ตรึงราคาก่อนเลือกตั้ง ‘คนไทย’ หายห่วง ดีเซล-ก๊าซหุงต้ม-ค่าไฟ ไม่ปรับขึ้น
กระทรวงพลังงาน ยังคงตรึงราคาพลังงานทั้ง น้ำมันดีเซล-ก๊าซหุงต้ม-และค่าไฟ ในช่วงโค้งสุดท้ายก่อนเลือกตั้ง ส่งผลให้ประชาชนคนไทยได้หายใจหายคอคล่องต่อไปอีกระยะ
Key Points
- ตรึงราคาน้ำมันดีเซลลิตรละ 34 บาทต่อเนื่อง
- คงราคาก๊าซหุงต้ม LPG ภาคครัวเรือนถัง 15 กก. ที่ 423 บาท 3 เดือน
- ลดค่าไฟฟ้าภาคอุตสาหกรรมเหลือเท่าภาคประชาชนอัตราเดียว 4.72 บาท
ในช่วงโค้งสุดท้ายก่อนรัฐบาล “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” นายกรัฐมนตรี จะยุบสภาและเข้าสู่ขั้นตอนการเลือกตั้ง ส่งผลให้ประชาชนต่างจับตามองนโยบายด้านต่าง ๆ ของรัฐบาลหรือแม้แต่การหาเสียงของพรรคการเมืองต่าง ๆ โดยเฉพาะราคาพลังงาน “น้ำมัน-ก๊าซหุงต้ม-ไฟฟ้า” ถือเป็นต้นทุนสำคัญต่อเศรษฐกิจประเทศ
นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน กล่าวว่า จากสถานการณ์ราคาขายปลีกก๊าซ NGV ตั้งแต่ปลายปี 2564 ต่อเนื่องปี 2565 ที่อยู่ในระดับสูง ภาครัฐจึงได้มีมาตรการบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชน โดยขอความอนุเคราะห์ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) กำหนดราคาขายปลีกก๊าซ NGV ดังนี้
1. รถยนต์ทั่วไป ให้คงราคาขายปลีกก๊าซ NGV ที่ 17.59 บาทต่อกิโลกรัม เป็นเวลา 3 เดือน โดยให้มีผลตั้งแต่วันที่ 16 มีนาคม 2566 ถึงวันที่ 15 มิถุนายน 2566
2. รถแท็กซี่ในโครงการเอ็นจีวีเพื่อลมหายใจเดียวกัน ของ ปตท. ให้คงราคาขายปลีกก๊าซ NGV ไว้ที่ 13.62 บาทต่อกิโลกรัม เป็นเวลา 3 เดือน โดยให้มีผลตั้งแต่วันที่ 16 มีนาคม 2566 ถึงวันที่ 15 มิถุนายน 2566
นอกจากนี้ ยังทบทวนการกำหนดราคาก๊าซปิโตรเลียมเหลว (LPG) คงราคาขายส่งหน้าโรงกลั่น LPG ที่ 20.9179 บาทต่อกิโลกรัม (ไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม) โดยมีกรอบเป้าหมายเพื่อให้ราคาขายปลีก LPG อยู่ที่ประมาณ 423 บาทต่อถัง 15 กิโลกรัม มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2566 ถึงวันที่ 30 มิถุนายน 2566
ในขณะที่ราคาน้ำมันดีเซลซึ่งถือเป็นพลังงานที่สำคัญต่อภาคอุตสาหกรรมอีกส่วนสำคัญ กระทรวงพลังงานก็ได้ใช้กลไก สำนักงานกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง (สกนช.) ใช้เงินตรึงราคามาอย่างต่อเนื่อง แม้จะมีปรับขึ้นบ้างในช่วงที่ราคาน้ำมันตลาดโลกพุ่งสูงขึ้น และกองทุนน้ำมันฯ ตรึงมากสุดถึงลิตรละ 14 บาท จึงมีการปรับลดภาษีน้ำมันดีเซลถึงลิตรละ 5 บาท เป็นต้น ทั้งนี้ ช่วงเดือนพ.ย.-ธ.ค. 2565 ราคาน้ำมันดีเซลตลาดโลกปรับลดลง ส่งผลให้กองทุนน้ำมันฯ สามารถเก็บเงินเข้ากองทุนกว่า 2 หมื่นล้านบาทมาจนถึงปัจจุบัน กระทรวงพลังงานจึงปรับลดราคาขายปลีกน้ำมันดีเซลและคงไว้ที่ลิตรละ 34 บาท
