ผู้ส่งออกไทยประเมิน สงครามรัสเซีย-ยูเครนไม่จบง่าย

ผู้ส่งออกไทยประเมิน สงครามรัสเซีย-ยูเครนไม่จบง่าย

สรท.ประเมิน 1 ปี สงครามรัสเซีย-ยูเครน กระทบทั่วโลก คาดปีนี้ยังไม่ยุติง่ายๆ ต่างฝ่ายผลัดกันรุกผลัดกันรับ ชี้รัสเซียมีอาวุธนิวเคลียร์เป็นไม้เด็ด เผยผู้ส่งออกไทยเร่งปรับตัวรับมือ แนะรัฐเร่งเปิดเจรจากรอบการค้าสร้างแต้มต่อ

 Key points

  •  สงครามรัสเซีย-ยูเครนส่งผลกระทบต่อราคาพลังงานในไทย
  •  สรท.ประเมินว่าปี 2655 รัสเซีย-ยูเครนต่างฝ่ายผลัดกันรุกผลัดกันรับ
  •  รัสเซียมีไม้เด็ดที่ยังไม่นำออกมาใช้ คือ อาวุธนิวเคลียร์
  •  ผู้ส่งออกไทยเร่งปรับตัวรับมือตลอดช่วงสงคราม 1 ปี ที่ผ่านมา

การสู้รบในสงครามรัสเซียและยูเครนกำลังจะครบ 1 ปี หลังจากเริ่มมาตั้งแต่รัสเซียยกทัพบุกภูมิภาคดอนบาสทางตะวันออกแทน หลังจากที่รัสเซียเริ่มเปิดฉากบุกยูเครนอย่างเต็มรูปแบบเมื่อ 24 ก.พ. 2565 และได้มุ่งหน้าบุกไปยังเมืองต่างๆ รวมถึงกรุงเคียฟด้วย จนถึงบัดนี้การสู้รบยังไม่ยุติลง 

สำหรับสถานการณ์ดังกล่าวส่งผลกระทบที่เกิดขึ้นทั่วโลกโดยเฉพาะต่อการค้าระหว่างประเทศและปัจจัยที่เกี่ยวเนื่องซึ่งอาจทำให้มีการหยุดชะงักหรือชะลอตัวในภาคการผลิตเพื่อส่งออกจึงต้องติดตามใกล้ชิด อาทิ ราคาพลังงาน ทั้งน้ำมันและก๊าซธรรมชาติที่ทรงตัวระดับสูง 

นายชัยชาญ เจริญสุข ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) กล่าวว่า รัสเซียเป็นผู้ส่งออกพลังงานหรือน้ำมันดิบอันดับ 3 ของโลก ส่งผลต่อต้นทุนการผลิตสินค้าเกือบทุกประเภทรวมถึงต้นทุนการขนส่งที่ต้องปรับตัวสูงขึ้นตามกลไกราคาพลังงานในตลาดโลก โดยในช่วงสถานการณ์สงครามครุกรุ่นอยู่นั้น ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกจะเคลื่อนไหวเฉลี่ยเกินกรอบ 100-105 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ในทันที ก่อนจะค่อยๆ ทยอยปรับลดลงมา

ปัญหาวัตถุดิบขาดแคลนและราคาผันผวน อาทิ แร่สำหรับผลิตเซมิคอนดักเตอร์ เหล็ก แร่และโลหะหายาก สินค้าธัญพืชที่เป็นวัตถุดิบ และปุ๋ย เป็นต้น รวมถึงสินค้าขั้นต้นและวัตถุดิบในการผลิตหลักของห่วงโซ่อุปทานโลกส่งผลต่อการผลิตในห่วงโซ่อุปทานเป็นไปได้ยากลำบากมากขึ้น ส่งผลให้พลังงานไม่สามารถซัพพลายให้ทั่วโลกได้ 

ผู้ส่งออกไทยประเมิน สงครามรัสเซีย-ยูเครนไม่จบง่าย

 

รวมทั้งเกิด Supply shortage ในระยะเริ่มต้น สินค้า ภาคการผลิตที่ต้องใช้พลังงานต้องปรับตัวสูงขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ส่วนหนึ่งมาจากต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้น สะท้อนออกมาในรูปของภาวะข้าวของเครื่องใช้ปรับตัวสูงขึ้นเป็นเงาตามตัว ผู้บริโภคต้องซื้อสินค้าในราคาที่สูงขึ้นแต่ปริมาณเท่าเดิม สะท้อนให้เกิดภาวะเงินเฟ้อตามมาเป็นลำดับ

