เศรษฐกิจโลกควรต้องจับตาใกล้ชิด | บัณฑิต นิจถาวร
อาทิตย์ที่แล้วผมได้รับคําถามพอควรเกี่ยวกับเงินบาทที่อ่อนค่าลงเทียบกับดอลลาร์ รวมถึงทิศทางตลาดหุ้นบ้านเราที่อ่อนตัวลงเช่นกัน
ห่วงกันว่าความอ่อนแอสะท้อนอะไรลึกๆ หรือไม่เกี่ยวกับเศรษฐกิจไทยและสถานการณ์เศรษฐกิจโลกขณะนี้ เป็นคําถามที่ดีมาก วันนี้จึงขอแชร์ความเห็นของผมเรื่องนี้ให้แฟนคอลัมน์ “เศรษฐศาสตร์บัณฑิต” ทราบ
เศรษฐกิจโลกขณะนี้ ผมคิดว่าดูดีขึ้นกว่าที่วิเคราะห์กันเมื่อสามเดือนก่อน แต่ความไม่แน่นอนมีมากและยังวางใจไม่ได้
1.เศรษฐกิจสหรัฐดูดีกว่าคาดในแง่ความสามารถในการขยายตัวแม้จะได้รับผลกระทบจากเงินเฟ้อที่สูงและการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย คือ เศรษฐกิจชะลอแต่โมเมนตัมเศรษฐกิจยังดูเข้มแข็งจากการบริโภคที่ขยายตัว
ซึ่งได้ประโยชน์จากตลาดแรงงานที่ตึงตัว การจ้างงานที่ขยายตัว และอัตราการว่างงานที่ต่ำ ล่าสุดอยู่ที่ร้อยละ 3.4 ต่ำสุดตั้งแต่ปี 1969
ภาวะดังกล่าวทําให้นักวิเคราะห์เริ่มลดทอนความเป็นไปได้ที่เศรษฐกิจสหรัฐจะเข้าสู่ภาวะถดถอยในช่วงนี้ ผลักให้โอกาสอาจเป็นช่วงครึ่งปีหลังเป็นส่วนใหญ่
2.เศรษฐกิจจีนสามารถก้าวข้ามความเสี่ยงของการเกิดการระบาดใหญ่หลังยกเลิกมาตรการคุมเข้มโควิดเมื่อปลายปีที่แล้วได้อย่างน่าพอใจ นำไปสู่การเปิดประเทศ ซึ่งเป็นผลดีทั้งต่อเศรษฐกิจจีนและเศรษฐกิจโลก
ทําให้แนวโน้มเศรษฐกิจโลกปีนี้ดูเข้มแข็งกว่าเดิมมาก ทําให้เศรษฐกิจไทยและเศรษฐกิจในเอเชียได้ประโยชน์ทั้งจากการท่องเที่ยว จากที่ผู้บริโภคจีนกลับมาใช้จ่าย และความต้องการสินค้าวัตถุดิบและชิ้นส่วนจากภูมิภาคที่เพิ่มขึ้น
3.เงินเฟ้อเริ่มแสดงแนวโน้มลดลงในบางส่วนของเศรษฐกิจโลกเช่นเอเชีย แต่ยังเป็นปัญหาใหญ่ในประเทศอุตสาหกรรม ที่สหรัฐตัวเลขเงินเฟ้อเดือนมกราคมที่ร้อยละ 6.4 ไม่ลดลงมากจากเดือนธันวาคมที่แล้ว
และมีความเป็นไปได้ที่ตัวเลขเดือนกุมภาพันธ์ที่จะประกาศเร็วๆ นี้อาจไม่ลดลงมากเช่นกัน เพราะการบริโภคในสหรัฐที่ขยายตัว ในยุโรปตัวเลขเงินเฟ้อเดือนกุมภาพันธ์ที่ร้อยละ 8.5 อยู่ในเกณฑ์สูง กระทบความเป็นอยู่ของประชาชนและเป็นปัญหาที่ต้องแก้ไข
ทั้งหมดชี้ว่า เศรษฐกิจโลกดูดีขึ้นในแง่การขยายตัวของเศรษฐกิจประเทศหลักคือสหรัฐกับจีน แต่ความไม่แน่นอนมีมาก
โดยเฉพาะเงินเฟ้อ ที่แม้จะเริ่มลดลงในบางพื้นที่ แต่ก็ยังอยู่ในระดับสูง คือ สูงกว่าร้อยละ 2 ซึ่งเป็นระดับเป้าหมายของธนาคารกลางส่วนใหญ่ และอาจยืนอยู่ในระดับสูงต่อไป
ทําให้ธนาคารกลางต้องปรับอัตราดอกเบี้ยขึ้นเพื่อให้อัตราเงินเฟ้อสามารถลดลงได้มากสุด ซึ่งหมายถึง ผลที่มีต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจ
ที่สำคัญ อัตราดอกเบี้ยที่จะต้องสูงขึ้นและอาจยืนอยู่ในระดับที่สูงต่อไป ถูกตีความในตลาดการเงินโลกว่า อัตราดอกเบี้ยจะสูงขึ้นอีกและจะไม่ลดลงง่าย คือ อัตราดอกเบี้ยจะ higher for longer
