รัฐเติมเงินสดใส่กระเป๋าเกษตรกร ทำรายได้เพิ่มทะลุ2แสนบาท/ปี
สศก. เปิดภาวะเศรษฐกิจสังคมครัวเรือนเกษตรปี 65 ชี้โครงการประกันรายได้ ทำเกษตรกรมีเงินสดทางการเกษตรเฉลี่ยเพิ่มเป็น 206,310 บาทต่อปี ภาคกลางรวยสุด ขณะที่ภาคใต้รายได้เพิ่มสูงสุด30% จนสุดคือเหนือ
นายวินิต อธิสุข รองเลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) เปิดเผยถึงผลสำรวจภาวะเศรษฐกิจ สังคมครัวเรือนเกษตร ปีเพาะปลูก 2564/65 ซึ่งเป็นข้อมูลรายได้-รายจ่ายจากกิจกรรม ทั้งในและนอกภาคการเกษตรของเกษตรกรในช่วงเดือนพ.ค. 2564 ถึงเดือนเม.ย. 2565 พบว่า
ครัวเรือนเกษตรทั่วประเทศ มีรายได้เงินสดเกษตรเฉลี่ย 206,310 บาทต่อปีเพิ่มขึ้น 19,229 บาทต่อปี หรือเพิ่มขึ้น 10.27% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้าที่มีรายได้เงินสดเกษตรเฉลี่ย 187,081 บาทต่อปี ส่วนใหญ่เป็นรายได้การปลูกพืช 80.95% เลี้ยงสัตว์ 17.47%
ทั้งนี้ รายได้เงินสดเกษตรเฉลี่ยรายภาคประจำปี 2565 เทียบปีก่อนหน้า มีรายละเอียดดังนี้
ภาคเหนือ รายได้เงินสดเกษตรเฉลี่ย 150,799 บาทต่อปี ลดลง 22,440 บาทต่อปีหรือลดลง 12.95% จากปีก่อนหน้ามีรายได้ 173,248 บาทต่อปี
ภาคอีสาน รายได้เงินสดเกษตรเฉลี่ย 62,751 บาทต่อปี เพิ่มขึ้น 8,595 บาทต่อปีหรือ เพิ่มขึ้น 10.2% จากปีก่อนหน้าที่มีรายได้ 84,155 บาทต่อปี
ภาคกลาง รายได้เงินสดเกษตรเฉลี่ย 329,579 บาทต่อปี เพิ่มขึ้น 27,132 บาทต่อปีหรือเพิ่มขึ้น 8.97% จากปีก่อนหน้า ที่มีรายได้ 302,447 บาทต่อปี
ภาคใต้ รายได้เงินสดเกษตรเฉลี่ย 210,397 บาทต่อปี เพิ่มขึ้น 47,775 บาทต่อปีหรือเพิ่มขึ้น 29.37% จากปีก่อนหน้าที่มีรายได้ 162,622 บาทต่อปี
นอกจากนี้ยังมีรายได้จากกิจกรรมนอกการเกษตรเฉลี่ย 213,888 บาทต่อปี เพิ่ม 3,751 บาทต่อปี หรือเพิ่มขึ้น 1.78% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า ที่มีรายได้จากกิจกรรมนอกการเกษตรเฉลี่ย 210,137 บาทต่อปีโดยเป็นรายได้หลักจากงานประจำ 45.13% การรับจ้างและให้บริการ 16.36% รายได้จากลูกหลานส่งให้ 6.45% และอื่นๆ เช่น กำไรจากการค้าขายหรือทำธุรกิจ ได้รับเงินช่วยเหลือจากภาครัฐ เงินค่าเช่า ดอกเบี้ยเงินสะสม ฯลฯ 32.06%
รายได้ที่เพิ่มขึ้นของเกษตรกรที่เกิดขึ้นในภาคเกษตรส่วนใหญ่เกิดจากมาตรการช่วยเหลือของภาครัฐ ตามโครงการประกันรายได้พืช ทั้ง ข้าว มันสำปะหลัง ยางพารา ปาล์มน้ำมันและข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ด้านค่าใช้จ่าย ครัวเรือนเกษตรทั่วประเทศมีรายจ่ายเงินสดทางการเกษตรเฉลี่ย 126,039 บาทต่อปี คิดเป็นค่าปัจจัยการผลิต 55.40% ค่าจ้างแรงงาน 35.14% และค่าใช้จ่ายอื่น เช่น ค่าเช่าที่ดิน ค่าซ่อมเครื่องมืออุปกรณ์การเกษตร ฯลฯ 9.46%
สำหรับค่าใช้จ่ายเพื่อการบริโภคอุปโภคในครัวเรือนเฉลี่ย 180,569 บาทต่อปี คิดเป็นค่าใช้จ่ายเพื่อการบริโภค 36.55% และค่าใช้จ่ายเพื่อการอุปโภค เช่น ค่าสาธารณูปโภค ค่าน้ำมัน ค่าใช้จ่ายเพื่อการศึกษา ค่าซื้อสินค้าและบริการ ฯลฯ 63.45%
สำหรับตัวชี้วัดทางเศรษฐกิจสำคัญ พบว่า เมื่อนำรายได้ทางการเกษตรหักรายจ่ายทางการเกษตร ส่งผลให้ครัวเรือนเกษตรมีรายได้เงินสดสุทธิทางการเกษตรเฉลี่ย 80,271 บาทต่อปี และมีเงินสดคงเหลือก่อนหักชำระหนี้ ซึ่งเป็นเงินเหลือหลังจากนำรายได้ทั้งหมดของครัวเรือนหักค่าใช้จ่ายเพื่ออุปโภคบริโภคแล้ว 113,590 บาทต่อปี