‘สภาพัฒน์’เตือนนโยบายหาเสียง หวั่นอัดงบฯ ฉุดฐานะการคลัง - ขีดแข่งขันประเทศ

‘สภาพัฒน์’เตือนนโยบายหาเสียง หวั่นอัดงบฯ ฉุดฐานะการคลัง - ขีดแข่งขันประเทศ

"สภาพัฒน์” ห่วงนโยบายหาเสียง เพิ่มงบสวัสดิการเพิ่มภาระการคลังประเทศ เผยงบประมาณรัฐจ่อขยับเพิ่มจาก 3 ล้านล้านในปี 66 เป็น 6.5 ล้านล้านในปี 85 เหตุรายจ่ายและงบสวัสดิการเพิ่ม แนะปฏิรูปภาษีก่อนเกิดปัญหาเพิ่มรายได้รัฐ และปัญหาพื้นที่ทางการคลัง

Key Points

  • พรรคการเมืองทอยหาเสียงด้วยนโยบายเพิ่มงบประมาณดูแลประชาชน
  • ‘สภาพัฒน์’ เริ่มกังวลผลกระทบของนโยบายที่มีต่อฐานะการคลังประเทศ
  • รายจ่ายรัฐจะเพิ่มขึ้นจากปี 2566 ที่ 3 ล้านล้านบาท เป็น 6.5 ล้านล้านบาท ในปี 2585
  • กระทรวงการคลังควรเร่งการปรับโครงสร้างภาษีเพื่อเพิ่มรายได้ภาครัฐ

การเลือกตั้งกำลังจะเกิดขึ้นในเดือน พ.ค.2566 ขณะนี้พรรคการเมืองทยอยประกาศนโยบายที่เกี่ยวข้องกับการดูแลประชาชน ซึ่งหลายนโยบายมีผลผูกพันกับงบประมาณและฐานะการคลัง เช่น นโยบายเพิ่มการช่วยเหลือผ่านบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ การจ่ายเบี้ยผู้สูงอายุ

ในขณะที่ร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2567 กำหนดวงเงินไว้ที่ 3.35 ล้านล้านบาท เป็นงบประมาณขาดดุล 593,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากงบประมาณปี 2566 ที่มีวงเงิน 3.185 ล้านล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 165,000 ล้านบาท

‘สภาพัฒน์’เตือนนโยบายหาเสียง หวั่นอัดงบฯ ฉุดฐานะการคลัง - ขีดแข่งขันประเทศ

นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เปิดเผยว่า การหาเสียงของพรรคการเมืองต้องมาดูว่ามีความเป็นไปในการดำเนินการแค่ไหน เพราะบางนโยบายจะเกิดผลกระทบตามมาในระยะยาว ซึ่งประชาชนต้องช่วยกันตรวจสอบและตั้งคำถามว่าจำนวนเงินที่จะใช้เพิ่มมากขึ้นในแต่ละนโยบายจะนำงบส่วนใดมาใช้ดำเนินการ

สำหรับการเพิ่มงบให้กับบัตรสวัสดิการแห่งรัฐเป็น 700-1000 บาท ต้องมาดูว่าจะจัดสรรงบมาใช้หมุนเวียนในโครงการได้อย่างไร เพราะงบบางส่วนที่ตั้งวงเงินในบัตรสวัสดิการแห่งรัฐไม่ได้มีการใช้จริงจนครบตามจำนวนเงินในทุกโครงการ ซึ่งอาจจะใช้เงินหมุนภายในกองทุนประชารัฐสวัสดิการเพื่อเศรษฐกิจฐานรากและสังคมที่มีอยู่ได้

ทั้งนี้ ในระยะต่อไปการดำเนินการของโครงการนี้ต้องมีการลงทะเบียนตรวจสอบคุณสมบัติเพื่ออัพเดทฐานข้อมูลทุกปี ควบคู่ไปกับการแก้ไขปัญหาความยากจนแบบพุ่งเป้าเป็นรายพื้นที่และรายบุคคล เพื่อทำให้จำนวนผู้มีรายได้น้อยลดลง และออกจากการรับสวัสดิการสำหรับผู้มีรายได้น้อยได้หลังจากที่มีรายได้เกินกว่าเกณฑ์ที่กำหนดไว้

