ความเชื่อมโยงเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจไทย: มุมมองผ่าน Mega Trend
ตลอด 30-40 ปีที่ผ่านมา เศรษฐกิจโลกได้เชื่อมโยงกับเศรษฐกิจไทยมากขึ้น ความเชื่อมโยงนี้ได้เริ่มต้นมาจากการค้าระหว่างประเทศในภาคเกษตรกรรม ซึ่งเป็นแหล่งที่มีความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรของไทย
หลังจากนั้นจึงได้เริ่มเข้าสู่การพัฒนาอุตสาหกรรมเน้นใช้แรงงานเนื่องจากความได้เปรียบเชิงค่าจ้าง อุตสาหกรรมเน้นใช้เครื่องจักร และเทคโนโลยี ตามลำดับ
ทั้งนี้อุตสาหกรรมเหล่านี้มีความเชื่อมโยงกับภาคการส่งออกโดยเฉพาะอุตสาหกรรมการผลิตที่มีการกระจายตัวไปหลายพื้นที่ในประเทศไทย การเปลี่ยนแปลงที่สำคัญคือโครงการพัฒนาพื้นที่บริเวณชายฝั่งทะเลตะวันออก (Eastern Seaboard)
เช่น การจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมแหลมฉบัง ชลบุรี ขึ้นในปี พ.ศ.2525 ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นทำให้ประเทศไทยเริ่มรับการลงทุนจากต่างประเทศเพื่อพัฒนาอุตสาหกรรมหนัก และอุตสาหกรรมเชิงพาณิชย์
เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม (Value added) ให้แก่การผลิตรวมถึงสร้างการจ้างงานภายในประเทศ การค้าและการลงทุนระหว่างประเทศได้สร้างประโยชน์ดังกล่าว
แต่ในช่วงเวลาใกล้เคียงกันความเชื่อมโยงทางการเงินของไทยที่เพิ่มขึ้นจากการเปิดเสรีทางการเงิน และการจัดตั้งกิจการวิเทศธนกิจ (BIBF) เพื่อให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางใหม่ทางการเงินในภูมิภาคอาเซียน
แต่กลับกลายเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ประเทศไทยเกิดวิกฤติเศรษฐกิจขึ้นในปี พ.ศ. 2540 จากที่กล่าวมาแสดงให้ว่าความเชื่อมโยงเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจไทยสามารถสร้างประโยชน์และผลเสีย
แต่เมื่อกล่าวเจาะจงเฉพาะการค้าและการลงทุนระหว่างประเทศที่มีการเคลื่อนย้ายในรูปการส่งออก (Export) การนำเข้าวัตถุดิบ สินค้าขั้นกลาง รวมถึงการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (Foreign direct investment) ถือว่าได้สร้างผลประโยชน์มากกว่าผลเสียในช่วงเวลาดังกล่าว
ภายหลังปี พ.ศ. 2540 ประเทศไทยเผชิญกับความท้าทายเพิ่มเติม เพราะเศรษฐกิจไม่ได้เติบโตได้ดีเหมือนอดีต ซึ่งมีหลายองค์ประกอบ
ส่วนหนึ่งมาจากทรัพยากรที่เหลือมีการจำกัดมากขึ้น ต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้น (เช่น แรงงาน พลังงาน) การเติบโตของประเทศไม่ได้มาพร้อมกับการถ่ายถอดเทคโนโลยีให้สามารถพัฒนาไปเป็น เช่นกลุ่มประเทศไล่กวดได้ (Catching up countries) เช่น เกาหลี ไต้หวัน สิงคโปร์ ฯลฯ
อีกทั้งมีกลุ่มประเทศเศรษฐกิจใหม่ (Emerging economies) ที่มีทรัพยากรและต้นทุนการผลิตที่ถูกกว่า ทำให้ความสามารถในการแข่งขันเมื่อเทียบกับประเทศคู่แข่งเริ่มลดลง
ทำให้รัฐบาลไทยพยายามที่จะเน้นการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจไทยเพื่อต้องการให้แข่งขันได้ในเวทีโลก โดยเฉพาะระบบโครงสร้างพื้นฐาน ระบบขนส่งทั้งทางบก (ถนน และราง) ทางอากาศ ทางเรือ
รวมถึงการวางเป้าหมายพัฒนากลุ่มอุตสาหกรรมใหม่ (อุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่ อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ อุตสาหกรรมการเกษตรและเทคโนโลยีชีวภาพ อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวกลุ่มรายได้ดีและเชิงสุขภาพ ฯลฯ)
อย่างไรก็ตาม เมื่อเร็วๆ นี้ พลวัตรเศรษฐกิจโลกไม่ได้แค่เชื่อมโยงเศรษฐกิจระหว่างประเทศให้ใกล้ชิดมากขึ้น แต่ยังมีการเปลี่ยนแปลงที่เป็นแนวโน้มใหญ่ (Mega trend) ที่จะเข้ามากระทบต่อเศรษฐกิจไทย มากขึ้นเมื่อเทียบกับในอดีต
แนวโน้มใหญ่ของโลก เป็นสิ่งที่หลายๆประเทศในโลกกำลังเผชิญ (และจะเผชิญในอนาคตอันไม่ไกล) แน่นอนว่าแต่ละประเทศย่อมมีภูมิต้านทาน และการตั้งรับที่แตกต่างกันออกไป
