ระบบขนส่งทางรางจ่อโต 30% รับเมกะโปรเจ็กต์ทยอยเปิดบริการ
ระบบขนส่งทางรางนับเป็นอีกหนึ่งพระเอกของการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานจากงบประมาณการลงทุนที่กระทรวงคมนาคมตั้งไว้ในปี 2566 มูลค่ารวม 124,839 ล้านบาท
พบว่าจัดสรรเพื่อพัฒนาโครงข่ายคมนาคมทางรางสูงสุดด้วยมูลค่า 83,147 ล้านบาท คิดเป็น 66.6% ของวงเงินการลงทุนทั้งหมด ซึ่งเม็ดเงินดังกล่าวเพื่อผลักดันให้ระบบขนส่งทางรางกลายเป็นระบบขนส่งหลักของประเทศ เพิ่มสัดส่วนให้ถึงเป้าหมาย 30%
พิเชฐ คุณาธรรมรักษ์ อธิบดีกรมการขนส่งทางราง ฉายภาพถึงการเติบโตของระบบขนส่งทางรางว่า ปัจจุบันกระทรวงคมนาคมอยู่ระหว่างเร่งรัดการลงทุนเพิ่มโครงข่ายระบบรางทั้งในส่วนของรถไฟทางคู่ ระยะที่ 2 และรถไฟทางคู่สายใหม่ รวม 17 เส้นทาง เพื่อเพิ่มระยะทางครอบคลุมทั่วประเทศ 2,932 กิโลเมตร การพัฒนารถไฟความเร็วสูง (ไฮสปีดเทรน) รวมทั้งสิ้น 1,673 กิโลเมตร นอกจากนี้ยังมีโครงข่ายระบบรถไฟฟ้าในกรุงเทพฯ และปริมณฑลอีกหลายเส้นทาง
อย่างไรก็ดี จากการเติบโตของระบบขนส่งทางรางที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง และคาดว่าในอีก 3 ปีข้างหน้าเมื่อโครงการระบบขนส่งทางรางที่ปัจจุบันอยู่ในขั้นตอนก่อสร้างเริ่มทยอยแล้วเสร็จจะส่งผลให้เกิดปัญหาบุคลากรขาดแคลน โตไม่ทันต่อโครงข่ายระบบรางและอุตสาหกรรมที่กำลังจะเปิดให้บริการ โดยกรมฯ ประเมินว่า อุตสาหกรรมระบบรางในไทย จะต้องการบุคลากรในส่วนของพนักงานขับรถไฟและรถไฟฟ้าเพิ่มขึ้นราว 30% จากปัจจุบันที่มีอยู่ประมาณ 2 พันคน
ขณะที่ สถานการณ์ภาพรวมขนส่งทางรางในประเทศไทยปี 2565 พบว่าเริ่มเผชิญปัญหาบุคลากรพนักงานขับรถไฟและรถไฟฟ้าเริ่มขาดแคลนแล้ว เพราะมีจำนวนขบวนรถในระบบรางอยู่ที่ 10,266 คัน แบ่งเป็น รถไฟโดยสารระหว่างเมือง 1,805 คัน รถไฟขนส่งสินค้า 7,677 คัน และรถไฟฟ้า 784 ตู้ ในขณะที่จำนวนพนักงานขับรถไฟและรถไฟฟ้ามีอยู่เพียง 2 พันคน ซึ่งเฉพาะการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) ระบุว่าปัจจุบันยังขาดแคลนพนักงานขับรถไฟราว 700 คน
พิเชฐ เผยด้วยว่า เพื่อเตรียมความพร้อมรองรับการเติบโตของขนส่งทางราง ยกระดับให้มีมาตรฐานเดียวกัน และเพื่อกำกับดูแลนำไปสู่ความปลอดภัยของผู้โดยสาร ปัจจุบันกรมฯ อยู่ระหว่างศึกษา ออกแบบ และพัฒนาระบบฐานข้อมูลผู้ประกอบการและการออกใบอนุญาตด้านการขนส่งทางรางผ่านระบบดิจิทัล (e-License R) เพื่อเปิดให้พนักงานขับรถไฟและรถไฟฟ้าได้มาสอบเพื่อออกใบอนุญาตขับรถไฟและรถไฟฟ้า
