กกพ. แง้มค่าไฟเดือน พ.ค.-ส.ค. 66 ต่ำสุด 4.75 บาท เร่งประชาพิจารณ์ 3 ตัวเลือก
กกพ.ยังกั๊กค่าไฟงวดใหม่ ชง 3 ราคาเปิดประชาพิจารณ์ก่อนบอร์ดเคาะ 22 มี.ค. ต่ำสุดขยับขึ้นกว่างวดนี้แต่ไม่เกิน 4.80 บาท จ่อรายงานบิ๊กตู่ ในบอร์ดกพช. 9 มี.ค. 66
แหล่งข่าวจากคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) เมื่อนี้ (8 มี.ค. 66) เปิดเผยว่า ที่ประชุมกกพ. ที่มีนายเสมอใจ ศุขสุเมฆ เป็นประธาน ได้รับทราบภาระต้นทุนค่าไฟฟ้าผันแปร หรือ Ft งวดใหม่เดือนพ.ค. - ส.ค. 2566 โดยให้สำนักงาน กกพ. นำค่าเอฟทีประมาณการและแนวทางการจ่ายภาระต้นทุนคงค้างของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย หรือกฟผ. ที่แบกรับไปคำนวณ แบ่งเป็น 3 กรณี จากนั้นให้ชี้แจงรายละเอียดกับสื่อมวลชนในวันที่ 10 มี.ค. นี้ เพื่อเปิดรับฟังความคิดเห็นจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ระหว่างวันที่ 10 – 20 มี.ค. 2566 ก่อนที่จะเสนอบอร์ดกกพ.พิจารณาอนุมัติค่าไฟงวดใหม่ต่อไปในวันที่ 22 มี.ค. 2566
สำหรับค่าไฟงวดใหม่ที่จะเปิดประชาพิจารณ์ 3 กรณี กรณีราคาต่ำสุด มากกว่าหน่วยละ 4.72 บาท ซึ่งเป็นอัตราค่าไฟในงวดปัจจุบัน (ม.ค. - เม.ย.) แต่จะไม่ถึงหน่วยละ 4.80 บาท ส่วนกรณีอัตราสูงสุด เป็นการคืนหนี้ให้กฟผ. 1 แสนกว่าล้านบาทเต็มจำนวน คาดว่า อยู่ที่มากกว่าหน่วยละ 6 บาท
“ตอนนี้ทางกกพ. ยังไม่สามารถสรุปรายละเอียดตัวเลขที่ชัดเจนได้ เพราะต้องนำผลการประชุมครั้งนี้ไปคำนวณอีกครั้ง โดยค่าไฟงวดใหม่ จะแบ่งเป็น 3 กรณี แบบงวดที่ผ่านมา เพื่อเปิดประชาพิจารณ์ แต่ละกรณีจะแบ่งการจ่ายคืนหนี้ให้กฟผ. ที่ต้องแบกภาระต้นทุนแทนประชาชนไปก่อนหน้านี้ประมาณ 1 แสนกว่าล้านบาท เช่น ทยอยจ่ายหน่วยละ 30 -40 สต. หรือจ่ายทั้งหมด ซึ่งจะทำให้ค่าไฟฟ้าราคาสูงสุดเกินกว่าหน่วยละ 6 บาท"
อย่างไรก็ตาม ผลสุดท้ายต้องฟังประชาพิจารณ์ทั้งหมด และกลับมาเสนอให้บอร์ดกกพ.พิจารณาอีกครั้งประมาณวันที่ 22 มี.ค. 2566 ขณะเดียวกันในการประชุมคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานในวันที่ 9 มี.ค. 2566 เชื่อว่า พล.อ.ประยุทธ์ จะมีการสอบถามในเรื่องดังกล่าว คาดว่าจะมีการชี้แจงให้นายกรัฐมนตรีรับทราบต่อไป
ล่าสุดมีรายงานว่า บอร์ดกกพ.เคาะอัตราค่าไฟฟ้ากรณีต่ำสุดอยู่ที่อัตรา 98 สตางค์ต่อหน่วย สูงกว่างวดที่ผ่านมาเล็กน้อย อยู่ที่อัตรา 93.43 สตางค์ต่อหน่วย เมื่อรวมกับค่าไฟฐาน ส่งผลให้ราคาค่าไฟที่ประชาชน ต้องจ่ายเฉลี่ยประมาณ 4.75 บาทต่อหน่วย จากงวดปัจจุบัน 4.72 บาทต่อหน่วย เป็นกรณีที่ต้องทยอยชำระค่าเชื้อเพลิงให้กับกฟผ.ที่แบกรับแทนประชาชนก่อนหน้านี้ประมาณ 1.3 แสนล้านบาท เฉลี่ย 5 งวด งวดละ 41 สตางค์ต่อหน่วย แต่ถ้ากรณีชำระคืนหนี้ให้กฟผ.ทั้งหมด ค่าไฟต้องเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 2.93 บาทต่อหน่วย ทำให้ประชาชนต้องจ่ายค่าไฟฟ้าเฉลี่ย 6.69 บาทต่อหน่วย เชื่อว่า ประชาชนจะเลือกอัตราที่ต่ำสุด