รฟม.ขู่ฟ้องกลับ 'ชูวิทย์' ยันไม่มีเงินทอนรถไฟฟ้าสายสีส้ม 3 หมื่นล้าน
รฟม.จ่อฟ้อง “ชูวิทย์” จี้เปิดหลักฐานเงินทอน 3 หมื่นล้านบาท ประมูลรถไฟฟ้าสายสีส้ม ยันกระบวนการทำงานที่ผ่านมาอยู่ในขั้นตอนยุติธรรมตรวจสอบ รอศาลปกครองสูงสุดตัดสินชี้ขาด ก่อนเสนอ ครม.ลงนามสัญญา
นายภคพงศ์ ศิริกันทรมาศ ผู้ว่าการการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) เปิดเผยถึงกรณีที่นายชูวิทย์ กมลวิศิษฎ์ ได้แถลงข่าวที่บริเวณหน้าทำเนียบรัฐบาลเกี่ยวกับการดำเนินการคัดเลือกเอกชน โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์ - มีนบุรี (สุวินทวงศ์) เมื่อวันที่ 21 ก.พ. 2566 นั้น รฟม.ขอชี้แจงข้อเท็จจริง โดยแบ่งออกเป็น 5 ประเด็นสำคัญ ประกอบด้วย
1. ประเด็นการปรับปรุงเกณฑ์การประเมินข้อเสนอในการคัดเลือกเอกชนครั้งที่ 1
รฟม. ได้ปรับปรุงเอกสารสำหรับการคัดเลือกเอกชน (RFP) เฉพาะวิธีการประเมินข้อเสนอ ไม่ได้เปลี่ยนแปลงการเสนอผลตอบแทนให้แก่ภาครัฐตามที่นายชูวิทย์ฯ กล่าวอ้างแต่อย่างใด และได้ขยายระยะเวลาการยื่นซองข้อเสนอออกไปอีก 45 วัน อีกทั้งคดีนี้อยู่ในขั้นตอนพิจารณาตามกระบวนการยุติธรรมศาลปกครองสูงสุด ปัจจุบันอยู่ระหว่างรอศาลปกครองสูงสุดพิพากษา
ขณะที่ความคืบหน้าของคดีล่าสุด เมื่อวันที่ 15 ก.ย.2565 ศาลปกครองสูงสุดได้นั่งพิจารณาคดีครั้งแรก ตุลาการผู้แถลงคดีมีความเห็นว่า คณะกรรมการคัดเลือกตามมาตรา 36 แห่งพระราชบัญญัติการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ. 2562 โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์ – มีนบุรี (สุวินทวงศ์) (คณะกรรมการคัดเลือกฯ) และ รฟม. ดำเนินการแก้ไขเอกสาร RFP เพิ่มเติมครั้งที่ 1 โดยชอบด้วยกฎหมายแล้ว และไม่ทำให้ผู้ยื่นข้อเสนอได้รับความเสียหาย และไม่เอื้อประโยชน์ให้กับผู้ใด
สำหรับประเด็นที่นายชูวิทย์ฯ ได้พูดพาดพิงถึงมติที่ประชุมศาลปกครองสูงสุดนั้น ถือเป็นกระบวนการภายในของศาลปกครองที่ไม่เปิดเผยแก่บุคคลภายนอก ข้อเท็จจริงเป็นอย่างไรต้องรอให้ปรากฏในคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดต่อไป
2. ประเด็นการยกเลิกการคัดเลือกเอกชนครั้งแรก
ประเด็นนี้มีคดีฟ้องร้องในศาลปกครอง โดยมีความคืบหน้าล่าสุดเมื่อวันที่ 16 ก.พ. 2566 ตุลาการผู้แถลงคดี ศาลปกครองสูงสุด ได้แถลงสรุปว่า การยกเลิกการคัดเลือกเอกชนฯ ครั้งแรก ชอบด้วยข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายแล้ว และเป็นการแก้ไขปัญหาอุปสรรคที่เกิดขึ้นอันเป็นไปเพื่อประโยชน์ของรัฐและประชาชน โดยเห็นควรให้ยกฟ้อง อย่างไรก็ตาม คดีดังกล่าวยังอยู่ระหว่างรอคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุด
3. ประเด็นการคัดเลือกเอกชนครั้งใหม่มีการล็อกสเปค
ประเด็นนี้มีคดีฟ้องร้องในศาลปกครอง โดยที่ประชุมใหญ่ตุลาการ ศาลปกครองกลาง พิจารณาแล้วมีความเห็นว่า การดำเนินการคัดเลือกดำเนินการตามกฎหมาย มีการเปิดกว้างให้เอกชนเข้าร่วมในการคัดเลือกมากขึ้น ทำให้เกิดการแข่งขันมากขึ้น และไม่มีลักษณะเป็นการตัดสิทธิหรือกีดกันผู้ใดมิให้เข้าร่วมยื่นข้อเสนอ จึงมีคำสั่งยกคำร้องคุ้มครองชั่วคราว
4. ประเด็นการดำเนินการของ รฟม. และคณะกรรมการคัดเลือกฯ ถือเป็นการเอื้อประโยชน์ให้แก่ผู้ใดผู้หนึ่ง และเป็นการปฏิบัติโดยไม่ชอบหรือไม่
