'โฮคูริคุ' สายรถไฟ พัฒนาญี่ปุ่น (จบ) | กันต์ เอี่ยมอินทรา

'โฮคูริคุ' สายรถไฟ พัฒนาญี่ปุ่น (จบ) | กันต์ เอี่ยมอินทรา

โฮคูริคุ คือความพยายามเพิ่มทางเลือกเชื่อมระหว่างโตเกียวและโอซากา เมืองเศรษฐกิจที่ใหญ่ที่สุดของญี่ปุ่น 2 เมืองเข้าด้วยกัน ทำหน้าที่เสมือนเป็นฟันเฟือนในการจายรายได้ กระจายความเจริญ และลดความเหลื่อมล้ำของเมืองในหุบเขา

เห็นนายกฯและคณะนั่งรถไฟขบวนหรู Royal Blossom ไปสัมมนาพรรคที่หัวหินแล้วก็ชวนให้คิดเล่นๆว่า ไทยเรานั้นมีศักยภาพที่จะพัฒนาประเทศอีกมาก โดยใช้ระบบรางเป็นหนึ่งในกลไกการพัฒนา

ใครจะรู้ว่าเมื่อร้อยกว่าปีก่อนมีเพียง 2 ชาติในเอเชียเท่านั้นที่มีรถไฟ ซึ่งถือเป็นจุดชี้วัดความเจริญของประเทศนั่นคือ “ไทย” ในรัชสมัยของ ร.5 และ “ญี่ปุ่น” ในสมัยของจักรพรรดิเมจิ

ร้อยกว่าปีผ่านไป ญี่ปุ่นพัฒนาระบบรางอย่างต่อเนื่องจนกลายเป็นหนึ่งในกรณีศึกษาของการใช้รถไฟพัฒนาประเทศและการกระจายรายได้ ลดความเหลื่อมล้ำ ขณะที่ไทยเราพัฒนาไปน้อยมากจนกระทั่งปัจจุบันจากชาติผู้นำเทรน กลายมาเป็นชาติผู้รับบริจาค อย่าง Royal Blossom นี้ก็รับบริจาคมาจากญี่ปุ่น

ฉบับที่แล้วผมเกริ่นถึงสภาวะแวดล้อมทางภูมิศาสตร์ ประวัติศาสตร์ และเศรษฐกิจการเมือง ที่ส่งผลให้รถไฟญี่ปุ่นเป็นหนึ่งในฟันเฟืองในการพัฒนาประเทศ แต่สิ่งที่สำคัญที่สุดในการทำให้ญี่ปุ่นพัฒนานั้นคือ “ความคิดแบบญี่ปุ่น” อาทิ ความตั้งใจในงานที่ทำและการพัฒนาอย่างต่อเนื่องสู่ความเป็นเลิศ ซึ่งความคิดในเชิงนี้เองที่ทำให้เกิดความเป็นเลิศในทุกมิติ และรถไฟก็คือหนึ่งในตัวอย่างความสำเร็จนี้

เหมือนกับไทย ญึ่ปุ่นเริ่มต้นการพัฒนาประเทศในช่วงเมจิ (ตรงกับช่วง ร.5) ด้วยการนำเข้าเทคโนโลยี ต่อมาจึงพยายามลอกเลียนแบบ และพัฒนาให้ดีขึ้นจนสามารถผลิตรถไฟ รถยนต์ เครื่องใช้ไฟฟ้าได้จนมีแบรนด์และเป็นเจ้าของตลาดโลกในช่วงหนึ่ง ปัจจุบันแม้เศรษฐกิจจะไม่อู้ฟู่รุ่งเรืองเท่าในอดีต แต่การพัฒนาก็ไม่ได้หยุดอยู่กับที่ อย่างกรณีของสายรถไฟโฮคูริคุ ที่เชื่อมระหว่างสองฝั่งทะเลญี่ปุ่น เป็นต้น

