ปิด ‘3 แบงก์’ แค่หนังตัวอย่าง ‘ศุภวุฒิ’ เชื่อสัญญาณเศรษฐกิจถดถอย

ปิด ‘3 แบงก์’ แค่หนังตัวอย่าง ‘ศุภวุฒิ’ เชื่อสัญญาณเศรษฐกิจถดถอย

นายกฯ สั่งทีมเกาะติดปัญหาปิดแบงก์ในสหรัฐ มั่นใจภาคการเงินไทยแกร่ง ธปท.ย้ำชัดผลกระทบจำกัด เหตุไม่มีลงทุนโดยตรงในเอสวีบี ทั้งสตาร์ทอัป-ฟินเทคไทยลงทุนทั่วโลกต่ำกว่า 1% ของกองทุนแบงก์ ‘ศุภวุฒิ’ เชื่อปิด 3 แบงก์แค่หนังตัวอย่าง มองเป็นจุดเริ่มต้นของเศรษฐกิจถดถอย

Key Points

  • การปิดธนาคาร 3 แห่งในสหรัฐทำให้ พล.อ.ประยุทธ์ ต้องสั่งการให้ทีมเศรษฐกิจติดตามอย่างใกล้ชิด
  • ‘ศุภวุฒิ สายเชื้อ’ เชื่อว่าการปิดธนาคาร 3 แห่ง จะเป็นจุดเริ่มต้นของเศรษฐกิจถดถอย
  • ตัวแปรที่สำคัญที่สุดต่อเศรษฐกิจสหรัฐและเศรษฐกิจทั่วโลก คือ 'ดอกเบี้ย'
  • ธปท.ประเมินกรณี SVB ต่อเสถียรภาพการเงินไทยมีจำกัดเพราะไม่มีธนาคารพาณิชย์ไทยทำธุรกรรมโดยตรงกับ SVB

การปิดตัวลงของ ‘3 ธนาคารพาณิชย์’ ในสหรัฐเพียงแค่สัปดาห์เดียว ทั้งธนาคารซิลเวอร์เกต ธนาคารซิลิคอน วัลเลย์(SVB) และล่าสุด ธนาคารซิกเนเจอร์ ส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุนทั่วโลก ซึ่งกังวลว่าจะลามไปสู่การเกิดวิกฤติเศรษฐกิจรอบใหม่ 

อย่างไรก็ตาม นักเศรษฐศาสตร์ส่วนใหญ่เชื่อว่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในครั้งนี้แตกต่างจากวิกฤติแฮมเบอร์เกอร์พอสมควร โดยเชื่อว่าจะไม่เลวร้ายถึงขั้นเกิดเป็นวิกฤติการเงินโลก แต่อย่างน้อยก็เป็นเรื่องที่ประมาทไม่ได้ เพราะนี้อาจเป็นสัญญาณเตือนถึงจุดเริ่มต้นของภาวะเศรษฐกิจที่กำลังถดถอย

นายศุภวุฒิ สายเชื้อ ที่ปรึกษากลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร กล่าวในรายการ DEEP TALK ของกรุงเทพธุรกิจว่า กรณีที่ SVB ประสบวิกฤติ จนต้องปิดกิจการ ถือว่าต่างจากวิกฤติการเงินในอดีตทั้งวิกฤติแฮมเบอร์เกอร์ หรือการล้มละลายของ เอนรอน ที่มาจากปัญหาทุจริตและการปล่อยสินเชื่อที่มีความเสี่ยง เช่นอสังหาริมทรัพย์ แต่ปัญหาของ SVB มาจากการบริหารสินทรัพย์และหนี้สินที่ผิดพลาด ดังนั้นเชื่อว่า ปัญหาการล้มลงของ SVB คงไม่เลวร้ายถึงขั้นเกิดเป็นวิกฤติการเงินโลก

