4 ปี ‘ศักดิ์สยาม’ คุมคมนาคม 'เมกะโปรเจกต์' ยังติดหล่มอื้อ
ตรวจการบ้าน 4 ปี คมนาคมภายใต้การขับเคลื่อน "ศักดิ์สยาม ชิดชอบ" พบเมกะโปรเจกต์ยังติดหล่มอื้อ โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มล่าช้ากว่า 2 ปี ขณะที่รถไฟทางคู่เฟส 2 ไม่ขยับ ส่วนต่อขยายรถไฟสายสีแดงยังสะดุด ติดทบทวนเม็ดเงินลงทุน
เป็นระยะเวลาเกือบ 4 ปี สำหรับการดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมของ “นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ” โดยเข้ามารับตำแหน่งเมื่อวันที่ 10 ก.ค. 2562 พร้อมประกาศนโยบายเอาใจประชาชน อาทิ ปลดล็อกความเร็ว 120 กิโลเมตรต่อชั่วโมง, Grab Taxi / Grab Bike ถูกกฎหมาย รวมไปถึงนโยบายซื้อตรงยางพาราจากชาวสวนยาง นำมาผลิตหลักนำทางยางธรรมชาติ (Rubber Guide Post : RGP) และแผ่นยางธรรมชาติครอบกำแพงคอนกรีต (Rubber Fender Barrier : RFB)
ขณะที่ผลงานขับเคลื่อนโครงการลงทุนขนาดใหญ่ (เมกะโปรเจกต์) อาจเรียกได้ว่ายังไม่เป็นที่ประจักษ์ เนื่องจากจวบจนวันนี้ (3 มี.ค.) นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ ได้ถูกคำสั่งศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาให้หยุดปฏิบัติหน้าที่รัฐมนตรีทันที ในเหตุที่มีผู้ร้องกรณีคงไว้ซึ่งหุ้นส่วนและยังคงเป็นผู้ถือหุ้นและเจ้าของ หจก.บุรีเจริญคอนสตรัคชั่น ยังคงมีโครงการเมกะโปรเจกต์ที่อยู่ในขั้นตอนคงค้าง ล่าช้ากว่าแผนกำหนดไว้
โดยโครงการลงทุนเมกะโปรเจกต์ที่ยังติดหล่ม อาทิ
โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์ - ศูนย์วัฒนธรรมฯ และการเดินรถทั้งเส้นทางช่วงบางขุนนนท์ - มีนบุรี (สุวินทวงศ์)
ดำเนินการโดยการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ซึ่งประกาศผลการประกวดราคาในการประมูลรอบที่สองอย่างเป็นทางการ เมื่อวันที่ 16 ก.ย.2565 ซึ่งผลปรากฏว่า บริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) (BEM) เป็นผู้ยื่นข้อเสนอที่ผ่านการประเมินสูงสุด แต่ในขณะนี้ รฟม.ยังไม่สามารถผลักดันสู่กระบวนการลงนามสัญญากับเอกชนรายดังกล่าวได้ เนื่องจากโครงการยังมีข้อพิพาทอยู่ในกระบวนการศาลปกครอง ส่งผลให้ในภาพรวมโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม หากย้อนไทม์ไลน์ตั้งแต่การประกวดราคาครั้งแรกในช่วงเดือน ก.ค.2563 ถือได้ว่าโครงการนี้ใช้เวลาคัดเลือกเอกชนมาแล้วเป็นปีที่ 3
โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน (ดอนเมือง สุวรรณภูมิ อู่ตะเภา) วงเงิน 276,516 ล้านบาท
การรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) ลงนามสัญญาร่วมลงทุนกับ บริษัท เอเชียเอราวัน จำกัด ไปเมื่อวันที่ 24 ต.ค.2562 โดย ร.ฟ.ท.ยอมรับว่าภาพรวมโครงการนี้ล่าช้าจากแผนมากว่า 2 ปี ปัจจุบันยังอยู่ขั้นตอนพิจารณาแก้ไขสัญญาร่วมลงทุน ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นการเยียวยาผลกระทบจากโควิด-19 ให้เอกชนจากผลกระทบจำนวนผู้โดยสารรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตเรลลิงก์ลดลง ทั้งนี้ ร.ฟ.ท.ได้เตรียมความพร้อม 100% ในการส่งมอบพื้นที่ระยะแรก ช่วงสุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา พื้นที่มักกะสันและศรีราชาให้แก่เอกชนแล้ว คาดว่าหาก ครม.อนุมัติให้แก้ไขสัญญาร่วมลงทุน ร.ฟ.ท.จะสามารถเร่งรัดในช่วงของงานก่อสร้างให้แล้วเสร็จภายในปี 2569 พร้อมเริ่มมีการอบรมพนักงาน เริ่มทดสอบระบบ
โครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก วงเงิน 204,240 ล้านบาท
ปัจจุบันสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) ได้ลงนามสัญญาร่วมลงทุนกับบริษัท อู่ตะเภา อินเตอร์เนชั่นแนล เอวิเอชั่น จำกัด เมื่อวันที่ 19 มิ.ย.2563 แต่ยังไม่สามารถส่งมอบพื้นที่ 6,500 ไร่ ให้เอกชนได้ตามแผนกำหนด เนื่องจากมีการเสนอปรับรายละเอียดแผนก่อสร้างให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน อีกทั้งการสร้างรันเวย์ที่ 2 ที่อยู่ในความรับผิดชอบของกองทัพเรือ ที่ผ่านมามีปัญหาเรื่องแหล่งเงิน และคณะรัฐมนตรี (ครม.) สั่งการให้กระทรวงการคลังเร่งรัดการจัดหาแหล่งเงินกู้ให้กองทัพเรือ 16,304 ล้านบาท เพราะกองทัพเรือไม่ได้รับจัดสรรงบประมาณตามที่ขอผูกพันไว้ระหว่างปี 2565-2568 ขณะที่เอกชนคู่สัญญาประเมินแผนดำเนินงานว่าภาครัฐจะสามารถส่งมอบพื้นที่ให้เริ่มงานก่อสร้างได้ภายในปีนี้
การโอนสิทธิบริหาร 3 ท่าอากาศยานของกรมท่าอากาศยาน (ทย.) ได้แก่ ท่าอากาศยานอุดรธานี, บุรีรัมย์ และกระบี่
ปัจจุบันยังไม่สามารถเสนอเข้าสู่ที่ประชุม ครม.เพื่ออนุมัติได้ เนื่องจากยังอยู่ระหว่างจัดทำรายละเอียดทางการเงินตามข้อเสนอแนะของกรมธนารักษ์ กระทรวงการคลัง และสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือสภาพัฒน์ คาดว่าจะเสนอให้ ครม.พิจารณาเห็นชอบได้ภายในไตรมาสที่ 1 ปี 2566 ซึ่งในส่วนของเงินชดเชยจาก ทอท. เพื่อนำเข้ากองทุนหมุนเวียนกรมท่าอากาศยานนั้น ทย. จะได้รับรายได้มากกว่าที่เคยได้รับ เพื่อนำเงินไปดูแล และพัฒนาท่าอากาศยานแห่งอื่นๆ ต่อไป
โครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง (มอเตอร์เวย์) หมายเลข 6 (M6) สายบางปะอิน-นครราชสีมา