แนวโน้มโลกที่สำคัญมี 5 ประการ คือ การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากรหรือเกิดสังคมผู้สูงอายุ กับดักรายได้ปานกลางและความเหลื่อมล้ำ การเติบโตที่ไม่สมดุล การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์
คำถามที่สำคัญคือประเทศไทยจะวางตำแหน่งตัวเองอย่างไรต่อแนวโน้มใหญ่ดังกล่าว ความเป็นไปได้ในทางเศรษฐศาสตร์คือการจัดสรรทรัพยากรใหม่ต่อภาคการเกษตร ภาคอุตสาหกรรม และภาคการค้าและบริการ
แนวโน้มสังคมผู้สูงอายุได้นำมาสู่การลดลงของกำลังแรงงาน (Labor Force) ซึ่งอาจกระทบภาคการเกษตรที่ยังพึ่งพาแรงงานเป็นสำคัญ (Labor Intensive) ภาคอุตสาหกรรมที่จะต้องมีการพัฒนาทักษะและ/หรือยกระดับทักษะแรงงานที่โลก
ในอนาคตต้องการเพื่อไม่ให้กระทบต่อผลิตภาพและความสามารถในการแข่งขัน และภาคการค้าและบริการที่อาจเผชิญกับการใช้แรงงานต่างชาติ หรือ ขาดแคลนแรงงานไทย (ซึ่งตอนนี้ก็เริ่มเกิดขึ้นแล้วในหลายการผลิต เช่น บริการร้านอาหาร ประมง ฯลฯ)
ความเป็นไปได้ต่อการปรับตัวคือ
1) การใช้เทคโนโลยีเข้ามาเพิ่มในห่วงโซ่การผลิตมากขึ้น เช่น เกษตรมูลค่าสูง มากกว่าการขายผลผลิตทางการเกษตรแบบปฐมภูมิ
2) การเคลื่อนย้ายแรงงานข้ามชาติทั้งที่มีทักษะ และไม่มีทักษะ จึงเป็นสิ่งที่ไม่น่าหลีกเลี่ยงได้ สิ่งที่ต้องคิดต่อคือเรามีความพร้อมสำหรับระบบที่รองรับการไหลบ่าระหว่างกันนี้มากแค่ไหน (ระบบทะเบียน ภาษี สาธารณสุข สวัสดิการ ฯลฯ)
แนวโน้มกับดักรายได้ปานกลาง ความเหลื่อมล้ำ และการเติบโตที่ไม่สมดุล คือประเด็นที่ค่อนข้างจะใกล้กัน หรือทับซ้อนกัน กล่าวคือ วัฏจักรเศรษฐกิจโลกที่ผ่านมาได้สร้างการเติบโตที่ไม่สมดุลในเชิงพื้นที่จนนำไปสู่ความเหลื่อมล้ำด้านรายได้ และมิติอื่นๆ
ขณะที่การเติบโตเศรษฐกิจโลกในบริบทห่วงโซ่อุปทานโลกกลับสร้างปัญหารายได้ปานกลาง (Middle Income) ให้กับประเทศที่เป็นเจ้าของปัจจัยการผลิตปฐมภูมิ หรือไม่สร้างมูลค่าเพิ่มผ่านเทคโนโลยีและนวัตกรรม
ดังนั้น ภาคการเกษตรดูจะเป็นภาคที่เปราะบางมากสุดในประเทศไทย
ทางออกที่เป็นไปได้คือการทำการเกษตรที่ให้เชื่อมโยงไปที่ปลายน้ำทั้งด้านการตลาดและกลุ่มผู้บริโภคที่เจาะจงมากขึ้น (Niche Market) เช่น อาหารปลอดภัย หรือแม้แต่การท่องเที่ยวเชิงเกษตร
การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศนับได้ว่ามีผลกระทบในวงกว้าง เช่น น้ำท่วม ภัยแล้ง โลกร้อน และ PM2.5 เป็นต้น นอกจากนี้เมื่อพิจารณาในช่วง 1 ทศวรรษ ที่ผ่านมา พบว่า สภาพภูมิมิอากาศได้เปลี่ยนแปลงเร็วขึ้น และทวีความรุนแรงเพิ่มขึ้นด้วย
นอกจากนี้ต้นทุนจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศได้ทำให้ผลกระทบโดยตรงและโดยอ้อมต่อกระบวนการผลิตจากต้นน้ำไปยังปลายน้ำ ทำให้ผู้ประกอบการ ผู้บริโภค และรัฐบาล ได้มีความตระหนักต่อปัญหานี้ นำมาสู่ความร่วมมือหลายโครงการ
เช่น โครงการลดการปล่อยก๊าชเรือนกระจก (Green House Gas) นโยบายเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว (BCG Model) หรือ แนวคิดการพัฒนาขององค์ก่อนอย่างยั่งยืน (ESG) เป็นต้น
ดังนั้นแนวโน้มประเด็นการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ (Climate Change) นับว่าจะกระทบต่อการเปลี่ยนแปลงภาคอุตสาหกรรม
ท้ายสุดแนวโน้มความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ที่นับวันจะทวีความรุนแรงมากขึ้น ล่าสุดคือกรณีสงครามรัสเซียและยูเครน ซึ่งกระทบต่อห่วงโซ่การผลิตอาหาร หรือ ความมั่นคงทางอาหาร รวมทั้งกระทบต่อราคาพลังงาน และราคาสินค้าโภคภัณฑ์
แม้ว่าประเทศไทยจะไม่ได้รับผลกระทบดังกล่าวมากเมื่อเปรียบเทียบกับหลาย ๆ ประเทศ แต่ก็ไม่ควรประมาท
การดำเนินความสัมพันธ์ที่รอบคอบกับทุกคู่ขัดแย้งในอนาคต การแสวงหาความร่วมมือกับหลายประเทศในอนาคตคือแนวนโยบายที่ควรทำ