นอกจากนี้ ยังกำหนดสัดส่วนการผสมไบโอดีเซลในน้ำมันกลุ่มดีเซลหมุนเร็วให้เป็นไปตามสัดส่วนการผสม ดังนี้
- น้ำมันดีเซลหมุนเร็ว บี7 ไม่ต่ำกว่าร้อยละ 6.6 และไม่สูงกว่าร้อยละ 7 โดยปริมาตร
- น้ำมันดีเซลหมุนเร็วธรรมดา ไม่ต่ำกว่าร้อยละ 6.6 และไม่สูงกว่าร้อยละ 10 โดยปริมาตร
- น้ำมันดีเซลหมุนเร็ว บี20 ไม่ต่ำกว่าร้อยละ 6.6 และไม่สูงกว่าร้อยละ 20 โดยปริมาตร
ให้มีผลตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2566 ถึงวันที่ 30 กันยายน 2566 เพื่อไม่ให้ต้นทุนเนื้อน้ำมันดีเซลปรับเพิ่มขึ้น และลดภาระกองทุนน้ำมันฯ ในการรักษาระดับราคาขายปลีกน้ำมันดีเซล
โดยประมาณการฐานะกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงวันที่ 5 มี.ค. 2566 กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงสุทธิติดลบ 101,686 ล้านบาท โดยแบ่งเป็นบัญชีน้ำมัน 55,468 ล้านบาท และบัญชีก๊าซ LPG ติดลบ 46,218 ล้านบาท
นายสุพัฒนพงษ์ กล่าวว่า แนวโน้มค่าไฟฟ้าเดือนพ.ค.-ส.ค.2566 จะเหลืออัตราเดียวทั้งภาคครัวเรือน และภาคอุตสาหกรรม จากเดิมที่ใช้ค่าไฟฟ้า 2 อัตรา คือ ค่าไฟสำหรับครัวเรือนอยู่ที่ 4.72 บาทต่อหน่วย และค่าไฟภาคอุตสาหกรรม 5.33 บาทต่อหน่วย โดยการปรับลดลงของภาคอุตสาหกรรมมาเท่ากับภาคครัวเรือนนั้นเป็นไปตามแนวนโยบายที่ต้องช่วยดูแลผู้ประกอบการอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจโลกถดถอย ที่ทำให้ภาคการส่งออกได้รับผลกระทบ
ส่วนค่าไฟฟ้าของภาคครัวเรือนซึ่งอยู่ที่ 4.72 บาทต่อหน่วย ในงวดนี้ในฐานะผู้กำกับนโยบายก็ได้ให้นโยบายกับหน่วยงานที่จัดทำค่าไฟฟ้าคือ คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) แล้วว่าไม่ควรที่จะปรับเพิ่มขึ้นเนื่องจากต้นทุนการผลิตไฟฟ้าคือ ก๊าซธรรมชาติมีแนวโน้มลดลงในช่วงที่ผ่านมา
รายงานข่าวจากกระทรวงพลังงาน ระบุว่า แม้ว่าสำนักงาน กกพ. จะชง 3 แนวทางเพื่อกำหนดราคาค่าไฟฟ้าเดือน พ.ค.-ส.ค. 2566 เพื่อเปิดรับฟังความคิดเห็นระหว่างวันที่ 1-20 มี.ค. 2566 ก่อนจะเข้าที่ประชุมบอร์ดกกพ. พิจารณาวันที่ 22 มี.ค. 2566 และประกาศเป็นทางการวันที่ 23 มี.ค. 2566
กกพ. ได้คำนวณค่าไฟไว้ 3 แนวทาง คือ
กรณีที่ 1 : คือ (จ่ายคืนภาระต้นทุนคงค้างใน 1 งวด) ค่าเอฟทีเรียกเก็บประจำงวดเดือน พ.ค. - ส.ค. 2566 จำนวน 293.60 สตางค์ต่อหน่วย
