‘พาณิชย์’ โล่งอก ‘เงินเฟ้อ’ คลี่คลาย ก.พ.ต่ำที่สุดในรอบ 13 เดือน
"พาณิชย์" เผยเงินเฟ้อเดือน ก.พ.อยู่ที่ 3.79 % ต่ำสุดในรอบ 13 เดือน ผลจากราคาพลังงงาน อาหาร ที่ชะลอตัว ชี้เงินเฟ้อ อยู่ในช่วงขาลง คาดเดือนมี.ค.ชะลอตัวอีก ส่งสัญญาณทบทวนเป้าทั้งปีแต่ยังอยู่ในกรอบ 2-3%
key points
- ราคาพลังงานที่ลดลงทำให้เงินเฟ้อ ก.พ.2566 ต่ำที่สุดในรอบ 13 เดือน
- กระทรวงพาณิชย์ ประเมินว่าเงินเฟ้อ มี.ค.2566 จะใกล้เคียงกับ ก.พ.2566
- อัตราเงินเฟ้อไทยอยู่อันดับที่ 29 จาก 139 ประเทศที่มีการประกาศตัวเลข
- สถานการณ์ปัจจุบันทำให้ประเมินว่าเงินเฟ้อในปีนี้จะขยายตัว 2-3%
ดัชนีราคาผู้บริโภคของไทย หรือ 'เงินเฟ้อ' เดือนก.พ. 2566 เท่ากับ 108.05 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน ซึ่งเท่ากับ 104.10 ส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อทั่วไป สูงขึ้น 3.79 % ชะลอตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 และอยู่ระดับต่ำสุดในรอบ 13 เดือน ส่งผลให้เงินเฟ้อทั่วไป ชะลอตัวลงเข้าใกล้กรอบเป้าหมายที่กำหนดไว้ที่ 2-3% ในปีนี้
สำหรับสาเหตุหลักที่ทำให้เงินเฟ้อชะลอตัวลงมาจากราคาพลังงานที่สูงขึ้นเพียง 5.03 % ซึ่งต่ำสุดรอบ 2 ปี อาหารบางประเภท โดยเฉพาะอาหารสำเร็จรูปและอาหารสด
ประกอบกับฐานราคาที่ใช้คำนวณเงินเฟ้อปี 2565 อยู่ในระดับสูง มีส่วนทำให้เงินเฟ้อไม่ขยายตัวมากนักและเงินเฟ้อเฉลี่ย 2 เดือน (ม.ค.-ก.พ.) เพิ่มขึ้น 4.40%
ทั้งนี้ ในส่วนของเงินเฟ้อพื้นฐาน เมื่อหักอาหารสดและพลังงานออก เพิ่มขึ้น 0.11% เมื่อเทียบกับเดือน ม.ค.2566 และเพิ่มขึ้น 1.93% เมื่อเทียบกับ ก.พ.2565 รวม 2 เดือนเพิ่มขึ้น 2.48%
นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) เปิดเผยว่า อัตราเงินเฟ้อเริ่มมีแนวโน้มเป็นขาลง คาดการณ์ว่าเงินเฟ้อในช่วงไตรมาส 1 จะเพิ่มขึ้นไม่เกิน 4% จากฐานปีที่แล้วสูง ราคาสินค้าเริ่มชะลอตัวรวมทั้งราคาพลังงาน ส่วนเงินเฟ้อทั้งปียังวางกรอบเงินเฟ้อไว้ที่ 2.0-3.0%
โดยกระทรวงพาณิชย์จะมีการปรับประมาณการเงินเฟ้อของปี 2566 ใหม่อีกครั้งในเดือน มี.ค. เนื่องจากสมมติฐานสำคัญมีการเปลี่ยนแปลงไป ทั้งการขยายตัวทางเศรษฐกิจ อัตราแลกเปลี่ยน และราคาน้ำมันในตลาดโลก
