เช็คสถานะ ‘ไฮสปีดเทรนไทย-จีน’ ปักหมุดเปิดบริการเฟสแรกปี 70

เช็คสถานะ ‘ไฮสปีดเทรนไทย-จีน’  ปักหมุดเปิดบริการเฟสแรกปี 70

ร.ฟ.ท.เปิดความคืบหน้ารถไฟความเร็วสูงสายแรกของไทย ช่วงกรุงเทพฯ – นครราชสีมา ภายใต้ความร่วมมือระหว่างไทยและจีน ล่าสุดลุยตอกเสาเข็มแล้ว 11 สัญญา ปักธงแล้วเสร็จเปิดบริการภายในปี 2570

เมื่อวันที่ 19 ธ.ค. 2558 ถือเป็นการจุดพลุนับหนึ่งในโครงการรถไฟความเร็วสูง (ไฮสปีดเทรน) ภายใต้ความร่วมมือระหว่างประเทศไทยและจีน กรุงเทพฯ – หนองคาย ระยะที่ 1 ช่วงกรุงเทพฯ – นครราชสีมา โดยมีระยะทาง 250.77 กิโลเมตร วงเงินโครงการ 179,412.21 ล้านบาท เนื่องจากวันดังกล่าวมีการจัดพิธีวางศิลาฤกษ์ศูนย์ควบคุมและบริหารการเดินรถไฟที่เชียงรากน้อย จังหวัดพระนครศรีอยุธยา

นับระยะเวลาราว 8 ปี สำหรับการพัฒนาโครงการรถไฟความเร็วสูงสายแรกของประเทศไทย ซึ่งขณะนี้ ร.ฟ.ท. โดย นายนิรุฒ มณีพันธ์  ผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) ออกมาประกาศเป้าหมายอย่างชัดเจนว่า จะให้ความมั่นใจว่า โครงการไฮสปีดเทรนสายนี้จะเปิดให้บริการในช่วงกรุงเทพฯ - นครราชสีมา ภายในปี 2570

 

 

สำหรับความคืบหน้าโครงการรถไฟความเร็วสูง ช่วงกรุงเทพฯ - นครราชสีมา ระยะทาง 250.77 กิโลเมตร มีจุดเริ่มต้นจากสถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ ถึงสถานีปลายทางนครราชสีมา เป็นการพัฒนาด้วยระบบรถไฟความเร็วสูง (ตามมาตรฐาน UIC) ซึ่งมีความเร็วให้บริการสูงสุดที่ 250 กิโลเมตรต่อชั่วโมง มีความคืบหน้างานดังนี้

ในการก่อสร้างแบ่งเป็น 2 ส่วนได้แก่

1. การก่อสร้างงานโยธา แบ่งออกเป็น 14 สัญญา

  • ก่อสร้างแล้วเสร็จ 1 สัญญา
  • อยู่ระหว่างการก่อสร้าง 10 สัญญา
  • ยังไม่ลงนาม 3 สัญญา

2. สัญญางานระบบราง ระบบไฟฟ้าและเครื่องกล จัดหาขบวนรถไฟ และจัดฝึกอบรมบุคลากร ลงนามสัญญา เมื่อวันที่ 28 ต.ค. 2563 ขณะนี้อยู่ระหว่างดำเนินงานตามสัญญา มีระยะเวลาในการดำเนินงานจำนวน 64 เดือน

 

 

ร.ฟ.ท.คาดว่าโครงการรถไฟความเร็วสูง ช่วงกรุงเทพฯ - นครราชสีมา จะสามารถเปิดให้บริการได้ตามแผนงานที่วางไว้ คือ ภายในปี 2570 ซึ่งจะทำให้การเดินทางจากสถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ - ไปยัง สถานีปลายทางนครราชสีมา ใช้เวลาเพียง 90 นาทีเท่านั้น

 

ปัญหาเกี่ยวกับโครงการในขณะนี้ มีการดำเนินการ 5 ประเด็น ได้แก่

1. การเวนคืน ที่ส่งผลกระทบกับสัญญา ล่าสุดราชกิจจานุเบกษาได้ประกาศพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินที่จะเวนคืน เพื่อดำเนินการก่อสร้าง มีผลบังคับ ตั้งแต่ วันที่ 23 ส.ค. 2565 เป็นต้นไป

2. การขอพื้นที่จากส่วนราชการ เช่น กรมป่าไม้ กรมชลประทาน และกรมธนารักษ์ ซึ่งได้รับผลกระทบ 7 สัญญา ขณะนี้อยู่ะหว่างการพิจารณาของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

3. สถานีอยุธยา ที่คณะกรรมการแห่งชาติว่าด้วยอนุสัญญาคุ้มครองมรดกโลกให้พิจารณาย้ายสถานี ปัจจุบันการรถไฟแห่งประเทศไทย ได้ว่าจ้างที่ปรึกษาศึกษาผลกระทบต่อมรดกโลกทางวัฒนธรรม หรือ HIA แล้ว โดยเริ่มงานเมื่อวันที่ 25 ต.ค.2565 มีระยะเวลาดำเนินการ 6 เดือน กำหนดแล้วเสร็จวันที่ 24 เม.ย. 2566

4. โครงสร้างร่วมระหว่างโครงการฯ กับโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน ขณะนี้อยู่ระหว่างการออกแบบรายละเอียด ซึ่งคาดว่าจะออกแบบแล้วเสร็จและเริ่มก่อสร้างได้ ภายในต้นปี 2566

5. สถานการณ์โควิดที่กระทบงานระบบ ทำให้งานออกแบบระบบทั้งหมด และขบวนรถไฟงานก่อสร้างและติดตั้ง รวมถึง งานฝึกอบรมบุคลากรและงานถ่ายทอดเทคโนโลยีต้องหยุดชะงัก ล่าสุด ร.ฟ.ท.และคู่สัญญา อยู่ระหว่างตรวจสอบและแก้ไขรายละเอียดต่างๆ คาดว่าจะเดินหน้างานระบบได้ภายในต้นปี 2566