อีกทั้งเพื่อแก้ปัญหาการขาดแคลนพนักงานในระบบ เนื่องจากพนักงานที่มีใบอนุญาตนี้จะสามารถไปสมัครกับผู้ประกอบการเดินรถรายอื่นได้ด้วย นับเป็นการเพิ่มโอกาสการทำงานให้กับพนักงานขับรถไฟและรถไฟฟ้า โดยกรมฯ คาดว่าจะใช้ระยะเวลาในการศึกษา 7 เดือนแล้วเสร็จ ดำเนินการควบคู่ไปกับขั้นตอนการเสนอร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การขนส่งทางราง พ.ศ. .... ที่คาดว่าจะมีผลบังคับใช้ภายในปีนี้
สำหรับ การออกใบอนุญาตด้านการขนส่งทางรางนั้น จะแบ่งเป็น 1.ใบอนุญาตสำหรับผู้ประการเดินรถ จะมีอายุใบอนุญาตเท่ากับอายุสัมปทานที่ผู้ประกอบการได้รับ 2.การออกใบอนุญาตให้แก่ผู้ประจำหน้าที่ อาทิ พนักงานขับรถ และพนักงานควบคุมรถ มีอายุ 5 ปี ได้แก่ ใบอนุญาตขับรถไฟฟ้า ใบอนุญาตขับรถไฟดีเซล ใบอนุญาตขับรถไฟฟ้าความเร็วสูง ใบอนุญาตขับรถรางไฟฟ้า และใบอนุญาตประเภทอื่นๆ ตามที่อธิบดีฯ ประกาศ
และ 3.การจดทะเบียนรถขนส่งทางราง โดยรถขนส่งฯ จะต้องเข้ารับการตรวจสอบคุณลักษณะทุก 8 ปี ซึ่งหากมีการตรวจพบว่าพนักงานที่ปฏิบัติงานไม่มีใบอนุญาตจะมีโทษทั้งจำและปรับ โดยการขอใบอนุญาตทั้งหมดนี้จะไม่เสียค่าธรรมเนียม แต่ถือเป็นการสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้โดยสาร ผู้ใช้บริการ เป็นการยกระดับมาตรฐานของระบบขนส่งทางราง ขณะที่พนักงานขับรถไฟและรถไฟฟ้าจะได้รับการรับรองว่ามีคุณสมบัติที่ดี และสามารถนำใบอนุญาตไปสมัครกับผู้ประการเดินรถรายอื่นได้ด้วย
สำหรับขั้นตอนการขอใบอนุญาต และการจดทะเบียนผ่านระบบดิจิทัล ดังนี้ 1.การยืนยันตัวบุคคลกลางสำหรับการบริการภาครัฐ 2.การยื่นเอกสารและคำขอแบบออนไลน์ 3.การมอบหมายงานและแจ้งเตือน ผ่านเจ้าหน้าที่โดยอัตโนมัติ 4.การตรวจสอบข้อมูลและลงรับเอกสารแบบออนไลน์ 5.การรวบรวมเอกสาร สำหรับการพิจารณาก่อนเข้าอนุกรรมการ 6.ชำระเงินกลางของบริการภาครัฐ และ 7.การจัดส่งใบอนุญาตรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ โดยใช้รายชื่ออิเล็กทรอนิกส์
พิเชฐ ยังเปิดเผยถึงความคืบหน้าของร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การขนส่งทางราง พ.ศ. .... ด้วยว่า ปัจจุบัน พ.ร.บ.การขนส่งทางราง พ.ศ. .... ได้ผ่านความเห็นชอบจากสภาผู้แทนราษฎรในวาระที่ 2 แล้ว แต่ไม่สามารถเสนอพิจารณาทันการประชุมสภาครั้งสุดท้ายเมื่อวันที่ 28 ก.พ.ที่ผ่านมา ส่งผลให้ พ.ร.บ.ฉบับนี้ จำเป็นต้องเสนอเข้าสู่ที่ประชุมสภาครั้งใหม่ภายใต้การจัดตั้งรัฐบาลใหม่ ซึ่งตามข้อมูลคาดว่าจะมีการจัดตั้งรัฐบาลใหม่ได้ในเดือน ส.ค.2566
ทั้งนี้ หาก พ.ร.บ.กรมรางฯ มีผลบังคับใช้ นอกจากการกำกับดูแลเรื่องของการออกใบอนุญาตผู้ประกอบการ พนักงานขับรถไฟและรถไฟฟ้าแล้ว ยังจะมีการควบคุมในส่วนของเพดานราคาค่าโดยสารรถไฟและรถไฟฟ้าให้เป็นไปในมาตรฐานเดียวกัน เพื่อประโยชน์ของผู้ใช้บริการ อีกทั้งจะส่งผลให้ระบบขนส่งทางรางยกระดับมาตรฐานให้สอดคล้องกับการขยายตัวที่เกิดขึ้นอย่างก้าวกระโดด