ประเด็นนี้ปัจจุบันมีคดีฟ้องร้องในศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง โดยศาลได้ไต่สวนมูลฟ้องแล้วเห็นว่า ผู้ว่าการ รฟม. และคณะกรรมการคัดเลือกฯ ได้แก้ไขหลักเกณฑ์การประเมินข้อเสนอตามอำนาจหน้าที่ที่กฎหมายกำหนด ไม่เป็นการเอื้อประโยชน์ให้แก่ผู้ยื่นข้อเสนอรายใด และกรณีที่มีการยกเลิกการคัดเลือกเอกชนตามประกาศเชิญชวนไม่มีการกลั่นแกล้งผู้ใดหรือกระทำนอกขอบเขตของกฎหมาย ไม่ได้ปฏิบัติหน้าที่หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต จึงไม่มีมูลความผิดตามฟ้อง พิพากษายกฟ้อง
5. ประเด็นมีเงินทอน 3 หมื่นล้านบาท ผ่านบัญชีธนาคาร
รฟม. ขอเรียนว่า หากนายชูวิทย์ฯ มีหลักฐานเอกสารตามที่กล่าวอ้าง ก็ขอให้นำมาแสดงให้สาธารณชน และส่งให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องตรวจสอบเพื่อเป็นที่ประจักษ์ด้วย ว่าเป็นการทำธุรกรรมที่ผิดกฎหมายหรือไม่
ทั้งนี้ การดำเนินการประกาศเชิญชวนฯ และคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุน โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มฯ ที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบัน เป็นการดำเนินการโดยคณะกรรมการคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุนฯ และ รฟม. ตามอำนาจหน้าที่ที่กำหนดในมาตรา 35 ถึงมาตรา 39 แห่งพระราชบัญญัติการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ. 2562 และสำนักงานอัยการสูงสุดได้ตรวจพิจารณาร่างสัญญาร่วมลงทุนตามาตรา 41 เรียบร้อยแล้ว
สำหรับในขั้นตอนต่อไป รฟม. จะรอคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดในคดีที่ รฟม. และคณะกรรมการคัดเลือกฯ ถูกฟ้องคดี มาประกอบเรื่องเพื่อเสนอรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ในฐานะรัฐมนตรีกระทรวงเจ้าสังกัด และคณะรัฐมนตรี เพื่อพิจารณาเห็นชอบผลการคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุนฯ ตามมาตรา 42 แห่งพระราชบัญญัติการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ. 2562 ต่อไป
นายภคพงศ์ กล่าวด้วยว่า รฟม.ขอให้นายชูวิทย์ฯ เปิดเผยเอกสารการโอนเงินตามที่แถลงต่อสื่อไปนั้น และส่งไปหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพราะหากมีการกระทำตามที่ได้แถลงไป ก็ถือเป็นการกระทำที่เข้าข่ายการฟอกเงินขอให้ส่งไปเพื่อตรวจสอบการกระทำที่ผิดกฎหมายเหล่านี้ เพื่อดำเนินการตามขั้นตอนกฎหมาย โดย รฟม.ขอยืนยันว่า รฟม.ไม่ทราบเรื่องดังกล่าวและไม่มีเรื่องดังกล่าวเกิดขึ้น
สำหรับประเด็นต่างๆ ที่นายชูวิทย์ฯ แถลงข่าวต่อสื่อมวลชนนั้น ก็เป็นเรื่องที่อยู่ในขั้นตอนคดีศาลปกครองทั้งนั้น ซึ่ง รฟม.ก็เชื่อว่าขั้นตอนทางกฎหมายใกล้จะเข้าสู่ขั้นตอนพิพากษาแล้ว เพราะอยู่ในขั้นตอนตุลาการแถลงคดีแล้ว ก็คงจะใกล้มีคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดออกมา โดย รฟม.จะนำคำพิพากษาในคดีไปประกอบเพื่อนำเรื่องเสนอไป ครม.พิจารณาและดำเนินการตามกระบวนการคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุนฯ ตามมาตรา 42 แห่งพระราชบัญญัติการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ. 2562
“ถ้านายชูวิทย์ไม่สามารถเสนอหลักฐานที่แถลงออกมาได้ รฟม.ก็คงต้องดำเนินการทางกฎหมาย โดยเฉพาะเรื่อง 3 หมื่นล้านบาท ยืนยันว่าไม่มี แต่หากมีหลักฐานเอามาเปิดเผยต่อสาธารณชนได้เลย ส่วนเรื่องการยืนยันกระบวนการประมูลที่ถูกต้องนั้น ทางกระบวนการศาลก็ถือเป็นการยืนยันแล้วว่าไม่ได้เอื้อประโยชน์รายใด เรื่องการคัดเลือกก็ไม่ได้กลั่นแกล้งผู้ใด หรือกระทำนอกอำนาจกฎหมาย ศาลจึงพิพากษายกฟ้อง”