สศอ. เผยดัชนี MPI เดือนม.ค. หดตัว 4.35% อุปสงค์ตลาดโลกชะลอตัว
สศอ. เผยดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) เดือน ม.ค. หดตัว 4.35% ผลจากการชะลอตัวอุปสงค์โลก ชี้ปี 2566 MPI ขยายตัวในกรอบ 1.5-2.5% จับตาปัจจัยเสี่ยงอัตราดอกเบี้ยขาขึ้น ความผันผวนน้ำมัน และความขัดแย้งภูมิรัฐศาสตร์
นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม (อก.) เปิดเผยว่า ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) เดือนม.ค. 2566 หดตัว 4.35% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า โดยมีอัตราการใช้กำลังการผลิตที่ 62.31% เนื่องจากอุปสงค์ในตลาดโลกที่มีแนวโน้มชะลอตัว โดยเฉพาะยุโรปและสหรัฐ เทียบกับฐานปีก่อนหน้าที่อยู่ในระดับสูง
อย่างไรก็ตาม เศรษฐกิจในประเทศยังได้รับปัจจุยบวกจากการท่องเที่ยวที่ฟื้นตัวดีขึ้น สะท้อนจากตัวเลขนักท่องเที่ยวต่างชาติที่กลับเข้ามาท่องเที่ยวในไทยเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะอุตสาหกรรมที่เน้นตลาดในประเทศ รวมถึงที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยวหลายอุตสาหกรรมยังขยายตัวได้ดี อาทิ การกลั่นน้ำมัน รถยนต์ จักรยานยนต์ รองเท้า กระเป๋า และเครื่องดื่ม
นางวรวรรณ ชิตอรุณ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) กล่าวว่า ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) เดือนมกราคม 2566 อยู่ที่ระดับ 99.82 โดยอุตสาหกรรมหลักที่ขยายตัวในเดือนม.ค. 2566 ได้แก่ น้ำมันปิโตรเลียม จากการเดินทางที่ขยายตัวขึ้นจากนักท่องเที่ยวต่างชาติและการเดินทางในเทศกาลปีใหม่ ยานยนต์ จากรถยนต์นั่งขนาดกลางและรถยนต์นั่งขนาดเล็กที่ตลาดส่งออกขยายตัว และน้ำมันปาล์ม จากปริมาณผลผลิตปาล์มน้ำมันออกสู่ตลาดจำนวนมากกว่าปีก่อนและการส่งออกที่ขยายตัว
ทั้งนี้ คาดการณ์ดัชนี MPI เดือนก.พ. 2566 มีปัจจัยบวกจากเศรษฐกิจในประเทศที่มีแนวโน้มเติบโตต่อเนื่อง หลังได้รับแรงส่งของภาคการท่องเที่ยวจากจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้าประเทศมีแนวโน้มสูงขึ้นตามลำดับ รวมถึงมาตรการกระตุ้นการใช้จ่ายช้อปดีมีคืน หนุนการบริโภคในประเทศ
ขณะที่ปัจจัยเสี่ยงที่ควรเฝ้าระวังและติดตาม ได้แก่ การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย ราคาน้ำมันที่อยู่ในระดับสูง การเปลี่ยนแปลงห่วงโซ่การผลิตของชาติมหาอำนาจที่ส่งผลให้เกิดการย้ายฐานและกระทบต่อการนำเข้า-ส่งออกสินค้า
ทั้งนี้ สศอ. ได้ประมาณการดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) ปี 2566 คาดว่าขยายตัว 1.5 – 2.5% และผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) ภาคอุตสาหกรรม ปี 2566 ขยายตัว 1.5 – 2.5% โดยได้รับปัจจัยสนับสนุนจากการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยวทั้งภายในและต่างประเทศประกอบกับประเทศจีนกลับมาเปิดประเทศอีกครั้ง แนวโน้มเศรษฐกิจในประเทศมีทิศทางที่ดีขึ้น การบริโภคภาคเอกชนขยายตัวโดยเฉพาะในภาคบริการ และมาตรการช่วยเหลือของภาครัฐ เช่น ช้อปดีมีคืน เราเที่ยวด้วยกัน รวมถึงในปีนี้จะมีการเลือกตั้งที่จะเป็นปัจจัยกระตุ้นเศรษฐกิจ
อย่างไรก็ตาม ปัจจัยเสี่ยงที่ควรเฝ้าระวังและติดตามในปีนี้ ได้แก่ ทิศทางเศรษฐกิจโลกชะลอตัว ทิศทางราคาพลังงานที่อยู่ในระดับสูง อัตราดอกเบี้ยที่มีแนวโน้มปรับตัวเพิ่มขึ้น และภาระหนี้ครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูง
สำหรับอุตสาหกรรมหลักที่ส่งผลบวกต่อดัชนีผลผลิตในเดือนม.ค. 2566 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ได้แก่
น้ำมันปิโตรเลียม ขยายตัวจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 8.96% จากผลิตภัณฑ์น้ำมันเครื่องบิน น้ำมันแก๊สโซฮอล์ 95 และน้ำมันเบนซิน 95 เพื่อใช้ในการเดินทางของนักท่องเที่ยวต่างชาติและการท่องเที่ยวในช่วงเทศกาลปีใหม่
ยานยนต์ ขยายตัวจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 6.79% จากรถยนต์นั่งขนาดกลางและรถยนต์นั่งขนาดเล็ก เนื่องจากได้รับชิ้นส่วนเซมิคอนดักเตอร์มากขึ้น
น้ำมันปาล์ม ขยายตัวจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 69.23% จากผลิตภัณฑ์น้ำมันปาล์มดิบ และน้ำมันปาล์มบริสุทธิ์ โดยปีนี้ปริมาณผลผลิตปาล์มน้ำมันออกสู่ตลาดจำนวนมาก รวมถึงการเร่งผลิตเพื่อรองรับการส่งออกที่เพิ่มขึ้น
น้ำตาล ขยายตัวจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 8.94% เนื่องจากปีนี้มีผลผลิตอ้อยเข้าหีบปีนี้มากกว่าปีก่อน
เภสัชภัณฑ์ เคมีภัณฑ์ที่ใช้รักษาโรค ขยายตัวจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 17.83% เนื่องจากมีความต้องการยาที่เกี่ยวกับโรคโควิด-19 รวมถึงการเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวทำให้ความต้องการบริโภคยาในพื้นที่ท่องเที่ยวมีเพิ่มมากขึ้น