ทีมปฏิบัติการเชิงรุกฯ – บีโอไอ กางแผนดันลงทุน เพิ่มจีดีพีไทย1.7 ล้านล้าน
ทีมปฏิบัติการเชิงรุก – บีโอไอ กางแผนดันลงทุน สร้างโอกาสเศรษฐกิจไทย เพิ่มจีดีพี 1.7 ล้านล้าน ชี้โอกาสเศรษฐกิจไทยเพียบทั้งจากอีวี และพลังงานสะอาดที่นักลงทุนต้องการ เผยบอร์ดอีวีจ่อของบ กลางฯ 4-5 พันล้านอุดหนุนค่ายรถที่ลดภาษีสรรพสามิต ขอสนับสนุนโรงงานแบตเตอรี่EV
Key Points
- ทีมปฏิบัติการเชิงรุกดึงการลงทุนทำงานร่วมกับบีโอไอในการดึงลงทุน
- ในการทำงาน 3 ปีที่ผ่านมาการผลักดันลงทุนรถ EV ทำให้มีค่ายรถยนต์หลายค่ายลงทุนในไทย
- ทีมตั้งเป้าใช้การลงทุนผลักดันจีดีพีเพิ่มอีก 1.7 ล้านล้านบาทในปี 2030
- บอร์ดอีวีแห่งชาติเตรียมเสนอของบกลางฯ 4 – 5 พันล้านอุดหนุนค่ายรถอีวีที่ลดภาษีฯ
- อุตสาหกรรมที่ผลักดันคือพลังงานสะอาดเพื่อรองรับกติกาใหม่ของโลก และสร้างจุดขายใหม่ของไทย
- บีโอไอมองว่าปัจจัยเศรษฐกิจโลกถดถอยและการเลือกตั้งไม่ส่งผลต่อการลงทุนในไทย
ม.ล.ชโยทิต กฤดากร ผู้แทนการค้าไทย ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี และหัวหน้าทีมปฏิบัติการเชิงรุกเพื่อดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศ กล่าวว่าตั้งแต่การเข้ามาทำงานในฐานะหัวหน้าทีมปฏิบัติการเชิงรุกตั้งแต่ 3 ปีก่อนได้ทำงานร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ในการดำเนินการตามยุทธศาสตร์ “Better and Green Thailand 2030” เพื่อผลักดันเศรษฐกิจไทยให้เติบโตอย่างแข็งแกร่ง และสอดคล้องกับยุทธศาสตร์การแข่งขันของโลกที่มุ่งไปสู่เรื่องของการลดการปล่อยคาร์บอน
โดยประเทศไทยมีเป้าหมายก้าวสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอนในปี 2050 ซึ่งได้นำเอาอุตสาหกรรมเป้าหมายมาจัดกลุ่มที่ต้องการโฟกัส ได้เป็น อุตสาหกรรม ยานยนต์ไฟฟ้า (EV) ดิจิทัล และอิเล็กทรอนิกส์
ทั้งนี้มีเป้าหมายในการดึงดูดการลงทุนที่ได้กำหนดไว้คือภายในปี 2030 จะต้องมีการลงทุนใหม่เข้ามาไม่ต่ำกว่า 2 ล้านล้านบาท สามารถเพิ่มผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี)ประเทศได้อีก1.7 ล้านล้านบาท และจ้างงานได้ 625,000 อัตรา
ทั้งนี้ที่ผ่านมาได้มีการดำเนินการในหลายเรื่องที่มีความสำเร็จ โดยเฉพาะในเรื่องของรถEV ที่ถือว่าประสบผลสำเร็จเป็นอย่างดีเกินคาด โดยในปีที่ผ่านมาประเทศไทยถือว่าเป็นอันดับต้นๆของโลกในแง่ของยอดขายรถ EV ทำให้เห็นว่าเรามีตลาดที่ใหญ่พอที่จะดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศ ขณะนี้มีผู้ผลิตรถยนต์รายใหญ่ระดับโลกเลือกใช้ไทยเป็นฐานผลิต เช่น เกรท วอลล์ มอเตอร์ (GMW) เอสเอไอซี มอเตอร์ (MG) บีวายดี ออโต้ (BYD) รวมถึงฟ็อกซ์คอนน์ที่ร่วมมือกับ ปตท. เป็นต้น