ค่าแรงขั้นต่ำกระทบการลงทุน

ส่วนนโยบายการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำที่บางพรรคใช้หาเสียงนั้น มีประเด็นที่ต้องพิจารณา คือ ปัจจุบันแรงงานในไทยที่รับค่าแรงขั้นต่ำมีเพียง 2 ล้านคน และเป็นแรงงานต่างด้าวมากกว่า 1 ล้านคน ซึ่งทำให้แรงงานที่มีทักษะในไทยมีค่าแรงสูงกว่าค่าแรงขั้นต่ำอยู่แล้ว ดังนั้น ต้องส่งเสริมการให้ค่าแรงตามฝีมือแรงงาน ซึ่งหากแรงงานมีทักษะมากขึ้น จะทำให้นายจ้างยินดีจ่ายค่าแรงระดับสูง

ขณะที่การปรับเงินเดือนขั้นต่ำระดับปริญญาตรีนั้น สิ่งที่ต้องพิจารณา คือ ต้นทุนของผู้ประกอบการและภาระงบประมาณของภาครัฐ ซึ่งหากจะเพิ่มส่วนนี้ภาครัฐต้องปรับฐานเงินเดือนของข้าราชการด้วยก็จะเกิดภาระต่องบประมาณเพิ่มขึ้นอีก

“สิ่งที่ต้องระวัง คือ การพูดถึงการปรับค่าแรงขั้นต่ำในทางนโยบาย ซึ่งนักลงทุนต่างชาติจะมีภาพจำว่าไทยกำลังจะปรับค่าแรงเพิ่มขึ้นทั้งระบบ ซึ่งจะทำให้นักลงทุนชะลอการลงทุน หรือตัดสินใจไปลงทุนในประเทศอื่นที่มีต้นทุนแรรงานต่ำกว่าแทน ซึ่งที่จริงแล้วทุกวันนี้ค่าแรงขั้นต่ำนั้นแทบไม่มีผลต่อแรงงานไทยอยู่แล้ว เพราะแรงงานไทยที่มีทักษะนั้นได้รับค่าแรงมากกว่าค่าแรงขั้นต่ำอยู่แล้ว”

หวั่นรายจ่ายรัฐเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง

นางสาววรวรรณ พลิคามิน รองเลขาธิการ สศช.กล่าวระหว่างการแถลงรายงานภาวะสังคมไตรมาส 4 ปี 2565 ว่า รายจ่ายภาครัฐมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง โดยคาดว่ารายจ่ายภาครัฐรวมในปี 2585 จะเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 6.5 ล้านล้านบาท จากปี 2566 ที่มีรายจ่าย 3 ล้านล้านบาท และรายจ่ายที่เพิ่มขึ้นส่วนใหญ่จะมาจากการเพิ่มสวัสดิการให้กับประชาชน

ทั้งนี้ รายจ่ายภาครัฐที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นในอนาคตทำให้ภาครัฐต้องปรับปรุงโครงสร้างภาษี และปรับปรุงการจัดเก็บรายได้จากภาษี เพราะปัจจุบันภาษีเป็นรายได้สำคัญของภาครัฐ คิดเป็นสัดส่วนถึง 88.5% ของรายได้ทั้งหมด แต่จากข้อมูลของธนาคารโลก ชี้ให้เห็นว่าปัจจุบันสัดส่วนรายได้ภาษีต่อจีดีพีของไทยอยู่ระดับต่ำมาตลอดช่วง 20 ปีที่ผ่านมา
 

ทำให้ภาครัฐเก็บรายได้ไม่พอรายจ่ายและต้องทำงบประมาณขาดดุลมานาน โดยปี 2565 การขาดดุลงบประมาณ อยู่ที่ 650,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 2546 ที่ขาดดุล 41,000 ล้านบาท

สำหรับปัญหาการเก็บภาษีได้ต่ำกว่ารายจ่าย และการใช้เครื่องมือภาษีเพื่อสร้างความเป็นธรรมได้ไม่มากพอ สะท้อนให้เห็นสัดส่วนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาอยู่ที่ 13.2% ของรายได้จาภภาษีทั้งหมด โดยปี 2564 เก็บได้ 337,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้า 30,000 ล้านบาท และตั้งแต่ปี 2556-2564 จัดเก็บภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 1.6% ต่อปีเท่านั้น ถือว่าเพิ่มขึ้นน้อยมากเมื่อเทียบประเทศอื่น

นางสาววรวรรณ กล่าวว่า ปัจจุบันมีผู้ยื่นแบบภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา 10.8 ล้านคน แต่เมื่อหักลดหย่อนภาษีจะเหลือผู้เสียภาษีจริงเพียง 4.2 ล้านคน ซึ่งภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาไม่ทำหน้าที่เป็นแหล่งรายได้ของรัฐได้มากขึ้น และมีข้อจำกัดมากในการเป็นเครื่องมือลดความเหลื่อมล้ำ

แนะ4แนวทางปรับโครงสร้างภาษี

ดังนั้น สศช.จึงเสนอให้ปรับโครงสร้างภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา เพราะสัดส่วนผู้ยื่นแบบภาษีถือว่าต่ำมากเมื่อเทียบแรงงานของประเทศ และยิ่งต่ำลงเมื่อพิจารณาสัดส่วนผู้เสียภาษีจริง ซึ่งหากจัดเก็บภาษีได้ไม่มากพอจะทำให้การจัดสวัสดิการที่ดีเป็นไปได้ยาก อีกทั้งรัฐมีแนวโน้มใช้จ่ายงบประมาณหลายด้านมากขึ้น และต้องหาแนวทางลดปัญหาความเหลื่อมล้ำที่อยู่ระดับสูง ดังนั้นเพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าวอาจต้องดำเนินการ ดังนี้

1.มีมาตรการนำทุกกลุ่มมาอยู่ในระบบภาษี โดยเฉพาะแรงงานนอกระบบที่ต้องปรับปรุงกฎหมายที่กำหนดเกณฑ์รายได้ยกเว้นไม่ต้องยื่นแบบภาษี ซึ่งเป็นข้อจำกัดในการเข้าระบบภาษีของบางกลุ่ม เพื่อให้ผู้มีเงินได้ทุกคนเข้าสู่ระบบภาษี และหากทุกกลุ่มอยู่ระบบภาษีจะ ทำให้รัฐจัดเก็บรายได้มากขึ้น และรัฐมีฐานข้อมูลทำนโยบายและมาตรการช่วยเหลือที่เหมาะสมขึ้น

2.ทบทวนการยกเว้นภาษีแก่รายได้บางประเภท เพราะการกำหนดยกเว้นในอดีตเพื่อผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจหรือสังคมบางประการ ซึ่งควรทบทวนความจำเป็นที่สอดคล้องกับปัจจุบัน เพื่อไม่ให้เอื้อประโยชน์เพียงบางกลุ่ม

3.ทบทวนสิทธิประโยชน์การหักค่าใช้จ่ายและค่าลดหย่อนให้เป็นธรรมขึ้น โดยยังแบ่งเบาภาระประชาชนได้และไม่ทำให้รัฐสูญเสียรายได้เกินจำเป็น และต้องทบทวนรายการลดหย่อนบางประการที่อาจเอื้อผู้มีรายได้สูง

และ 4.สื่อสารให้ประชาชนเห็นความสำคัญของการจ่ายภาษีเพื่อประโยชน์ของประชาชน เพราะการใช้งบประมาณเพื่อคุณภาพชีวิตประชาชนที่ดีขึ้น จะเป็นปัจจัยกระตุ้นให้ประชาชนเห็นความสำคัญของการจ่ายภาษี