อัตราเงินเฟ้อที่ลดลงยากและยืนในระดับสูงนาน เป็นผลทั้งจากพลวัตของปัญหาเงินเฟ้อที่มีขณะนี้ และการเปลี่ยนแปลงในโครงสร้างเศรษฐกิจโลกที่เกิดขึ้น
สำคัญสุดคือความเป็นโลกาภิวัตน์ของเศรษฐกิจโลกที่อ่อนแอลงจากความขัดแย้งระหว่างสหรัฐกับจีน ทําให้การค้าโลกมีการแบ่งข้าง ส่งผลให้ต้นทุนการผลิตสูงขึ้น
นอกจากนี้สงครามระหว่างรัสเซียกับยูเครนก็ผลักดันให้ราคาพลังงาน อาหาร วัตถุดิบ และราคาสินค้าทั่วไปเพิ่มสูงขึ้น ซึ่งผลดังกล่าวจะลากยาว ทําให้เงินเฟ้อลดลงยากถ้าสงครามยืดเยื้อ
ในส่วนของปัญหาเงินเฟ้อขณะนี้ที่เงินเฟ้อลดลงก็มาจากราคา ในส่วนของสินค้าที่ลดลง เพราะข้อจำกัดด้านการผลิตที่เป็นผลจากโควิดได้ผ่อนคลายลง
แต่ที่ยังไม่ลดคือเงินเฟ้อในส่วนของราคาบริการที่ต้นทุนส่วนใหญ่มาจากค่าจ้างแรงงานที่ปรับสูงขึ้นจากภาวะตึงตัวในตลาดแรงงาน คือ มีความต้องการแรงงานมากกว่าจํานวนผู้ประสงค์ทำงาน
ที่สหรัฐขณะนี้ ตำแหน่งงานที่ว่างมีมากกว่าจำนวนผู้ประสงค์ทำงานถึงสองเท่า คือ อัตราส่วน สองต่อหนึ่ง นี่คือความไม่สมดุลในตลาดแรงงานที่กําลังส่งผลต่อเงินเฟ้อและจะใช้เวลาในการแก้ไข ทําให้เงินเฟ้อจะแก้ไขไม่ได้เร็ว
แนวโน้มที่อัตราดอกเบี้ยจะ higher for longer ทำให้ตลาดการเงินโลกเริ่มปรับตัวกับภาวะที่อัตราดอกเบี้ยสหรัฐจะสูงขึ้นและเงินดอลลาร์จะแข็งค่ามากขึ้นจากอัตราดอกเบี้ยสหรัฐที่จะสูงขึ้น ที่เห็นชัดคือตลาดหุ้นทั่วโลกปรับลดลง
ค่าเงินส่วนใหญ่อ่อนลงเทียบกับดอลลาร์ มีการไหลออกของเงินทุนต่างประเทศจากเศรษฐกิจประเทศตลาดเกิดใหม่
สะท้อนส่วนต่างอัตราดอกเบี้ย ที่คาดว่าจะกว้างขึ้นและเศรษฐกิจตลาดเกิดใหม่ที่จะถูกกระทบจากเงินดอลลาร์ที่แข็งค่า
กรณีของไทยก็ไม่ต่าง หุ้นเราปรับลง เกิดเงินทุนไหลออกจากการเทขายสินทรัพย์เงินบาทของนักลงทุน
เงินบาทอ่อนค่าเทียบกับดอลลาร์ อ่อนไป 4.93 เปอร์เซ็นต์ช่วงหนึ่งเดือนที่ผ่านมา ส่วนดัชนีหลักทรัพย์ก็ลดมาแตะระดับ 1,600 จาก 1,668 สิ้นปีที่แล้ว
คาดว่าตลาดคงปรับตัวตามข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐที่จะออกมาเพื่อรอสัญญาณจากธนาคารกลางสหรัฐที่จะประชุมครั้งต่อไปกลางเดือนนี้
สำหรับเศรษฐกิจไทย ข้อมูลล่าสุดเดือนมกราคมจากธนาคารแห่งประเทศไทยชี้ว่า ยังทรงตัวในแง่โมเมนตัมการขยายตัว ขับเคลื่อนโดยการใช้จ่ายภาครัฐและรายได้จากการท่องเที่ยวขณะที่การลงทุน การบริโภค และการส่งออก ยังประคองตัวไม่โดดเด่น
จุดอ่อนสำคัญของเศรษฐกิจเราขณะนี้อยู่ที่กําลังซื้อในประเทศที่อ่อนแอ ต้องพึ่งการใช้จ่ายจากภาครัฐ การส่งออก และการท่องเที่ยวในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ทําให้แนวโน้มเศรษฐกิจโลกสำคัญมากต่อเศรษฐกิจเราปีนี้
จึงเป็นเรื่องดีที่เศรษฐกิจโลกดูดีขึ้น แต่ความไม่แน่นอนมีมาก และสถานการณ์อาจพลิกกลับได้ ควรต้องติดตามใกล้ชิด
เศรษฐศาสตร์บัณฑิต
ดร.บัณฑิต นิจถาวร
ประธานมูลนิธินโยบายสาธารณะเพื่อสังคมและธรรมาภิบาล