อย่างไรก็ตามมั่นใจว่าทั้งปีเงินเฟ้อจะไม่หลุดกรอบ 2.0-3.0% แต่ต้องติดตามปัจจัยต่างที่มีผลกระทบต่อเงินเฟ้อ โดยเฉพาะความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยนเงินบาท ซึ่งล่าสุดอยู่ช่วง 34-35 บาทต่อดอลลาร์ ซึ่งเป็น 1 ใน 3 ของปัจจัยหลักของสมมติฐานเพราะค่าเงินบาทมีผลต่อการนำเข้าราคาพลังงานค่อนข้างมาก และมีผลต่อการคำนวณเงินเฟ้อเพราะถ้าค่าเงินบาทอ่อนค่ามาก ต้นทุนการนำเข้าน้ำมัน และวัตถุดิบอื่นสูงตามไปด้วย
นายวิชานัน นิวาตจินดา รองผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กล่าวว่า เงินเฟ้อเดือน ก.พ.2566 ที่สูงขึ้น 3.79% มาจากการสูงขึ้นในอัตราที่ชะลอตัวของสินค้าทั้งในหมวดอาหารและหมวดอื่นที่ไม่ใช่อาหาร
โดยในหมวดอาหารและเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ สูงขึ้น 5.74% ชะลอตัวจากเดือนม.ค.2566 ที่สูงขึ้น 7.70% โดยมีสินค้าที่ราคาสูงขึ้น เช่น อาหารสำเร็จรูป กับข้าวสำเร็จรูป ข้าวราดแกง อาหารเช้า ผักและผลไม้ เช่น มะนาว แตงกวา แตงโม ส้มเขียวหวาน ข้าวสาร ไข่
ขณะที่ราคาเนื้อสัตว์ เช่น ไก่สด ปลาทู เนื้อสุกร ราคายังคงเพิ่มขึ้นตามต้นทุนและความต้องการที่เพิ่มขึ้น ส่วนสินค้าที่ราคาลดลง เช่น ผักคะน้า ผักชี พริกสด น้ำมันพืช มะพร้าว และมะขามเปียก
สินค้าหมวดอื่นที่ไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่ม สูงขึ้น 2.47% โดยเดือนม.ค.2566 เพิ่ม 3.18% มีสินค้าสำคัญที่ราคาลดลง เช่น น้ำมันเชื้อเพลิงในกลุ่มแก๊สโซฮอล์และน้ำมันเบนซิน เครื่องใช้ไฟฟ้า เช่น เครื่องรับโทรทัศน์ เครื่องปรับอากาศ เครื่องซักผ้า น้ำยาระงับกลิ่นกาย ผลิตภัณฑ์ป้องกันและบำรุงผิว แป้งผัดหน้า ผ้าอ้อมสำเร็จรูป และค่าทัศนาจรในประเทศ
ขณะที่ค่าไฟฟ้า ก๊าซหุงต้ม ค่าโดยสารสาธารณะ เช่น แท็กซี่ เรือ รถเมล์เล็ก สองแถว เครื่องบิน วัสดุก่อสร้าง ค่าใช้จ่ายส่วนบุคคล เช่น ยาสีฟัน กระดาษชำระ ค่าแต่งผมชาย ราคาปรับสูงขึ้นเล็กน้อย
นอกจากนี้ในเดือน ก.พ.2566 มีสินค้าและบริการสำคัญที่ราคาลดลง 45 รายการ เช่น น้ำมันพืช ผักชี ผักคะน้า พริกสด ขิง มะพร้าว ค่าสมาชิกเคเบิ้ลทีวี เครื่องรับโทรทัศน์
ส่วนสินค้าและบริการสำคัญที่ราคาเพิ่มขึ้น 334 รายการ เช่น ค่าไฟฟ้า น้ำมันเชื้อเพลิง ก๊าซหุงต้ม อาหารสำเร็จรูป ไข่ไก่ กระเทียม มะนาว เป็นต้น ส่วนสินค้าและบริการสำคัญที่ราคาไม่เปลี่ยนแปลง 51 รายการ เช่น ค่าเบี้ยประกัน ค่าน้ำประปา ค่าบริการขนขยะ รองเท้า