จากบทเรียนครั้งนี้ เชื่อว่าธนาคารกลางสหรัฐ อาจมีการเข้มงวดกับสถาบันการเงินในสหรัฐมากขึ้น เพื่อดูแลเสถียรภาพของระบบสถาบันการเงิน และอาจมีแบงก์ในสหรัฐราว 5-10 แห่งที่เข้าข่ายประสบปัญหาดังกล่าวได้ จากแบงก์ทั้งหมดในสหรัฐที่มีกว่า 4,700 แห่ง ปิด ‘3 แบงก์’ แค่หนังตัวอย่าง ‘ศุภวุฒิ’ เชื่อสัญญาณเศรษฐกิจถดถอย

อย่างไรก็ตาม มองว่าแม้ธนาคารกลางสหรัฐจะออกมาตรการเพื่อดูแลเงินฝาก ซึ่งสามารถรับประกันเงินฝากและเรียกความเชื่อมั่นได้ระดับหนึ่ง แต่อาจมีกลุ่มผู้ฝากเงิน ที่มีเงินฝากเกิน 2.5 แสนดอลลาร์ อาจมีความอ่อนไหวจากเหตุการณ์นี้เพิ่มขึ้น ซึ่งพบว่าในระบบกลุ่มนี้มีเงินฝากสูงถึง 7.88 ล้านล้านดอลลาร์ ดังนั้นต้องจับตาว่า หากมีการถอนเงินฝากมากขึ้น ธนาคารกลางสหรัฐจะสามารถคุ้มครองเงินฝากได้ทั้งหมดหรือไม่

“ผมเชื่อว่าแบงก์ล้มครั้งนี้ ไม่น่าลามจนเกิดปัญหาเป็นวิกฤติการเงินในอดีต เช่นวิกฤติแฮมเบอร์เกอร์ วิกฤติเอนรอน ที่มีต้นเหตุมาจากทุจริต มาจากการปล่อยสินเชื่ออสังหาฯที่มีความเสี่ยง แต่ครั้งนี้ แบงก์ซื้อสินทรัพย์คุณภาพดี แต่ยิลด์ต่ำ และแบงก์ไม่ได้ทำอะไรผิด แต่ทำพลาด ดังนั้นอาจจะเห็นกรณีแบบนี้อีก โดยเฉพาะแบงก์ที่เกี่ยวโยงกับ คริปโทเคอร์เรนซี หรือบริษัทเทคฯตามมาได้

จับตาจุดเริ่มต้นเศรษฐกิจถดถอย

นายศุภวุฒิ กล่าวว่า ตัวแปรที่สำคัญที่สุด ที่อาจกระทบต่อเศรษฐกิจสหรัฐ และทั่วโลก คือ “ดอกเบี้ย” เพราะเมื่อไหร่ที่มีการขึ้นดอกเบี้ยสูงๆ เพื่อสู้กับเงินเฟ้อ ก็มักจะมีปัญหาตามมา จากบทเรียนในอดีต การขึ้นดอกเบี้ยของธนาคารกลางต่างๆ 17 ครั้ง สิ่งที่เลี่ยงไม่ได้ คือการเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอยทุกครั้ง และแบงก์ล้มครั้งนี้ ถือว่าเป็นอาการหนึ่งของการเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอย 

“เชื่อว่า เหตุการณ์นี้เป็นเพียงหนึ่งในตัวอย่าง ยังแค่เริ่มต้นเท่านั้น”นายศุภวุฒิกล่าวย้ำ