นับเป็นโครงการที่ล่าช้าจากแผนเดิมกำหนดแล้วเสร็จในปี 2563 แต่ผลจากการออกแบบโครงการที่ไม่อัพเดตให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน ส่งผลให้รัฐต้องเสียงบประมาณเพิ่มเติมในการออกแบบ การก่อสร้าง และที่สำคัญประชาชนเสียโอกาสจากการใช้บริการล่าช้าออกไป โดยล่าสุดเมื่อวันที่ 7 ก.พ.2566 กระทรวงคมนาคมได้เสนอให้ที่ประชุม ครม. พิจารณาแก้ไขปรับปรุงแบบก่อสร้างตามสัญญาและอนุมัติค่างานก่อสร้างเพิ่มขึ้นในโครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง (มอเตอร์เวย์) หมายเลข 6 (M6) สายบางปะอิน-นครราชสีมา ระยะทาง 196 กิโลเมตร (กม.) จำนวน 12 ตอน วงเงิน 4,900 ล้านบาท จากทั้งหมด 16 ตอน วงเงิน 6,950 ล้านบาท
แต่อย่างไรก็ดี ยังเหลืองานโยธาอีก 4 ตอนที่ยังอยู่ระหว่างการพิจารณาขั้นตอนการจ่ายเงินให้เป็นไปตามระเบียบกฎหมาย ขณะที่ภาพรวมการก่อสร้างของทั้งโครงการในปัจจุบันนั้น มีความคืบหน้า 98% โดย ทล.ตั้งเป้าจะเร่งรัดงานก่อสร้างแล้วเสร็จทั้งโครงการประมาณปี 2567 จากนั้นจะดำเนินการทดสอบระบบ ก่อนที่จะเปิดให้บริการเต็มรูปแบบในปี 2568 จากแผนเดิมจะเปิดให้บริการเต็มรูปแบบในช่วงปลายปี 2566 หรือต้นปี 2567
โครงการพัฒนารถไฟทางคู่ ระยะที่ 2 ตามแผนจะพัฒนารวม 7 เส้นทาง ระยะทางรวม 1,479 กิโลเมตร วงเงิน 275,301 ล้านบาท
กระทรวงคมนาคมมีแผนจะผลักดันเส้นทางช่วงขอนแก่น-หนองคาย ระยะทาง 167 กิโลเมตร วงเงินลงทุน 29,748 ล้านบาท ให้ ครม. พิจารณาอนุมัติเป็นเส้นทางแรกภายในปี 2565 และเริ่มก่อสร้างในปี 2566 แต่ปัจจุบันยังไม่สามารถดำเนินการเสนอโครงการได้ เช่นเดียวกับอีก 6 เส้นทาง เดิมตั้งเป้าจะทยอยเสนอให้ ครม. พิจารณาอนุมัติภายในปี 2566
สำหรับรถไฟทางคู่ ระยะที่ 2 ประกอบด้วย
1.ช่วงขอนแก่น-หนองคาย ระยะทาง 167 กิโลเมตร วงเงินลงทุน 29,748
2.ช่วงชุมทางถนนจิระ-อุบลราชธานี ระยะทาง 308 กิโลเมตร วงเงิน 37,527 ล้านบาท
3.ช่วงปากน้ำโพ-เด่นชัย ระยะทาง 281 กิโลเมตร วงเงิน 62,859 ล้านบาท
4.ช่วงชุมพร-สุราษฎร์ธานี ระยะทาง 168 กิโลเมตร วงเงิน 24,294 ล้านบาท
5.ช่วงสุราษฎร์ธานี-ชุมทางหาดใหญ่-สงขลา ระยะทาง 321 กิโลเมตร วงเงิน 57,375 ล้านบาท
6.ช่วงชุมทางหาดใหญ่-ปาดังเบซาร์ ระยะทาง 45 กิโลเมตร วงเงิน 6,661
7.ช่วงเด่นชัย-เชียงใหม่ ระยะทาง 189 กิโลเมตร วงเงิน 56,837 ล้านบาท
โครงการรถไฟความเร็วสูง (ไฮสปีดเทรน) ไทย - จีน ระยะที่ 1 ช่วงกรุงเทพฯ - นครราชสีมา
ความคืบหน้าล่าสุดการก่อสร้างโครงการรถไฟไฮสปีด เฟสที่ 1 ช่วงกรุงเทพฯ – นครราชสีมา ระยะทาง 253 กิโลเมตร โดยรวม 14 สัญญา วงเงิน 1.79 แสนล้านบาท ปัจจุบันภาพรวมก่อสร้างงานโยธาอยู่ที่ 16.72% นับเป็นโครงการที่ดำเนินการมาแล้วกว่า 5 ปี อีกทั้งปัจจุบันยังติดปัญหาในบางสัญญางานก่อสร้างที่ยังไม่สามารถเริ่มงานได้ อาทิ สัญญาที่ 4-5 ช่วงบ้านโพ-พระแก้ว ระยะทาง 13.3 กิโลเมตร ที่ยังอยู่ในขั้นตอนต่อรองราคากับเอกชน บริษัท บุญชัยพาณิชย์ (1979) อีกทั้งตัวสถานีอยุธยายังต้องรอให้รายงานผลกระทบด้านทรัพย์สินทางวัฒนธรรม (Heritage Impact Assessment : HIA) ของแหล่งมรดกโลกนครประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยาแล้วเสร็จก่อน
