‘บอร์ดอีอีซี’ เคาะแก้สัญญา ‘แอร์พอร์ตลิงก์’ ‘ซีพี’ จ่าย 7 งวด 1.17 หมื่นล้าน
"บอร์ดอีอีซี" เคาะให้ซีพีทยอยจ่ายค่าบริหารแอร์พอร์ตลิงก์ 7 งวด รฟท.รับผลตอบแทนเพิ่ม 1,060 จากดอกเบี้ยและค่าเสียโอกาส รวม 1.17 หมื่นล้านบาท
นายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะกรรมการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กพอ.) ที่มีพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม เป็นประธานวันนี้ (1มี.ค.) ว่าที่ประชุม กพอ.เห็นชอบให้มีการแก้ไขสัญญารถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน บนหลักการไม่ขัดต่อกฎหมาย เป็นธรรมทุกฝ่าย โดยที่ประชุมฯอนุมัติว่าให้มีการพิจารณาปรับสัญญาตามขั้นตอนของกฎหมาย ประเด็นให้เอกชนผ่อนชำระค่าสิทธิร่วมลงทุนโครงการแอร์พอร์ต เรล ลิงก์ (ARL)เป็นระยะเวลา 7 งวด
โดยระบุถึงกรณีเกิดผลกระทบจากเหตุ สุดวิสัยที่ไม่สามารถคาดการณ์ได้ล่วงหน้า ทั้งจากสถานการณ์โควิด 19 ปัญหาความขัดแย้งของรัสเชียและยูเครน ซึ่งส่งผลรุนแรงต่อเศรษฐกิจทั่วโลกถดถอย เกิดภาวะเงินเฟ้อ ดอกเบี้ยเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะจำนวนยอดผู้โดยสารแอร์พอร์ต เรลลิงก์ที่ลดลงอย่างมากในช่วงประกาศสถนการณ์ฉุกเฉินจึงหาทางออกร่วมกันที่เหมาะสมตามแนวทางพีพีพี
ทั้งนี้ภายหลังแก้สัญญาแล้ว รฟท. ได้รับค่าสิทธิฯ ครบจำนวน 10,671 ล้านบาท บวกดอกเบี้ยและค่าเสียโอกาสของ รฟท.อีกจำนวน 1,060 ล้านบาท รวมเป็นวงเงิน 11,731 ล้านบาท
รวมทั้งเอกชนยังรับภาระหนี้ตามเดิม ซึ่งถือเป็นหลักเกณฑ์ที่รัฐไม่เสียประโยชน์ สร้างความเป็นธรรม และเอกชนไม่ได้ประโยชน์เกินสมควร พร้อมช่วยให้บริการ ARL เกิดความต่อเนื่อง ประชาชนเดินทางได้สะดวกยิ่งขึ้น และรฟท. ไม่ต้องรับภาระขาดทุน และได้รับดอกเบี้ยชดเชยค่าเสียโอกาสครบถ้วน ภาคเอกชนสามารถแก้ปัญหาการเงิน รับสิทธิ์เดินรถ ARL พร้อมปรับปรุงประสิทธิภาพการบริการให้ดีขึ้นได้ต่อเนื่องเพื่อให้เกิดประโยชน์กับประชาชนสูงสุด
ทั้งนี้ กพอ. จะนำเสนอให้ ครม. เพื่อทราบ พร้อมมอบหมาย บอร์ด รฟท. พิจารณาการเสนอขอแก้ไขสัญญาร่วมลงทุนฯ ตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องต่อไป
ทั้งนี้ความคืบหน้าโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน ขณะนี้ รฟท. ได้ส่งมอบพื้นที่ ช่วงสถานีสุวรรณภูมิ ถึง สถานีอู่ตะเภา ระยะทาง 160 กม. และพื้นที่บริเวณมักกะสัน (TOD) จำนวน 140 ไร่ เป็นที่เรียบร้อยแล้ว และหากเอกชนได้รับบัตรส่งเสริมการลงทุน (BOI) สามารถเริ่มงานก่อสร้างได้ทันที โดยคาดว่าการก่อสร้างและทดสอบระบบ พร้อมเปิดให้บริการได้ภายในปี 2570 เมื่อโครงการฯ แล้วเสร็จ จะทำให้ประชาชนเดินทางได้สะดวก รวดเร็ว ปลอดภัย ตรงเวลา และจะสามารถเชื่อมโยงการเดินทางแบบไร้รอยต่อ เชื่อมกรุงเทพฯ สู่พื้นที่อีอีซี ส่งผลดีต่อเศรษฐกิจทั้งประเทศ เพิ่มรายได้การท่องเที่ยว สร้างประโยชน์ตรงถึงชุมชน เกิดการจ้างงานภาคธุรกิจ ไม่น้อยกว่า 100,000 อัตราใน 5 ปี ภาคแรงงานก่อสร้างไม่น้อยกว่า 16,000 อัตรา ดึงดูดนักลงทุนทั่วโลกสู่ประเทศไทย
นอกจากนี้ กพอ. ได้รับทราบถึงความคืบหน้าโครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก ที่ สกพอ. ได้ส่งมอบพื้นที่ก่อสร้างสนามบินให้เอกชนแล้ว
ซึ่งปัจจุบันอยู่ระหว่างการตรวจสอบพื้นที่ร่วมกันอีกครั้ง และ กพอ. ได้มอบหมายกองทัพเรือเริ่มขั้นตอนจ้างผู้รับเหมาเพื่อก่อสร้างทางวิ่งที่ 2 เพื่อให้เงื่อนไขสัญญาร่วมลงทุนครบถ้วน คาดว่าเดือนเมษายน 2566 สกพอ. สามารถแจ้งให้เริ่มนับระยะเวลาพัฒนาโครงการสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบิน ภาคตะวันออกได้