สำหรับประเทศไทย ปัจจุบันเงินบาทแข็งค่าขึ้น จากความกังวลการปิดตัวลงของธนาคารในสหรัฐ แต่ต้องจับตาว่าระยะข้างหน้า เงินบาทอาจผันผวนมากขึ้น โดยเฉพาะในช่วงที่มีส่วนต่างดอกเบี้ยระหว่างไทยและสหรัฐสูง หากสหรัฐสามารถควบคุมสถานการณ์นี้ได้ และไตรมาส 2 ที่เศรษฐกิจไทยอาจต้องเผชิญกับ การขาดดุลบัญชีเดินสะพัดเพิ่มขึ้น หากนักท่องเที่ยวไม่กลับมาอย่างที่คาด ซึ่งอาจส่งผลกระทบทำให้เงินบาทกลับมาอ่อนค่ามากขึ้น ดังนั้นเป็นสิ่งที่ต้องระมัดระวัง เพราะการที่เงินบาทผันผวน จะมีความสัมพันธ์กับอัตราดอกเบี้ย

“ช่วงหลัง เงินบาทอ่อนค่าขึ้น ปัจจุบันมาที่ 34บาทต่อดอลลาร์ และเราอ่อนค่ามากกว่าคนอื่นๆ เพราะดุลบัญชีเดินสะพัดเราขาดดุล ดูไม่ดี ตรงนี้เป็นจุดหักเหของค่าเงินไม่น้อย โดยเฉพาะไตรมาส2 ที่ต้องจับตา หากนักท่องเที่ยวไม่กลับมา และเป็นช่วงที่เรามีสุญญากาศทางการเมือง ช่วงที่เลือกตั้ง หากสถานการณ์ตรงนี้ไม่ดี อาจลากให้เงินบาทยิ่งอ่อนค่า และกระทบต่อการดำเนินนโยบายการเงิน แม้ตอนนั้นไม่มีใครอยากให้ขึ้นดอกเบี้ย แต่หากสถานการณ์บังคับก็ต้องทำ”

นายกฯสั่งทีมเศรษฐกิจเกาะติด

นางสาวไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี สั่งการให้ทีมเศรษฐกิจของรัฐบาลติดตามสถานการณ์การปิดธนาคารในสหรัฐ ซึ่งส่งผลให้เกิดความผันผวนในตลาดเงินตลาดทุนโลกพร้อมกับประเมินว่ากระทบเศรษฐกิจไทยแค่ไหน

ทั้งนี้ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องรายงานนายกรัฐมนตรีว่าไม่มีธนาคารหรือสถาบันการเงินไทยลงทุนหรือมีธุรกรรมเกี่ยวข้องกับธนาคารที่มีปัญหาในสหรัฐพร้อมกับประเมินผลกระทบเศรษฐกิจการเงินในสหรัฐอยู่วงจำกัด เพราะทั้ง 2 แห่งทำธุรกิจเฉพาะด้าน และไม่ได้บริการแบบกว้างขวางเหมือนธนาคารพาณิชย์รวมทั้งทางการสหรัฐได้เข้าดูแลปัญหาได้เร็ว

นอกจากนี้ ฐานะสถาบันการเงินไทยแข็งแกร่ง โดยธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กำกับด้วยมาตรฐานเข้มงวด ซึ่งมาตรการการกำกับระบบสถาบันการเงินไทยได้ปรับปรุงให้ดูแลความเสี่ยงรอบด้านรัดกุมมาตั้งแต่หลังวิกฤติปี 2540 ทำให้20 กว่าปีที่ผ่านมา แม้มีวิกฤติการเงินโลกหลายครั้งแต่สถาบันการเงินไทยยังสนับสนุนเศรษฐกิจไทยได้ด้วยฐานะแข็งแกร่ง

ทั้งนี้ธปท.ระบุว่า ณ สิ้นปี 2565 ธนาคารพาณิชย์ไทยทั้งระบบมีเครื่องชี้ฐานะทางการเงินระดับสูง โดยมีเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยง (BIS ratio) 19.4% สภาพคล่อง (Liquidity Coverage ratio : LCR) สูงถึง 197.3% มีหนี้ด้อยคุณภาพ (NPL)ระดับต่ำที่ 2.73%