แบ่งเป็นเอฟทีขายปลีกประมาณการที่สะท้อนต้นทุนเดือน พ.ค. - ส.ค. 2566 จำนวน 63.37 สตางค์ต่อหน่วย และเงินเรียกเก็บเพื่อชดเชยต้นทุนที่เกิดขึ้นจริงของ กฟผ. ทั้งหมด หรือ เงินภาระต้นทุนคงค้างสะสมเดือน ก.ย. 2554 - ธ.ค. 2555 จำนวน 150,268 ล้านบาท คิดเป็น 230,23 สตางค์ต่อหน่วย ทำให้ค่าไฟฟ้า (ไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม) ปรับเพิ่มขึ้นเป็น 6.72 บาทต่อหน่วย ตามรายงานการ คำนวณตามสูตรเอฟที
กรณีที่ 2 : (จ่ายคืนภาระต้นทุนคงค้างใน 5 งวด) ค่าเอฟทีเรียกเก็บประจำงวดเดือน พ.ค. - ส.ค. 2556 จำนวน 105.25 สตางค์ต่อหน่วย
แบ่งเป็นเอฟที่ขายปลีกประมาณการที่สะท้อนต้นทุนเดือน พ.ค.-ส.ค. 2556 จำนวน 63.37 สตางค์ต่อหน่วย และเงินทยอยเรียกเก็บเพื่อชดเชยต้นทุนที่เกิดขึ้นจริงที่คาดว่าจะคงเหลือจาก เดือน ม.ค. – เม.ย. 2556 จำนวน 136,686 ล้านบาท บางส่วน (เงินภาระต้นทุนคงค้างสะสมเดือน ก.ย. - ธ.ค. 2565 หักภาระต้นทุนคงค้างที่ กกพ. เห็นชอบให้ทยอยเรียกเก็บบางส่วนเดือน ม.ค. - เม.ย. 2556 จำนวน 22.22 สตางค์ต่อหน่วย เป็นเงินประมาณ 13,584 ล้านบาท)
โดยแบ่งเป็น 5 งวดๆละ 27,337 ล้านบาทหรืองวด ละ 41.88 สตางค์ต่อหน่วยเพื่อให้ กฟผ. ได้รับเงินคืนครบภายในเดือน ธ.ค. 2557 โดย กฟผ. จะต้องบริหาร ภาระต้นทุนที่เกิดขึ้นจริงแทนประชาชนจำนวน 109,349 ล้านบาท ทำให้ค่าไฟฟ้า (ไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม) ปรับ เพิ่มขึ้นเป็น 4.84 บาทต่อหน่วย ตามข้อเสนอของ กฟผ.
กรณีที่ 3 : (จ่ายคืนภาระต้นทุนคงค้างใน 6 งวด) ค่าเอฟทีเรียกเก็บประจำงวดเดือน พ.ค. - ส.ค. 2556 จำนวน 98.27 สตางค์ต่อหน่วย
แบ่งเป็นเอฟที่ขายปลีกประมาณการที่สะท้อนต้นทุนเดือน พ.ค. ส.ค. 2556 จำนวน 63.37 สตางค์ต่อหน่วย และเงินทยอยเรียกเก็บเพื่อชดเชยต้นทุนที่เกิดขึ้นจริงคาดว่าจะคงเหลือจากเดือน ม.ค. – เม.ย. 2556 จำนวน 136,686 ล้านบาท บางส่วน โดยแบ่งเป็น 6 งวดๆ ละ 22,781 ล้านบาทหรืองวดละ 34.90 สตางค์ต่อหน่วยเพื่อให้ กฟผ. ได้รับเงินคืนครบภายใน 2 ปี (เม.ย. 2558) โดย กฟผ. จะต้องบริหารภาระ ต้นทุนที่เกิดขึ้นจริงแทนประชาชนจำนวน 113,905 ล้านบาท ทำให้ค่าไฟฟ้า (ไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม) ปรับเพิ่มขึ้น เป็น 4.77 บาทต่อหน่วย
“แม้ว่ากกพ.จะกำหนดราคามายังสูงกว่าที่นายสุพัฒนพงษ์ ต้องการนิดหน่อย แต่ 3 แนวทางที่นำเสนอก็ยังไม่ถือว่าเป็นราคาที่สิ้นสุด ซึ่งการจะปรับลดลงได้อีกนั้นก็มีความเป็นไปได้ จะเห็นได้จากการที่กกพ. เคยประกาศอัตราค่าไฟฟ้ารอบเดือน ม.ค.-เม.ย. 2566 ไปแล้ว แต่รัฐบาลได้มีนโยบายให้ปรับการคำนวณใหม่เพื่อให้ค่าไฟลดลงอีก ซึ่งกกพ.ก็ดำเนินการตามนโยบายรัฐบาล โดยปรับลดการจ่ายเงินคืนค่า Ft ที่ค้างจ่าย กฟผ. จากเดิม 33 สตางค์ เหลือ 22 สตางค์ เป็นต้น”