ทั้งนี้ในปีนี้จะมีบริษัทรถยนต์ค่ายยุโรปที่เข้ามาลงทุนผลิตรถ EV ในไทยเพิ่มเติมคือ บริษัท BMW ซึ่งจะเข้ามาใช้ไทยเป็นฐานการลงทุนเพื่อจำหน่ายในไทยและเป็นฐานสำหรับส่งออกไปยังอาเซียน ซึ่งก็ถือว่าเป็นความสำเร็จหลังจากที่สามารถดึงค่ายรถยนต์ไฟฟ้าชั้นนำของจีน และญี่ปุ่นให้เข้ามาลงทุนในไทยเพิ่มเติมได้
สำหรับอุตสาหกรรมต่อเนื่องในส่วนของรถ EV รัฐบาลอยู่ระหว่างทำงานในการเจรจากับบริษัทชั้นนำที่เป็นผู้ผลิตชิ้นส่วนสำคัญของรถ EV โดยเฉพาะในส่วนของอิเล็กทรอนิกส์ต้นน้ำ โดยมีเป้าหมายที่จะดึงการผลิตเข้ามาในประเทศไทย และในอนาคตต้องมีสัดส่วนในการผลิตชิ้นส่วนสำคัญของรถ EV มากกว่ามาเลเซีย ตามแนวโน้มของอุตสาหกรรม และระบบนิเวศน์รถ EV ที่ใหญ่มากขึ้นในประเทศไทย
ม.ล.ชโยทิต กล่าวต่อว่าภายใน 1 – 2 สัปดาห์นี้ คณะกรรมการยานยนต์ไฟฟ้า (บอร์ดอีวี) จะเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อรับทราบมติของ โดยมีเรื่องที่สำคัญคือการขอเงินสนับสนุนจากงบกลางรายการสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็นเร่งด่วนปี 2566 วงเงินประมาณ 4-5 พันล้านบาท เพื่อจ่ายอุดหนุนค่ายรถยนต์ที่เข้าโครงการกับภาครัฐที่ภาครัฐจ่ายเงินอุดหนุนภาษีสรรพสามิตรถEV สูงสุดคันละ 150,000 บาท ซึ่งวงเงินที่ขอไว้ถือว่าครอบคลุมจำนวนรถที่เข้าโครงการในช่วงที่ผ่านมา
นอกจากนั้นยังมีเงื่อนไขของการขยับระยะเวลาการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าในประเทศเพื่อชดเชยการนำรถEV เข้าทั้งคันเนื่องจากภาคเอกชนได้ขอให้มีการขยายระยะเวลาจากเดิมที่เคยกำหนดว่าต้องผลิตในจำนวน 1.5 เท่าของรถที่นำเข้าภายในระยะเวลา 2 ปี
ในส่วนของมาตรการสนับสนุนโรงงานแบตเตอรี่รถEV ด้วยเงินอุดหนุนการลงทุนจำนวน 2.4 หมื่นล้านบาท นั้นต้องรอ ครม.อนุมัติในหลักการเช่นกันเพื่อให้สามารถดำเนินมาตรการได้ต่อ และต้องอนุมัติภายในช่วงเวลาก่อนที่จะมีการยุบสภาฯเพื่อให้กรอบการดำเนินการในเรื่องนี้มีผลต่อเนื่องไปถึงช่วงรัฐบาลรักษาการ และทีมปฏิบัติการเชิงรุกเพื่อดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศ และบีโอไอสามารถนำไปใช้ในการโรดโชว์ได้หลังจากที่ได้นำเรื่องนี้เข้าสู่ ครม.ให้รับทราบแล้ว
