‘3 เหตุผล’ ความพ่ายแพ้ ของแฮร์ริส และพรรคเดโมแครต | กันต์ เอี่ยมอินทรา

‘3 เหตุผล’ ความพ่ายแพ้  ของแฮร์ริส และพรรคเดโมแครต | กันต์ เอี่ยมอินทรา

เปิด 3 เหตุผล ทำไมรองประธานาธิบดีคามาลา แฮร์ริส และพรรคเดโมแครตพ่ายแพ้ให้กับอดีตประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์

ไม่ใช่แค่เพียงสหรัฐ แต่ขณะนี้ทั้งโลกจำต้องเข้าใจและปรับตัวพร้อมรับกับความเปลี่ยนแปลงที่มีแนวโน้มจะเกิดขึ้นอย่างแน่นอนภายหลังการชนะเลือกตั้งอย่างขาดลอยของโดนัลด์ ทรัมป์

ซึ่งหากวิเคราะห์ในเชิงตัวเลขแล้ว การเลือกตั้งครั้งนี้คือชัยชนะอย่างเด็ดขาดที่สุดเท่าที่ทรัมป์เคยลงแข่งขันมา ตั้งแต่รอบแรกในปี 2016 กับฮิลลารี คลินตัน ที่ชนะและได้เป็นประธานาธิบดีคนที่ 45 ของสหรัฐ และในปี 2020 ที่แพ้ให้กับประธานาธิบดีโจ ไบเดน และรองประธานาธิบดีคามาลา แฮร์ริส โดยมีชัยชนะอย่างเด็ดขาดทั้งในส่วนคะแนนคณะผู้เลือกตั้งและคะแนนดิบ (popular vote) ที่สูงเป็นประวัติการณ์ในฐานะผู้สมัครของพรรครีพับริกัน ที่มักจะแพ้ในส่วนนี้

มีเหตุผลใหญ่ๆ 3 ประการ หากจะวิเคราะห์ในส่วนของคามาลา แฮร์ริส ว่าทำไมเธอถึงพ่ายแพ้อย่างขาดลอยให้กับทรัมป์ ซึ่งสำนักข่าวหลายสำนักของเมืองนอก อย่างบีบีซีของอังกฤษ และอัลจาซีราซึ่งเป็นกระบอกเสียงของทางชาติอาหรับ ต่างเห็นตรงกัน นั่นคือ

1.ความเชื่อมโยงกับประธานาธิบดีไบเดน ผู้ซึ่งมีคะแนนความนิยมที่ตกต่ำอย่างมากโดยเฉพาะในระยะหลัง ซึ่งสามารถแยกได้ 2 ส่วนคือ ในส่วนของความนิยมส่วนตัวของไบเดน อันเนื่องมาจากภาวะสุขภาพที่ดูจะย่ำแย่ สิ่งละอันพันละน้อย อาทิ การตอบคำถาม การเดิน หรือแม้กระทั่งการเรียกชื่อคนผิดๆ แต่คามาลาก็ยืนหยัดในคำตอบเกี่ยวกับไบเดนถึงสุขภาพที่ดี ซึ่งสวนกับความรู้สึกของประชาชนส่วนใหญ่

และอีกส่วนที่มีความสำคัญมาก คือการบริหารประเทศภายในระยะเวลาเกือบ 4 ปีที่ผ่านมาของไบเดนนั้น ทำให้ประชาชนรู้สึกว่าข้าวของแพง เงินเฟ้อ ตำแหน่งงานหดตัว เศรษฐกิจอยู่ในขาลง และสงครามทั้งในกาซาและยูเครน และแนวนโยบายของแฮร์ริสที่ทำให้ประชาชนไม่รู้สึกถึงความแตกต่างอย่างเห็นได้ชัด ประมาณว่าหากเลือกแฮร์ริสก็อาจจะเสมือนภาคต่อของไบเดน

2.ตัวคามาลา แฮร์ริสเองที่ไม่สามารถคุมกลุ่มฐานเสียงหลัก (เดิมๆ) ที่ช่วยให้พรรคเดโมแครตเข้าสู่ทำเนียบขาว อาทิ กลุ่มผู้ใช้แรงงานผู้พูดภาษาสเปน (Hispanic) ซึ่งลดลงกว่า 13 จุด กลุ่มผู้ใช้แรงงานผิวดำ (Black) ซึ่งลดลงกว่า 2 จุด และกลุ่มผู้ลงคะแนนที่มีอายุน้อย (ต่ำกว่า30ปี) ซึ่งลดลงกว่า 6 จุด เมื่อเทียบกับการเลือกตั้งครั้งก่อน และกลุ่มคนเหล่านี้เองคือตัวช่วยให้ไบเดนชนะ

หลายสำนักก็วิเคราะห์ถึงการได้มาเป็นตัวแทนของคามาลาที่รวดเร็วและเหมือนจะเป็นทางลัดอันเนื่องมาจากการถอนตัวอย่างกะทันหันของไบเดน ทางลัดนี้เองที่ข้ามกระบวนการสรรหาตั้งแต่ระดับต้น (Primary) ที่โดยปกติจะดำเนินระยะเวลาหลายเดือนก่อนการเลือกตั้ง เพื่อขับเคี่ยวเลือกเฟ้นตัวแทนที่เหมาะสมที่สุดของพรรค ขณะเดียวกันขบวนการนี้เองก็ช่วยสร้างฐานเสียงและประชาสัมพันธ์ให้กับตัวแทน

3.แนวทางการหาเสียงที่นิยมการโจมตีทรัมป์มากกว่าการนำเสนอนโยบาย แคมเปญการหาเสียงของแฮร์ริสสามารถพูดได้ว่าเป็นแคมเปญของผู้สมัครที่สั้นที่สุดในประวัติศาสตร์การเมืองสหรัฐ แต่เลือกที่จะโจมตีทรัมป์มากกว่าการโปรโมตแนวนโยบายที่เธอจะทำ หากเธอได้รับเลือก ซึ่งถือเป็นจุดอ่อนอย่างมาก เพราะด้วยระยะเวลาที่สั้นเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว แต่กลับเลือกใช้เวลาอย่างไม่คุ้มค่า

ประชาชนอเมริกันต่างรู้ข้อเด่น ข้อด้อยของทรัมป์อย่างชัดเจนแจ่มแจ้ง ดังนั้นการเลือกโจมตีทรัมป์นั้นจึงไม่ใช่อะไรใหม่ การใช้แคมเปญหาเสียงป้ายสีว่าทรัมป์นั้นคือศัตรูของประชาธิปไตยบ้าง เป็นฮิตเลอร์บ้างนั้น ไม่สร้างสรรค์ และประชาชนอเมริกันต่างให้ความสำคัญกับเรื่องปากเรื่องท้องมากกว่า ซึ่งจุดนี้เองที่แฮร์ริสสอบตก ไม่สามารถทำให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งเชื่อได้ว่าภายใต้การนำของเธอ ชีวิตความเป็นอยู่ของพวกเขาจะดีกว่าเดิม