โฮคูริคุ คือความพยายามเพิ่มทางเลือกเชื่อมระหว่างโตเกียวและโอซากา เมืองเศรษฐกิจที่ใหญ่ที่สุดของญี่ปุ่น 2 เมืองเข้าด้วยกัน จากเดิมที่พึ่งพาเส้นทางโบราณอย่างโทไคโด นอกจากนั้นแล้วเส้นทางโฮคูริคุใหม่นี้ ยังทำหน้าที่เสมือนเป็นฟันเฟืองในการจายรายได้ กระจายความเจริญ และลดความเหลื่อมล้ำของเมืองในหุบเขาค่อนไปทางด้านในของทวีป อาทิ นากาโน และเมืองริมทะเลญี่ปุ่น อาทิโทยามา คานาซาวา ที่ค่อนข้างเงียบเหงาและมีความเจริญน้อยกว่าอีกฝั่งทะเล

จริงอยู่ที่ขบวนรถไฟความเร็วสูงทำให้เมืองใหญ่ที่เป็นสถานีนั้นเจริญและคึกคัดขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ แต่เมืองเล็กๆรายรอบก็พลอยได้รับอานิสงส์ด้วย แต่การจะดึงเม็ดเงินเข้าเมืองเล็กๆนั้นมิใช่เรื่องง่าย และปัจจัยที่สำคัญก็คือเอกลักษณ์และทรัพยากรที่เมืองเหล่านั้นมีอยู่เดิมประกอบกับกลยุทธ์การตลาด

\'โฮคูริคุ\' สายรถไฟ พัฒนาญี่ปุ่น (จบ) | กันต์ เอี่ยมอินทรา

เมือง ฟูกูอิ (Fukui) คือหนึ่งในกรณีที่น่าศึกษายิ่ง เมืองนี้มีเอกลักษณ์คือการค้นพบซากไดโนเสาร์ และก็ใช้จุดแข็งเรื่องไดโนเสาร์นี้มาประยุกต์ รีแบรนด์เมืองให้กลายเป็นเมืองแห่งไดโนเสาร์ โดยมีพิพิธภัณฑ์ไดโนเสาร์ที่ดีงามเลิศหรูยิ่งใหญ่ติดอันดับโลกเป็นเรือธง ดึงดูดนักท่องเที่ยวเกือบ 1 ล้านคนในแต่ละปี ขณะที่การตบแต่งสถานีและเส้นทางรถไฟก็น่ารักเข้าธีม เกิดเป็นจุดท่องเที่ยวยอดนิยมของกลุ่มครอบครัว

ฟูกูอิ รู้ “จุดแข็ง-จุดอ่อน” ของตัวเองและจุดอ่อนก็คือระบบการเชื่อมต่อจากสถานที่ท่องเที่ยวในแต่ละจุดนั้นเป็นไปด้วยความยากลำบากและใช้เวลา ดังนั้นจึงออกแบบจุดเชื่อมต่อในแต่ละเส้นทางให้ดูรื่นรมย์ เกิดสุนทรียะในการรอคอยรถบัส/รถไฟ เช่นการออกแบบขบวนรถไฟโปเกมอน การตบแต่งเมือง สถานี ด้วยความน่ารักของไดโนเสาร์ แม้กระทั่งการออกตั๋วร่วมเพื่อความคุ้มค่า ขณะเดียวกันก็กระตุ้นให้นักท่องเที่ยวลองเที่ยวในสถานที่เที่ยวรองๆ เพิ่มขึ้น

รายรอบฟูกูอิ ยังมีวัดและธรรมชาติที่สวยงาม มีน้ำพุร้อนและมีเมืองริมทะเล ซึ่งทั้งหมดเหล่านี้เป็นทุนหรือจุดแข็งเดิมที่เมืองมี ประกอบกับกลยุทธ์ทางการตลาด การสร้างกิมมิคที่น่ารักโดยมีธีมไดโนเสาร์ทั่วเมือง ประกอบกับความเข้าใจผู้บริโภคและนำเสนอความคุ้มค่าด้วยตั๋วร่วม จึงทำให้ฟูกูอิ กลายเป็นจุดพักค้างคืนที่มากกว่าการเที่ยวแบบไปเช้าเย็นกลับ ซึ่งเมืองในไทยที่มีจุดแข็งคล้ายคลึงฟูกูอิอย่างมากนั่นคือ“กาฬสินธุ์”ถิ่นไดโนเสาร์ที่มีโอกาสอย่างมากในการต่อยอดเป็นแม่เหล็กแห่งอีสาน