ส่วนปัญหาการชำระเงินระหว่างประเทศ ซึ่งชาติตะวันตกและพันธมิตรมีมาตรการคว่ำบาตรและการใช้เครื่องมือทางการเงินสำหรับมาตราการนี้ โดยการตัดรัสเซียออกจากระบบ The Society for Worldwide Interbank Financial Telecommunication (SWIFT) เมื่อวันที่ 26 ก.พ.2565 โดยคณะกรรมาธิการยุโรป (EU), ฝรั่งเศส, เยอรมนี, อิตาลี, สหราชอาณาจักร, แคนาดาและสหรัฐ ออกแถลงการณ์ว่าดำเนินการตัดธนาคารรัสเซียบางแห่งออกจากระบบ SWIFT เพื่อเป็นการสร้างหลักประกันว่าธนาคารรัสเซียจะถูกตัดออกจากระบบการเงินสากล และจะส่งผลให้ไม่สามารถทำธุรกรรมในระดับโลกได้อีกต่อไป

ขณะที่ยูเครน ถือเป็นหนึ่งในประเทศที่ส่งออกวัตถุดิบทางการเกษตรอันดับต้นของโลกเช่นเดียวกันรัสเซีย เนื่องจากทั้ง 2 ประเทศมีลักษณะภูมิประเทศที่คล้ายคลึงกัน เช่น ข้าวสาลี ที่ถือเป็นสินค้าส่งออกหลักของประเทศ แต่เนื่องจากผลกระทบของสงครามทำให้ผลิตเสียหายอย่างหนักจนไม่สามารถส่งออกได้ 

ส่วนรัสเซียได้ทำลายโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมขนส่งของยูเครนไปเป็นที่เรียบร้อย ทำให้ไม่สามารถส่งออกสินค้าดังกล่าวได้ ส่งผลให้วัตถุดิบตั้งต้นอย่างข้าวสาลีขาดแคลนและมีราคาสูงขึ้นในตลาดโลก

สำหรับแนวโน้มสงครามรัสเซีย-ยูเครนในปี 2023 นั้นมองว่า ต่างฝ่ายยังคงเดินหน้าและหยั่งเชิงกันไปเรื่อยๆ ผลัดกันรุก ผลัดกันรับ ผลัดกันแพ้ ผลัดกันชนะ ขณะที่ผู้คนต่างเริ่มชินชากับข่าวการสู้รบดังกล่าวไปพอสมควร รวมถึงชาติตะวันตกบางชาติก็เริ่มมีการลดบทบาทการสนับสนุนทางการทหารให้กับยูเครน เนื่องจากสงครามมีความยืดเยื้อและไม่มีทีท่าว่าจะจบลงง่ายๆ ในมุมของรัสเซียยังคงมีไม้เด็ดที่หากนำออกมาใช้แล้วจะส่งผลให้เกิดความวุ่นวายไปทั่วโลกนั้นคือ "อาวุธนิวเคลียร์"

รวมทั้งชาติตะวันตกก็พร้อมตอบโต้ด้วยอาวุธในลักษณะเดียวกันทันที นั้นย่อมส่งให้สงครามอาจปานปลายและลุกลามออกยังประเทศอื่นๆ อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ หลายฝ่ายๆ มองว่ามีความเป็นไปได้ว่าในวาระที่ครบ 1 ปี ของการทำสงครามรัสเซียอาจเปิดฉากโหมโรงยูเครนอีกระลอก ทั้งนี้เพื่อเป็นการแสดงแสนยานุภาพที่เหนือกว่ายูเครนในทุกมิติและท่าทีที่ยังคงยืนกรานที่จะยึดพื้นที่บางส่วนกลับมาเป็นของรัสเซียให้ได้

ในแง่ของเศรษฐกิจพบว่าสงครามที่ยืดเยื้อจะฉุดรั้ง GDP ของยูเครนปี 2565 ลดลง 35% ขณะที่คาดการณ์ GDP ปี 2566 ของประเทศยูเครน นักเศรษฐศาสตร์หลายสำนักยังไม่สามารถคาดการณ์ได้เนื่องจากยูเครนยังอยู่ในสถานะที่ไม่สามารถดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจได้ ส่วนเศรษฐกิจรัสเซีย GDP ปี 2565 ลดลง 2.2% ขณะที่คาดการณ์ปี 2566 IMF คาดการณ์เศรษฐกิจรัสเซียเติบโตที่ 0.3%

สำหรับผลกระทบต่อการส่งออกของไทยพิจารณาจากมาตรการตอบโต้โดยการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจ (Economic Sanctions) จากนานาประเทศ อาทิ ราคาน้ำมันสะท้อนต่อต้นทุนพลังงาน ต้นทุนธุรกิจ ราคาสินค้า และอัตราเงินเฟ้อ ซึ่งเป็นด้านที่กระทบต่อเศรษฐกิจไทยมากที่สุด ขณะที่ตลาดเงินตลาดทุนของไทยมีความผันผวนสูงขึ้น ทำให้นักลงทุนอาจย้ายไปสู่สินทรัพย์ที่มีความปลอดภัยสูง

