Victoria's Secret VS กรุงเทพเมืองแฟชั่น | กันต์ เอี่ยมอินทรา

Victoria's Secret  VS กรุงเทพเมืองแฟชั่น | กันต์ เอี่ยมอินทรา

การกลับมาของ Victoria's Secret Fashion Show ปีนี้มีความหมายมากกว่าความสวยงามตามคติดั้งเดิม แต่ประเด็นที่อยากจะชวนคิดกัน คือ ในเมื่อ Victoria's Secret ทำได้ แล้วทำไมไทยเราถึงทำไม่ได้? ไทยเราทุ่มงบประมาณกับ "กรุงเทพเมืองแฟชั่น" ไม่น้อย แต่ทำไมผลลัพธ์ถึงยังไม่ปัง?

สัปดาห์ก่อนมีแฟชั่นโชว์ชุดชั้นในของ Victoria's Secret Fashion Show (VSFS) ที่กลายเป็นทอล์กออฟเดอะทาวน์

ซึ่งก็มีหลายเหตุผลด้วยกัน ทั้งในแง่ของการกลับมาของการโชว์ชุดชั้นในในตำนานที่แต่ก่อนมีทุกปีจนกระทั่งช่วงโควิดที่ผ่านมา ทำให้โชว์นี้ห่างหายไปถึง 6 ปี หรือในแง่ของลายเซ็นต์เอกลักษณ์ของโชว์ที่จะมีสาวสวยนุ่งน้อยห่มน้อยภายใต้เรือนร่างที่สวยงามตามแบบฉบับ “ความสมบูรณ์แบบ” ที่นิยม หรือแม้กระทั่งกระทำให้โชว์สนุกสนานด้วยการดึงนักร้องชื่อดังเข้ามาแสดงในงาน ทั้งหมดทั้งมวลนี้คือเสน่ห์หรือเอกลักษณ์ดั้งเดิมของ VSFS

แต่สิ่งที่ทำให้ VSFS ปีนี้มีความหมายมากกว่าความสวยงามตามคติดั้งเดิม คือ การโอบรับความแตกต่างและท้าทายนิยามความสวยแบบดั้งเดิม ด้วยนางแบบที่มีเอกลักษณ์สะท้อนผู้หญิงในโลกจริงๆ ที่สังขารก็เสื่อมไปตามวัย มีไขมัน มีเซลลูไลท์ อ้วน ผิวไม่เนียน คิ้วดกเกิน ผิวสี อายุมาก มีริ้วรอย รูปร่างสูงหรือผอมเกิน เป็นต้น และนี่คือสิ่งที่ทำให้โชว์นี้ดูมีความหมาย ควรค่ากับการสนทนา และมิเป็นเพียง “อีกหนึ่งแฟชั่นโชว์” ที่ก็เหมือนๆ กับแบรนด์อื่นๆ

ถึงจะบรรยายได้ดี ได้เก่งขนาดไหน ก็ไม่เท่ากับการดูด้วยตา ดังนั้นจึงอยากเชิญชวนผู้อ่านลองเข้าไปชมกัน แต่ประเด็นที่อยากจะชวนคิดกัน คือ ในเมื่อ Victoria's Secret ทำได้ แล้วทำไมไทยเราถึงทำไม่ได้? ทำไมไทยเราที่ประกาศตัวเป็นเมืองแฟชั่นเป็นสิบๆ ปีแล้ว ไทยเราทุ่มงบประมาณกับแฟชั่นไม่น้อย แต่ทำไมผลลัพธ์ถึงยังไม่ปัง?

ในเชิงการตลาดไทยเรานั้นถือว่าเป็นตลาดที่ใหญ่และสำคัญของภูมิภาค เรามีคน 70 ล้านคนซึ่งถือว่าไม่น้อย เรามีคนเมือง (ที่อาศัยอยู่ในเขตเมือง) น่าจะมากกว่า 15 ล้านคน เพราะแค่เมืองหลักของเราอย่าง กทม. เชียงใหม่ ภูเก็ต ขอนแก่น ก็ร่วม 15 ล้านคนแล้ว ดังนั้นตลาดของเราจึงใหญ่พอกับการลงทุนทำสินค้าหรือบริการเพื่อมาตอบโจทย์คนกลุ่มนี้

ไทยยังเป็นศูนย์กลางและจุดหมายสำคัญของหลายประเทศรายรอบ คนมากทม.เพื่อมาชอปปิงดูคอนเสิร์ต หากมองในแง่ของแฟชั่น ไทยเราเป็นเมืองเปิด ไม่เหมือนกับมาเลเซียหรืออินโดนีเซียที่มีหลักศาสนาอย่างเคร่งครัด ขนาดและความเจริญของเราที่ใหญ่และเจริญกว่าลาว กัมพูชา เมียนมา หรือแม้กระทั่งเวียดนาม จึงทำให้คนเหล่านี้มักมาช้อปหรือเที่ยวที่กทม.

คำถามคือ ในเมื่อเรามีตลาด เรามี demand จำนวนไม่น้อย แต่ทำไม supply ในด้านแฟชั่นของเราถึงไม่เป็นที่นิยม?

หนึ่งในปัจจัยก็คือความไม่สม่ำเสมอของนโยบายการสนับสนุนจากรัฐ และ/หรือการทุ่มงบประมาณที่ไม่ตรงจุด อุดหนุนผิดคน หรืออุดหนุนผิดช่องทาง นี่คือคำถามที่กลุ่มอุตสาหกรรมแฟชั่นเองน่าจะให้คำกระจ่างได้ดีที่สุด การให้คนในอุตสาหกรรมมีปากเสียงมากขึ้นจึงมีความสำคัญ เพื่อให้เกิด Peer evaluation หรือการประเมินกันเองในกลุ่ม เพื่อคัดเลือกทั้งแบรนด์และแนวทางการโปรโมต

สองในเชิงของระบบนิเวศ ecosystem ของอุตสาหกรรมแฟชั่นของไทยเรานั้น อาจจะเรียกได้ว่าอยู่ในระดับเดียวหรือแม้กระทั่งต่ำกว่า ecosystem ของอุตสาหกรรมภาพยนตร์หรือเพลงเสียด้วยซ้ำ ใช่ว่าเราไม่มีคนเก่ง ไม่มีคนมีความสามารถ แต่ตลาดรองรับและศูนย์บ่มเพราะฟักตัวคนเก่งนั้นน้อยมาก เช่นกรณีของลิซ่า ที่ต้องอาศัย ecosystem ของเกาหลีถึงจะเจริญเติบโตมีชื่อเสียงในระดับโลกได้

นี่คือเหตุผลว่าทำไมนโยบาย กรุงเทพเมืองแฟชั่น (ใช้งบ 1,800 ล้านบาท) ตั้งแต่ปี 2546 ยังไม่ออกดอกผล และเกรงว่านโยบาย Soft power (ใช้งบ 5,300 ล้านบาท) ในปีที่ผ่านมา จะไม่ออกดอกผลเช่นกัน