นอกจากในเรื่องของรถยนต์ไฟฟ้าตอนนี้โอกาสของประเทศไทยคือเรื่องของพลังงานสะอาด ซึ่งนักลงทุนจำนวนมากที่ต้องการไฟฟ้าที่มาจากพลังงานสะอาดหรือพลังงานทดแทน โดยประเทศไทยวางแผนเพิ่มสัดส่วนการใช้พลังงานสะอาดมากกว่า 50% ในปี 2043 เป็นอีกหนึ่งปัจจัยสำคัญที่ทำให้นักลงทุนทั่วโลกให้ความสนใจลงทุนในประเทศไทยเนื่องจากสามารถจัดหาแหล่งพลังงานสะอาดให้นักลงทุนได้
โดยขณะนี้มีการหารือกันต่อเนื่องเกี่ยวกับโครงการขนาดใหญ่ในการลงทุนพลังงานสะอาดในประเทศไทยโดยเป็นการลงทุนจากซาอุดิอาระเบียที่จะเข้ามาลงทุนโรงงานผลิตไฮโดรเจนขนาด 1 ล้านตัน ด้วยวงเงินลงทุนประมาณ 3 แสนล้านบาท รวมทั้งมีการลงทุนเทคโนโลยีกักเก็บคาร์บอน ซึ่งธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับเรื่องการลดคาร์บอนมีกองทุนจากญี่ปุ่นที่พร้อมให้การสนับสนุน
ขณะที่อุตสาหกรรมดิจิทัล มีการลงทุนขนาดใหญ่จาก Amazon Web Services (AWS) ผู้ให้บริการ Data Center และ Cloud Service ในระดับ Hyperscale อันดับหนึ่งของโลก ที่มีแผนลงทุนในไทยประมาณ 1.9 แสนล้านบาท ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญที่จะช่วยยกระดับทักษะและการเข้าถึงดิจิทัลของคนไทย โดยเฉพาะผู้ประกอบการเอสเอ็มอีให้มีโอกาสทางธุรกิจมากขึ้น ฃ
นอกจากนี้ เมื่อเร็ว ๆ นี้ จากการเดินทางไปชักจูง การลงทุนที่สหรัฐอเมริกา ได้พบกับบริษัทเทคโนโลยีรายใหญ่ของโลก เช่น Google, Western Digital, Analog Devices ล้วนมีแผนขยายการลงทุนในประเทศไทยเพิ่มขึ้น
รวมทั้งในอุตสาหกรรมเป้าหมาย เช่น ตลอดจนการริเริ่มออกวีซ่าประเภทใหม่สำหรับผู้พำนักระยะยาว (Long-term Resident หรือ LTR Visa) เพื่อดึงดูดชาวต่างชาติที่มีศักยภาพสูง ได้แก่ ผู้มีทักษะเชี่ยวชาญพิเศษ ผู้ที่ต้องการทำงานจากประเทศไทย ผู้เกษียณอายุจากต่างประเทศ และผู้ที่มีฐานะทางเศรษฐกิจดี ให้เข้ามาทำงานและอยู่อาศัยระยะยาวในประเทศ ไทย ซึ่งจะช่วยสร้างรายได้ กระตุ้นเศรษฐกิจ และทำให้ประเทศไทยมีกลุ่มบุคลากรที่มีความรู้ความสามารถรองรับการพัฒนาอุตสาหกรรมในอนาคตได้
“ตอนทุกเรื่องเดินหน้าตั้งแต่วันแรกที่เข้ามาทำงาน วันนี้ทำแล้ว ทำอยู่ และถ้าทีมทางบีโอไอพร้อมจะทำต่อทุกอย่างจะไปสู่เป้าหมายที่วางไว้ได้”
นายนฤตม์ เทอดสถีรศักดิ์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) เปิดเผยว่าแม้ว่าในปีนี้เศรษฐกิจโลกมีปัญหาเรื่องเศรษฐกิจถดถอย ขณะที่ในประเทศไทยเข้าสู่การเลือกตั้ง แต่ว่าปัจจัยเหล่านี้ไม่ส่งผลกระทบต่อการดึงดูดการลงทุนในประเทศไทย เนื่องจากประเทศไทยทั้งด้านความพร้อมของโครงสร้างพื้นฐาน บุคลากรที่มีคุณภาพ อุตสาหกรรมสนับสนุนที่แข็งแกร่ง และศักยภาพการเป็นศูนย์กลางในหลาย ๆ ด้านของอาเซียน รวมถึงนโยบายสนับสนุนต่าง ๆ ของภาครัฐ เช่น การส่งเสริมอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า อิเล็กทรอนิกส์ต้นน้ำ ดิจิทัล และพลังงานสะอาด ทำให้บริษัทยักษ์ใหญ่ระดับโลกได้เลือกใช้ไทยเป็นฐานลงทุนธุรกิจใหม่ ๆ รวมทั้งในปัจจัยเรื่อง วิกฤตแบ่งขั้วทางการเมืองระหว่างประเทศ ทำให้เกิดการโยกย้ายฐานผลิตครั้งใหญ่
โดยเฉพาะใน 5 อุตสาหกรรมเป้าหมาย ได้แก่ ยานยนต์ไฟฟ้า ดิจิทัล อิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ BCG และอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ โดยมียอดขอรับส่งเสริม การลงทุน 5 อุตสาหกรรมนี้ ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา (พ.ศ. 2563 – 2565) รวมกัน 2,687 โครงการ มูลค่าเงินลงทุนกว่า 6 แสนล้านบาท ดังนี้
- อุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าและชิ้นส่วน รวมทั้งสถานีอัดประจุไฟฟ้า มียอดขอรับส่งเสริมรวม 46 โครงการ มูลค่า 78,115 ล้านบาท ผู้ประกอบการรายสำคัญ เช่น เมอร์เซเดส-เบนซ์, เกรท วอลล์ มอเตอร์, เอสเอไอซี มอเตอร์ (เอ็มจี), บีวายดี ออโต้, ฮอริษอน พลัส, กลุ่มพลังงานบริสุทธิ์, อีวีโลโม เทคโนโลยีส์ เป็นต้น
- อุตสาหกรรมดิจิทัล มียอดขอรับส่งเสริมรวม 420 โครงการ มูลค่า 64,481 ล้านบาท เช่น
อะเมซอน ดาต้า เซอร์วิสเซส, อาลีบาบา คลาวด์, หัวเว่ย เทคโนโลยี่, เทเลเฮ้าส์, กลุ่มทรู เป็นต้น
- อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ มียอดขอรับส่งเสริมรวม 92 โครงการ มูลค่า 113,990
ล้านบาท เช่น ซีเกท เทคโนโลยี, เวสเทิร์น ดิจิตอล, ไมโครชิพ เทคโนโลยี, แม็กซิม อินทริเกรดเต็ด โปรดักส์, แคล-คอมพ์ อีเล็คโทรนิคส์, โตชิบา เซมิคอนดัคเตอร์, ชิโคนี่ อีเลคทรอนิคส์
- อุตสาหกรรม BCG มียอดขอรับส่งเสริมรวม 1,911 โครงการ มูลค่า 305,170 ล้านบาท เช่น
เนเชอร์เวิร์คส, จีจีซี เคทิส ไบโออินดัสเทรียล, พีทีที เอ็มซีซี ไบโอเคม, พูแรค, เนสท์เล่,
อายิโนะโมะโต๊ะ, สไปเบอร์, เอ็นวิคโค เป็นต้น
- อุตสาหกรรมสร้างสรรค์ มียอดขอรับส่งเสริมรวม 218 โครงการ มูลค่า 53,104 ล้านบาท เช่น เดอะ สตูดิโอ พาร์ค, กันตนา สตูดิโอ, กราวิตี้ เกม เทค, แพนดอร่า โพรดักชั่น เป็นต้น