 

ห่วงจัดเก็บรายได้รัฐระยะยาว

นายดนุชา กล่าวว่า ภาระงบประมาณภาครัฐที่มีแนวโน้มมากขึ้นทำให้จำเป็นต้องปรับโครงสร้างภาษี ซึ่งต้องทำทั้งการสร้างรายได้และการจัดเก็บรายได้ ไม่เช่นนั้นจะแก้ปัญหาขาดดุลงบประมาณไม่ได้ นอกจากนั้นพื้นที่ทางการคลังภาครัฐจะลดลงจนเกิดแรงกดดันต่อฐานะการคลังภาครัฐ ซึ่งเป็นเรื่องที่กระทรวงการคลังกำลังศึกษาและจะดำเนินการอย่างเป็นขั้นตอน

“การปรับโครงสร้างภาษีเป็นสิ่งที่ต้องเร่งทำในขณะนี้เพราะหากปล่อยให้ล่าช้าไป พอถึงเวลาที่แรงกดดันทางการคลังเพิ่มขึ้นแล้วจะดำเนินการไม่ทัน” นายดนุชา กล่าว

ส่วนการเก็บภาษีกำไรจากการขายหุ้น (Capital gains tax) ที่เป็นสิ่งที่ในต่างประเทศมีการดำเนินการ โดยรัฐบาลยังไม่มีแนวคิดในขณะนี้ แต่เป็นหน้าที่กระทรวงการคลังที่ต้องศึกษาผลดีผลเสีย และรับฟังความคิดเห็นจากทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง โดยที่ผ่านมามีการดำเนินการเก็บภาษีจากการซื้อขายหุ้น (Transaction Tax) แต่มีผู้ไม่เห็นด้วยจำนวนมากแม้ได้ศึกษาผลกระทบหลายด้านมาอย่างดี

กังวลหนี้ครัวเรือพุ่งสูงขึ้น

นอกจากนี้ สศช.ได้สรุปภาวะสังคมไตรมาส 4 ปี 2565 พบว่า สถานการณ์จ้างงานเพิ่มขึ้นมาใกล้ช่วงก่อนมีโควิด-19 โดยมีการจ้างงานรวม 39.6 ล้านคน ขยายตัว 1.5% ส่วนการว่างงานลดลงเหลือ 1.32% คิดเป็นผู้ว่างงาน 460,000 คน ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่อัตราการว่างงานอยู่ที่ 1.96%

สำหรับหนี้ครัวเรือนไตรมาส 3 ปี 2565 อยู่ที่ 14.9 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้น 3.9% จากไตรมาสก่อนหน้า เป็นการเพิ่มขึ้นครั้งแรกในรอบ 5 ไตรมาส คิดเป็นสัดส่วน 86.8% ของจีดีพี ลดลงจาก 88.1% ในไตรมาสที่ผ่านมา ซึ่งหนี้ครัวเรือนขยายตัวทุกประเภทสินเชื่อ โดยเฉพาะสินเชื่อบัตรเครดิตเพิ่มขึ้นเป็น 11.8% จากไตรมาสก่อน 8.8%

ส่วนหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) มีมูลค่ารวม 1 ล้านล้านบาท โดยมีกลุ่มที่เคยเป็นลูกหนี้ดีแต่ได้รับผลกระทบจากโควิดจนเป็นหนี้เสียแม้ว่าโควิดจะคลี่คลาย โดยมูลหนี้ของกลุ่มนี้อยู่ที่ 4 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้นเกือบ 2 เท่า เมื่อเทียบไตรมาส 1 ปี 2565 และมีจำนวนบัญชีที่เป็นหนี้เสียเพิ่มขึ้นเป็น 4.7 ล้านบัญชี จาก 4.3 ล้านบัญชีของไตรมาสก่อนหน้า และเกือบ 60% เป็นสินเชื่อส่วนบุคคล