ขณะที่เงินสำรองต่อหนี้ด้อยคุณภาพ (NPL Coverage ratio) สูงถึง 171.9% การให้สินเชื่อและรับเงินฝากในภาพรวมไม่กระจุกในลูกค้ากลุ่มใดกลุ่มหนึ่งรวมทั้งมีระบบการดูแลผู้ฝากเงินที่เข็มแข็งด้วยสถาบันคุ้มครองเงินฝาก (สคฝ.) ที่คุ้มครองเงินฝาก1.34 แสนล้านบาทคิดเป็นการคุ้มครองเงินฝาก98%ที่เป็นผู้ฝากส่วนใหญ่ของประเทศ

มั่นใจไม่ซ้ำรอย‘เลห์แมน’

นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน กล่าวว่า การปิดSVB Bankและธนาคารอีก 2 แห่งจะไม่ลามเป็นวิกฤติการเงินทั่วโลกเหมือนกรณีการล้มละลายของเลห์แมน บราเธอร์สในปี 2008โดยขณะนี้กระทรวงการคลังและธปท.ติดตามสถานการณ์ใกล้ชิดเชื่อว่าผลกระทบจะไม่มาถึงไทย

ทั้งนี้ปัญหาที่เกิดกับ SVBเป็นปัญหาเฉพาะของธนาคารที่ปล่อยกู้ให้ลูกค้ากลุ่มสตาร์ทอัพ ซึ่งจะกระทบวงจำกัด และธนาคาร SVBมีขนาดเล็กเมื่อเทียบธนาคารอื่นซึ่งกรณีนี้ต้องดูต่ออีกนิดว่าจะเกี่ยวกับธุรกิจอื่นหรือไม่และถ้ามีก็น่าจะแก้ไขได้ก็ไม่น่าวิตก ปิด ‘3 แบงก์’ แค่หนังตัวอย่าง ‘ศุภวุฒิ’ เชื่อสัญญาณเศรษฐกิจถดถอย

“ผลกระทบคงไม่มากเท่าปี 2008 ที่มีหนี้เสียในการปล่อยกู้ในภาคอสังหาริมทรัพย์ ทำให้เกิดวิกฤติลามไปสู่ภาคส่วนอื่นแต่ขณะนี้ไม่มีสัญญาณว่าจะลุกลามขนาดนั้นแต่ต้องดูข้อมูลของ ธปท.ที่ตามเรื่องนี้เป็นประจำเพราะเรื่องนี้ทยอยเกิดจากกลุ่มเล็กๆ ในสตาร์ตอัพ เช่น คาเรล ก็เป็นพวกสตาร์ตอัพ แต่ไม่รู้ความตื้นลึกหนาบาง”

ส่วนกรณเลห์แมน บราเธอร์ส เป็นเรื่องของหนี้เสียภาคอสังหาริมทรัพย์ และลามไปถึงธนาคารขนาดใหญ่รวมไปถึงทุกธนาคารเลยเนื่องจากวงเงินสูงมากในขณะที่กรณีSBVรัฐบาลสหรัฐเข้าไปแก้ปัญหาเพราะกลัวจะกระทบเทคคอมพานีซึ่งมองว่าจะจำกัดเฉพาะกลุ่มอุตสาหกรรมมากกว่าที่จะกระจายวงกว้าง

ธปท.ย้ำแบงก์ไทยผลกระทบน้อย

นางสาวสุวรรณี เจษฎาศักดิ์ ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายกำกับสถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า ผลกระทบจากกรณี SVB ต่อเสถียรภาพระบบการเงินไทยมีจำกัด เนื่องจากไม่มีธนาคารพาณิชย์ไทยที่มีธุรกรรมโดยตรงกับ SVB และปริมาณธุรกรรมโดยรวมของกลุ่มธนาคารพาณิชย์ไทยใน Fintech และ Startup ทั่วโลกมีน้อยกว่า 1 % ของเงินกองทุนของกลุ่มธนาคารพาณิชย์