ทั้งนี้ เมื่อเทียบกับเงินเฟ้อในต่างประเทศ (ข้อมูลล่าสุดเดือน ม.ค.2566) จะพบว่า อัตราเงินเฟ้อของไทยอยู่ในระดับต่ำ เป็นอันดับที่ 29 จาก 139 ประเทศที่มีการประกาศตัวเลข ซึ่งถือว่าอยู่ในระดับที่ดีกว่าหลายประเทศ เช่น สหรัฐ สหราชอาณาจักร อิตาลี เม็กซิโก อินเดีย และเกาหลีใต้ รวมถึงประเทศในอาเซียน เช่น ลาว ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ และอินโดนีเซีย
สำหรับ แนวโน้มเงินเฟ้อเดือน มี.ค.2566 คาดว่าจะชะลอตัวลง ตามราคาสินค้าในกลุ่มอาหารสดหลายรายการที่คาดว่าจะลดลงต่อเนื่อง และราคาขายปลีกน้ำมันเชื้อเพลิงในประเทศที่มีแนวโน้มชะลอตัวตามราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกที่อยู่ระดับต่ำกว่าปีที่ผ่านมา ประกอบกับฐานราคาในเดือน มี.ค.2565 ค่อนข้างสูง การส่งออกของไทยที่มีแนวโน้มลดลงตามอุปสงค์โลก และการดำเนินนโยบายการเงินแบบเข้มงวด จะกดดันต่อการขยายตัวของเงินเฟ้อ
แต่ค่าไฟฟ้าที่ยังอยู่ในระดับสูงกว่าปีที่ผ่านมา ราคาก๊าซหุงต้มที่จะปรับตัวสูงขึ้นในเดือน มี.ค.2566 การท่องเที่ยวที่ฟื้นตัวต่อเนื่อง และราคาสินค้าเกษตรสำคัญหลายรายการยังคงขยายตัวได้ดี จะส่งผลให้เงินเฟ้อชะลอตัวไม่มากนัก
ส่วนอัตราเงินเฟ้อในช่วงครึ่งหลังของปี 2566 มีโอกาสจะได้เห็นเงินเฟ้อลดลงไปอยู่ในระดับใกล้เคียงกับ 0% เนื่องจากฐานที่สูงในปีก่อน รวมทั้งหากราคาน้ำมันในตลาดโลกปรับตัวลดลงอย่างมาก ก็อาจจะเห็นเงินเฟ้อติดลบได้ในบางเดือนของช่วงครึ่งปีหลังนี้
กระทรวงพาณิชย์ ยังคงคาดการณ์อัตราเงินเฟ้อทั่วไปปี 2566 อยู่ระหว่าง 2.0-3.0% ภายใต้สมมติฐานเมื่อเดือน พ.ย.2565 ที่จีดีพีปีนี้โต 3-4% น้ำมันดิบดูไบเฉลี่ย 85-95 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล และอัตราแลกเปลี่ยน 36-37 บาทต่อดอลลาร์ แต่ปัจจุบันสมมติฐานเดิมมีการเปลี่ยนแปลงก็คาดว่าในเดือนหน้า กระทรวงพาณิชย์จะปรับกรอบเงินเฟ้อใหม่อีกแต่ก็ยังอยู่ในกรอบนี้เพียงแต่จะปรับกรอบให้แคบลง คงต้องขอเวลาอีก 1 เดือน รอดูความผันผวนของราคาน้ำมัน และอัตราแลกเปลี่ยน
ส่วนเม็ดเงินจากช่วงรณรงค์หาเสียงเลือกตั้ง สนค.ได้รวมไว้อยู่ในประมาณการเงินเฟ้อของปี 2566 แล้ว ส่วนจะส่งผลต่อเงินเฟ้อมากน้อยเพียงใดนั้น คงไม่สามารถตอบได้ชัดเจน เพราะต้องขึ้นอยู่กับว่าจะใช้เงินมากน้อยแค่ไหน แต่เบื้องต้นมองว่าเม็ดเงินจะลงไปในส่วนของภาคการผลิตโดยตรง เช่น การพิมพ์โปสเตอร์ แผ่นพับ ป้ายหาเสียง รวมถึงภาคแรงงาน ซึ่งก็จะส่งผลดีต่อกำลังซื้อในระยะสั้น