องกง (ประมาณ 597.32 บาท)

NetEase Inc (NTES) ในกระดานแนสแด็ก สหรัฐ ขยับขึ้น 1.16 ดอลลาร์ (ประมาณ 38.28 บาท) หรือ 1.34% มาอยู่ที่ 87.86 ดอลลาร์ (ประมาณ 2,899.38 บาท)