นอกจากนี้ บริษัทข้ามชาติหลายรายได้ตัดสินใจเข้ามาจัดตั้งสำนักงานภูมิภาค (Regional Headquarter) ในประเทศไทย เช่น อโกดา, หัวเว่ย เทคโนโลยี่, อาร์เซลิก ฮิตาชิ, อายิโนะโมะโต๊ะ, นิสชิน ฟู้ดส์, อัลสตอม, โตโยต้า มอเตอร์, นิปปอนสตีล เป็นต้น บริษัทเหล่านี้ใช้ประเทศไทยเป็นฐานหลัก ในการกำกับดูแลและให้บริการกับบริษัทในเครือที่ตั้งอยู่ในประเทศต่าง ๆ ในภูมิภาค ภายใต้ยุทธศาสตร์ใหม่
บีโอไอได้ออกมาตรการส่งเสริมการย้ายฐานธุรกิจแบบครบวงจร (Relocation Program) เพื่อกระตุ้นให้บริษัทชั้นนำจัดตั้งสำนักงานภูมิภาคในประเทศไทยมากขึ้น อีกทั้งบีโอไอได้ร่วมมือกับกรมสรรพากร กรมพัฒนาธุรกิจการค้า และธนาคารแห่งประเทศไทย จัดตั้งบริการช่องทางอำนวยความสะดวกออนไลน์สำหรับกิจการสำนักงานภูมิภาค (ระบบ HQ Biz Portal) โดยจะให้บริการไปพร้อมกับศูนย์บริการวีซ่าและใบอนุญาตทำงาน เพื่ออำนวยความสะดวกแก่นักลงทุนอย่างครบวงจร ทั้งการจัดตั้งกิจการสำนักงานภูมิภาคและการนำเข้าผู้เชี่ยวชาญจากต่างประเทศ
สำหรับแผนการดึงลงทุนของบีโอไอในปีงบประมาณ 2566 ได้วางแผนจัดกิจกรรมเชิงรุกเจาะกลุ่มเป้าหมายกว่า 200 ครั้ง ทั้งการจัดคณะโรดโชว์จากส่วนกลางและสำนักงานบีโอไอ 16 แห่งทั่วโลก เพื่อเผยแพร่มาตรการส่งเสริมการลงทุนใหม่และโอกาสการลงทุนในประเทศไทย การจัดสัมมนารายประเทศ
รายอุตสาหกรรม การจับมือกับกลุ่มที่จะมีผลต่อการตัดสินใจลงทุน เช่น ธนาคารใหญ่ บริษัทที่ปรึกษา สมาคมอุตสาหกรรม และหน่วยงานพันธมิตร และการเดินสายพบปะบริษัทสำคัญ
โดยมีนักลงทุนเป้าหมายหลัก คือ ญี่ปุ่น จีน ไต้หวัน เกาหลี อินเดีย สหรัฐอเมริกา และประเทศในยุโรป เช่น เยอรมนี ฝรั่งเศส สหราชอาณาจักร เนเธอร์แลนด์ เป็นต้น
นอกจากนี้บีโอไอได้สนับสนุนให้ ผู้ประกอบการไทยมีการปรับตัวให้สอดรับกับกระแสการเปลี่ยนแปลงของโลก ทั้งการใช้พลังงานสะอาดและการเปลี่ยนผ่านไปสู่การใช้เทคโนโลยีดิจิทัลและระบบอัตโนมัติ ผ่านมาตรการส่งเสริมการลงทุนเพื่อยกระดับอุตสาหกรรมไปสู่ Smart และ Sustainable Industry โดยช่วง 3 ปีที่ผ่านมา มียอดขอรับส่งเสริมในกลุ่มนี้ทั้งสิ้น 958 โครงการ มูลค่าเงินลงทุนกว่า 71,000 ล้านบาท
นอกจากนี้ บีโอไอยังส่งเสริมการกระจายการลงทุนให้เหมาะสมกับศักยภาพของพื้นที่เป้าหมายต่าง ๆ ทั่วประเทศ เช่น พื้นที่อีอีซี พื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษ 4 ภาค เขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดน พื้นที่จังหวัดชายแดนใต้และเมืองต้นแบบ พื้นที่ 20 จังหวัดรายได้ต่อหัวต่ำ รวมถึงเขตวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีต่าง ๆ เพื่อเพิ่มศักยภาพการแข่งขันและสร้างการเติบโตอย่างทั่วถึงด้วย