ผู้ประกอบการที่มีการค้าขายกับรัสเซียและยูเครน ส่วนใหญ่จะอยู่ในกลุ่มธุรกิจอยู่ในอุตสาหกรรมเกี่ยวข้องกับการเกษตร อุปกรณ์ก่อสร้าง ผลิตภัณฑ์เภสัชภัณฑ์ 

อย่างไรก็ตาม มูลค่าการค้าขายกับคู่ค้าในรัสเซียและยูเครนมีสัดส่วนน้อยเมื่อเทียบกับมูลค่าการค้าต่างประเทศทั้งหมด ขณะที่ด้านการทำธุรกรรมการค้ากับทั้ง 2 ประเทศ ยังมีความไม่แน่นอน กรณีมีการนำเข้า-ส่งออก อาจมีความเสี่ยงได้รับเงินล่าช้า ทั้งกรณีคู่ค้าที่อยู่ในประเทศไทย รัสเซีย ยูเครน

ด้านการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศ ปัจจุบันขนส่งสินค้าไป 2 ประเทศยังมีปริมาณค่อนข้างน้อย ซึ่งส่วนใหญ่เป็นกลุ่มสินค้าอุปโภคบริโภคหรือสินค้าที่ทั้งสองประเทศมีความต้องการสูงและอนุญาตให้ส่งสินค้าเข้าไปได้เท่านั้น ขณะเดียวกันสายเรือหลายสายลดการให้บริการในเส้นทางดังกล่าวลงพอสมควรตั้งแต่สงครามเริ่มต้นเมื่อต้นปี 2565 ที่ผ่านมา

ด้านมูลค่าการค้าระหว่างประเทศของไทยกับรัสเซียปี 2565 รัสเซียเป็นคู่ค้าอันดับที่ 37 ของไทยเมื่อเทียบกับปี 2564 อยู่ที่อันดับ 30 โดยมีมูลค่าการส่งออกปี 2565 อยู่ที่ 585 ล้านดอลลาร์ ลดลง 43% เมื่อเทียบกับปี 2564 ขณะที่การนำเข้าปี 2565 มีมูลค่า 1,269 ล้านดอลลาร์ ลดลง 26 %เมื่อเทียบกับปี 2564 ขณะที่มูลค่าการค้าระหว่างประเทศของไทยกับยูเครน ปี 2565 มูลค่าน้อยมากทำให้ยูเครนหลุดจากอันดับประเทศคู่ค้าที่สำคัญของไทยในหนึ่งร้อยอันดับแรก เมื่อเทียบกับปี 2564 ยูเครนเป็นคู่ค้าอันดับที่ 62 ของไทย มูลค่าการส่งออกปี 2565 อยู่ที่ 38 ล้านดอลลาร์ลดลง 71 % เมื่อเทียบกับปี 2564 ขณะที่การนำเข้าปี 2565 มีมูลค่า 65 ล้าน ลดลง 75% เมื่อเทียบกับปี 2564

ทั้งนี้ สรท.ข้อเสนอแนะที่สำคัญต่อเพื่อรับมือกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นและอาจยืดเยื้อ โดยกลยุทธ์เชิงรับ 

1.เร่งอำนวยความสะดวกการส่ง Multimodal transportation โดยผ่านประเทศจีนไปยังรัสเซีย 2.เติมสภาพคล่องให้กับผู้ส่งออก 3.อำนวยความสะดวกทางการค้าชายแดนให้มากขึ้น 3.ติดตามการเคลื่อนไหวของอัตราแลกเปลี่ยนอย่างใกล้ชิด และ5.ส่งเสริมการปรับเปลี่ยนเครื่องจักรและอนุรักษ์พลังงาน

สำหรับกลยุทธ์เชิงรับ นั้น ต้องเสาะหาโอกาสขยายตลาดตะวันออกกลางและแอฟริกา ขยายการใช้ประโยชน์ตลาดอาร์เซ็ป และเร่งขับเคลื่อนทางการค้ากรอบต่างๆ อาทิ ไทย-ปากีสถาน ไทย-สหราชอาณาจักร ไทย-ตุรกี ไทย-เอฟต้า ไทย-กลุ่มประเทศอ่าวอาหรับ(GCC) ซีพีทีพีพี เป็นต้น

2.เพื่อรับมือต่อการเพิ่มขึ้นของราคาสินค้าทุน สรท.ขอให้รัฐพิจารณาอนุญาตขึ้นราคาสินค้าได้ตามสัดส่วนราคาต้นทุน วัตถุดิบและต้นทุนพลังงานที่ปรับตัวสูงอย่างแท้จริงทั่วโลก เนื่องจากผู้ประกอบการไม่สามารถแบกรับต้นทุนการผลิตที่มีความผันผวนในช่วงสถานการณ์ปัจจุบันที่เกิดขึ้น