ส่วนสัญญาที่ 3-1 ช่วงแก่งคอย-กลางดง และช่วงปางอโศก-บันไดม้า ระยะทาง 30.2 กิโลเมตรนั้น ขณะนี้ รฟท. อยู่ระหว่างรอคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุดที่ชัดเจนอย่างเป็นทางการก่อน ซึ่งเบื้องต้น รฟท. คงต้องเดินหน้าตามผลคำพิพากษาที่ได้ยืนตามศาลปกครองชั้นต้น ส่งผลให้กิจการร่วมค้า ITD-CREC No.10JV ประกอบด้วย บริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนท์ จำกัด (มหาชน) กับ China Railway Engineering Corporation เป็นผู้ชนะประมูลในสัญญานี้ไป ทั้งนี้หลังจากได้รับคำพิพากษาแล้ว จะเชิญเอกชนมาเจรจาต่อรองเรื่องราคาอีกครั้งโดยราคาที่เอกชนเสนอก่อนหน้านี้อยู่ที่ประมาณ 9,349 ล้านบาท ขณะที่ราคากลางอยู่ที่ 11,386 ล้านบาท จากนั้นจะเสนอให้บอร์ด รฟท. พิจารณา และลงนามในสัญญาต่อไป
ขณะที่สัญญา 4-1 ช่วงบางซื่อ-ดอนเมือง ระยะทาง 15.2 กิโลเมตร อยู่ระหว่างแก้ไขสัญญาร่วมลงทุนโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน (ดอนเมือง-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา) ซึ่งขณะนี้ต้องรอความคิดเห็นจากคณะอนุกรรมการบริหารการพัฒนาเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กบอ.) ก่อน รวมทั้งต้องรอให้เอกชนยื่นขอรับการส่งเสริมการลงทุนให้แล้วเสร็จ (บีโอไอ) ก่อน จึงจะสามารถออกประกาศหนังสือเริ่มปฏิบัติงาน (NTP)
โครงการลงทุนส่วนต่อขยายรถไฟชานเมืองสายสีแดง
ปัจจุบันมี 3 โครงการที่มีความพร้อมในการเสนอขออนุมัติจาก ครม.โดยกระทรวงฯ ได้ทบทวนวงเงินค่าก่อสร้างแล้วเสร็จ แต่ยังติดขั้นตอนขอความเห็นจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ซึ่ง 3 โครงการที่มีความพร้อมนั้น มีวงเงินลงทุนรวมประมาณ 2.1 หมื่นล้านบาท ประกอบด้วย
1.ช่วงตลิ่งชัน-ศาลายา ระยะทาง 14.8 กิโลเมตร วงเงิน 10,670 ล้านบาท
2. ช่วงตลิ่งชัน-ศิริราช ระยะทาง 5.7 กิโลเมตร วงเงิน 4,694 ล้านบาท
3.ช่วงรังสิต-มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (ศูนย์รังสิต) ระยะทาง 8.84 กิโลเมตร วงเงิน 6,468 ล้านบาท
ส่วนช่วงบางซื่อ-พญาไท-มักกะสัน-หัวหมาก และช่วงบางซื่อ –หัวลำโพง (Missing Link) ที่มีระยะทาง 25.9 กิโลเมตร วงเงิน 47,000 ล้านบาท สถานะปัจจุบันยังอยู่ระหว่างปรับปรุงรายละเอียดโครงการ