อุตสาหกรรม จับมือ สตช. เข้มดำเนินคดีลักลอบทิ้งกากอุตสาหกรรม
กระทรวงอุตสาหกรรม เอ็มโอยู สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) เข้มการบังคับใช้กฎหมายกระทำผิดลักลอบทิ้งกากอุตสาหกรรม ยกระดับการทำงานร่วมกันนำผู้กระทำผิดมาลงโทษและชดใช้ค่าเสียหาย
นายณัฐพล รังสิตพล ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า ภาคอุตสาหกรรมมีบทบาทสำคัญต่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ สะท้อนจาก GDP ภาคอุตสาหกรรมมีสัดส่วนกว่า 34% ขณะที่ในปี 2565 ซึ่งมีมูลค่ากว่า 17.4 ล้านล้านบาท
ปัจจุบัน ประเทศไทยมีโรงงานรวม 73,382 โรงงาน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นโรงงานที่ดี สร้างการจ้างงาน เกิดการกระจายรายได้ต่อพื้นที่โดยรอบ และประกอบกิจการอย่างเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
อย่างไรก็ตาม ยังมีโรงงานส่วนน้อยที่ไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย ลักลอบทิ้งกากอุตสาหกรรม ส่งผลกระทบต่อประชาชน สิ่งแวดล้อม และภาพลักษณ์ของภาคอุตสาหกรรมทั้งระบบ
"โดยความร่วมมือของทั้ง 2 หน่วยงานในครั้งนี้ จะเป็นการทำงานร่วมกันอย่างใกล้ชิด เพื่อความรวดเร็วและเพิ่มประสิทธิภาพในการบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มข้น โดยกระทรวงฯ จะสนับสนุนข้อมูลในการดำเนินคดีกับผู้ลักลอบทิ้งกากอุตสาหกรรม เช่น การระบุความเป็นอันตรายหรือความเป็นพิษ หรืออันตรายอื่นต่อสิ่งแวดล้อมและประชาชน การตรวจวิเคราะห์กากอุตสาหกรรมในพื้นที่ที่พบการลักลอบทิ้ง ตลอดจนข้อมูลที่เกี่ยวข้องจากฐานข้อมูลโรงงาน การจัดการกากอุตสาหกรรม และการขนส่งกากอุตสาหกรรม ให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติใช้ดำเนินคดีอย่างทันท่วงที”
พลตำรวจเอก ดำรงศักดิ์ กิตติประภัสร์ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ กล่าวว่า สำนักงานตำรวจแห่งชาติจะดำเนินการตรวจสอบพื้นที่สาธารณะและพื้นที่ทั่วไปที่มีเบาะแสหรือเป็นพื้นที่สุ่มเสี่ยงต่อการลักลอบทิ้งกากอุตสาหกรรม สืบสวน สอบสวนรวบรวมพยานหลักฐานที่จำเป็นต่อการดำเนินคดี เพื่อให้ผู้กระทำความผิดได้รับการลงโทษตามกฎหมาย ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายของผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ “การแก้ไขปัญหาอาชญากรรมที่สร้างความเดือดร้อนต่อประชาชนและขับเคลื่อนนโยบายสำคัญของรัฐบาล”
นายจุลพงษ์ ทวีศรี อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม กล่าวว่า ปัจจุบันกรมโรงงานอุตสาหกรรมได้ใช้ระบบไอทีในการกำกับดูแลการกำจัดกากอุตสาหกรรมทั้งระบบ อย่างไรก็ตาม ก็ยังมีผู้ฝ่าฝืนกฎหมาย ลักลอบทิ้งกากอุตสาหกรรมอยู่เป็นระยะทั้งในพื้นที่เอกชน บ่อดินเก่า และที่รกร้างว่างเปล่า โดยในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา มีการลักลอบทิ้งกากอุตสาหกรรมไม่ต่ำกว่า 78 ครั้ง ทำให้ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมโดยรวม ทั้งชุมชนโดยรอบ และห่วงโซ่อาหารจากพื้นที่การเกษตรปนเปื้อนสารเคมีอันตราย
"ขณะที่สถิติการลักลอบทิ้งกากอุตสาหกรรมปี 2565 พบเหตุ 12 ครั้ง นับเป็นสถิติสูงที่สุดในรอบ 10 ปี เนื่องจากในปีที่ผ่านมาเป็นช่วงการฟื้นตัวของภาคการผลิต ทำให้มีการระบายของเสียออกจากโรงงานจำนวนมากรวมทั้งมีการปิดโรงงานห้ามคนนอกเข้า เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้ไม่สามารถเข้าไปตรวจสอบได้"
ดังนั้น ความร่วมมือในครั้งนี้ จึงเป็นการป้องกันปราบปรามให้มีการบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มข้นขึ้นเพื่อไม่ให้เกิดเหตุการลักลอบทิ้งกากอุตสาหกรรม ลดปัญหาที่จะส่งผลกระทบต่อชุมชนและสิ่งแวดล้อมได้อย่างมีประสิทธิภาพ