โดยที่สำคัญพบว่า ธนาคารพาณิชย์ไทยไม่มีการถือครองสินทรัพย์ดิจิทัล ขณะที่กลุ่มธุรกิจของธนาคารพาณิชย์ ถือครองสินทรัพย์ดิจิทัลในระดับต่ำที่ประมาณ 200 ล้านบาท ซึ่ง ธปท. ขอย้ำว่ามีการกำกับดูแลธุรกรรมเกี่ยวกับสินทรัพย์ดิจิทัลและ venture capital ที่เข้มงวด เช่น การให้หักเงินลงทุนในเหรียญออกจากเงินกองทุนชั้นที่ 1 (CET1) ในทุกกรณี

รวมทั้งกำหนดเพดานการลงทุนและการกำกับความเสี่ยงในด้านต่าง ๆ เพื่อป้องกันผลกระทบจากความเชื่อมโยงระหว่างกลุ่มธนาคารพาณิชย์ ต่อเงินฝากของประชาชน

ย้ำบาทแข็งสอดคล้องภูมิภาค

ค่าเงินบาท ล่าสุดปรับแข็งค่าขึ้นสอดคล้องกับสกุลเงินภูมิภาค ภายหลังนักลงทุนคาดการณ์ว่าเหตุการณ์ข้างต้นจะส่งผลให้ธนาคารกลางสหรัฐฯ ชะลอการขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ทำให้เงินดอลลาร์ปรับอ่อนค่าลงเร็ว ซึ่งความไม่แน่นอนของนโยบายการเงินสหรัฐฯ จะยังเป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งผลต่อตลาดการเงินโลกและความผันผวนของค่าเงินบาทในระยะถัดไป

นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวว่า การปิด 2 ธนาคารในสหรัฐ เป็นปัญหาที่เกิดจากการขาดสภาพคล่อง ซึ่งถูกต้องแล้วที่ทางการดำเนินการเช่นนี้  เพราะโดยหลักการแก้ไขปัญหาที่ทำกันก็คล้ายกับที่เราดำเนินการเมื่อปี 2540 คือ ไม่ทำให้เกิดภาระต่อประชาชน 

เมื่อถามว่า ปัญหาดังกล่าว ได้สร้างความกังวลว่าจะก่อให้เกิดวิกฤตเศรษฐกิจลามไปทั่วโลกหรือไม่ เขากล่าวว่า อย่าพูดเรื่องไม่น่ากังวล ซึ่งกรณีดังกล่าว เราต้องติดตามอย่างใกล้ชิด แต่ไม่ถึงขั้นต้องตั้งทีมร่วมกับธปท.เพราะแค่ธปท.ดูแลก็เพียงพอแล้ว อย่างไรก็ดี เท่าที่ได้รับรายงานเกี่ยวกับผลกระทบต่อไทย ก็มีเรื่องของตลาดหุ้นที่ปรับลดลง

นายอาคม กล่าวว่า ทางแบงก์ชาติยืนยันมาตลอดในเรื่องเสถียรภาพและระบบการเงินของไทยไม่ได้มีปัญหา และยังได้รับความน่าเชื่อถือ ขณะเดียวกัน ปัจจุบันเราไม่ได้มีธุรกรรมกับ 2 ธนาคารนี้ เช่น กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการก็ไม่ได้ไปลงทุนในพอร์ตของ 2 แบงก์ดังกล่าว ก็ไม่น่ามีปัญหาอะไร และไม่กระทบโดยตรงกับระบบการเงินของไทย

ตลท.ชี้สภาพคล่องหายสร้างความเปราะบาง

นายภากร ปีตธวัชชัย กรรมการและผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) เปิดเผยว่า สภาพคล่องทั่วโลกที่หายไปถือเป็น “ความเปราะบาง” ที่สำคัญที่ต้องติดตามอย่างใกล้ชิด เนื่องจากทำให้ข่าวต่างๆ ที่บางทีไม่ได้รุนแรงมาก แต่พอมีนักลงทุนหรือผู้ฟังที่มีการฝากเงินจำนวนมาก และไม่สามารถถอนได้ในก้อนใหญ่ๆ ส่งผลให้แบงก์พาณิชย์อาจจะมีความลำบากในการบริหารสภาพคล่อง ซึ่งสามารถเกิดขึ้นได้ทุกที่ทั่วโลก

“เมื่ออัตราดอกเบี้ยสูงเร่งตัวขึ้น สภาพคล่องทั่วโลกลดลง ธนาคารพาณิชย์ต่างๆ อาจจะต้องมีวิธีการบริหารความเสี่ยงที่แตกต่างจากเดิม ซึ่งเริ่มเห็นผลที่เกิดขึ้นว่ามีธนาคารพาณิชย์บางแห่งได้รับผลกระทบ และจะเริ่มเห็นหน่วยงานที่เกี่ยวข้องของสหรัฐ หรือ หน่วยงานของประเทศต่างๆ ต้องออกมาสร้างความมั่นใจมากขึ้น”

ขณะที่ ประเทศไทยและในมุมของตลาดหุ้นไทยได้รับผลกระทบไม่มาก เนื่องจาก

1.ระบบธนาคารพาณิชย์ของไทยถือว่าแข็งแรงมาก มีเงินทุนออมโดยเฉลี่ย 18-19% รวมทั้งลูกค้าแบงก์ไทยกระจายอยู่ในหลากหลายอุตสาหกรรม และมีการปล่อยสินเชื่อเกี่ยวกับการลงทุนในธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลไม่มาก

2.เงินทุนที่มาจาก Venture Capital ที่มาจากคริปโทเคอร์เรนซีค่อนข้างน้อยเมื่อเทียบกับระบบเศรษฐกิจ ฉะนั้น เชื่อว่าผลกระทบที่มีต่อประเทศไทยจะไม่มากนัก ถ้าจะมีผลกระทบจะมาจากสภาพคล่องมากกว่า จากการที่สภาพคล่องในตลาดโลกลดลง เพราะว่ามีหลายธนาคารที่ตอนนี้ยังไม่สามารถเปิดพอร์ตได้ตามปกติ ซึ่งจะมีผลกระทบทางอ้อม

สำหรับ ปัจจัยเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นสูงปี 66 คือ “อัตราดอกเบี้ย-การลดลงของสภาพคล่อง” ซึ่งประเด็นดังกล่าวจะอยู่ไปอีกระยะหนึ่ง จนกว่าที่ธนาคารทั่วโลก จะมองเห็นว่าความเสี่ยงเรื่องเงินเฟ้อลดลง ซึ่งจะทำให้เกิดผลกระทบตามมาอย่างที่เห็น เกิดความไม่มั่นใจเรื่องการถอนเงิน-สภาพคล่องลดลง

ซึ่งมองว่าเป็นปลายเหตุ ต้นเหตุคือ “ดอกเบี้ยขึ้น” เนื่องจากมีเหตุผลมาจากหลายอย่าง เช่น ราคาสินค้าคอมมูนิตี้สูงขึ้น ,ความต้องการการบริโภคที่สูงขึ้น เป็นต้น ซึ่งต้องติดตามประเด็นพวกนี้หากมีข้อมูลที่ชัดเจนว่าปัญหาต่างๆ มีความชัดเจนหรือว่าต้นต่อต่างๆลดลงผลกระทบจะเป็นยังไงบ้าง ซึ่งตอนนี้อย่างมองที่ปลายเหตุให้มองที่ต้นเหตุ หากดอกเบี้ยขึ้นน้อยลง เงินเฟ้อไม่ปรับตัวสูงขึ้น สิ่งเหล่านี้จะบอกเราว่าสภาพคล่องจะกลับมามากขึ้นอย่างไรบ้าง