ภาคธุรกิจไทยจะเติบโตได้ไกลแค่ไหน? | แจงสี่เบี้ย
“Economic growth springs from better recipes, not just from more cooking” หรือการเติบโตทางเศรษฐกิจ มาจากตำรับการปรุงอาหารที่ดีขึ้น ไม่ใช่เพียงการทำอาหารเพิ่ม
คำกล่าวของศาสตราจารย์พอล โรเมอร์ (ปี 2550) ได้อุปมาอุปไมยกิจกรรมการผลิตเหมือนการทำกับข้าวในครัวที่นำปัจจัยการผลิต เช่น ผักและเนื้อสัตว์ มาผ่านกระบวนการปรุงอาหารเพื่อให้ได้อาหารมื้ออร่อยที่มีมูลค่าสูงขึ้น
ในเชิงเศรษฐกิจ การสร้างผลผลิตขึ้นกับการใช้ปัจจัยการผลิต ทั้งปัจจัยทุนและแรงงาน รวมทั้งการปรับปรุงกระบวนการผลิต ทั้งนี้ ในการวัดว่าแต่ละประเทศใช้ปัจจัยการผลิตด้านแรงงานได้คุ้มค่าเพียงใด
หนึ่งในเครื่องชี้วัดที่นักเศรษฐศาสตร์นิยมใช้คือ ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) ต่อชั่วโมงการทำงาน หรือผลิตภาพแรงงาน (Labor productivity) ซึ่งเป็นเครื่องชี้วัดที่สามารถเปรียบเทียบกับประเทศอื่นๆ ได้
ข้อมูลของ World bank ล่าสุดปี 2565 พบว่า GDP ต่อชั่วโมงทำงานของไทยอยู่ 15.1 ดอลลาร์ หรือประมาณ 521 บาท (อัตราแลกเปลี่ยน ณ สิ้นปี 2565 ที่ 34.5 บาทต่อดอลลาร์) และเป็นอันดับที่ 155 จากทั้งหมด 265 ประเทศ
GDP ต่อชั่วโมงทำงาน ขึ้นอยู่กับการลงทุน (Capital Deepening) และประสิทธิภาพการผลิต (Total Factor Productivity : TFP)
บทความนี้ต้องการตอบคำถามว่า แหล่งที่มาของการเติบโตของ GDP ต่อชั่วโมงการทำงานของไทยมาจากปัจจัยใด และแต่ละสาขาธุรกิจมีการเติบโตของ TFP มากน้อยเพียงใด
ในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา GDP ต่อชั่วโมงทำงานของไทยเติบโตอยู่ที่ประมาณ 3% ซึ่งส่วนใหญ่มาจาก TFP จาก รูปที่ 1 จะเห็นได้ว่า แหล่งที่มาของการขยายตัวของ GDP ต่อชั่วโมงทำงาน
แบ่งเป็นส่วนที่มาจาก
1) ผลตอบแทนจากการลงทุนประมาณ 1% (แถบสีน้ำเงิน) ถือว่าค่อนข้างน้อย เพราะประเทศไทยมีการลงทุนอยู่ในระดับต่ำมาเป็นเวลานาน
สำหรับเหตุผลที่การลงทุนไทยจึงอยู่ในระดับต่ำ สามารถอ่านเพิ่มเติมได้ที่บทความ “เจาะลึกการลงทุนไทยใน 9 มิติ : ทำอย่างไรจึงจะพลิกฟื้นการลงทุนไทย” ของ ธปท.
2) การปรับปรุงกระบวนการผลิตให้มีประสิทธิภาพ (TFP) ประมาณ 2% (แถบสีส้ม) ดังนั้น TFP จึงเป็นปัจจัยหลักในการผลักดัน GDP ต่อชั่วโมงทำงานของไทย และความเข้าใจ TFP ในแต่ละสาขาธุรกิจเป็นสิ่งสำคัญ
จากการศึกษาพบว่า ศักยภาพของภาคธุรกิจในไทยมีความแตกต่างกันมาก โดยสาขาธุรกิจประมาณ 1 ใน 3 ของ GDP แทบไม่เห็นการเติบโตของ TFP (ตารางที่ 1) โดยกลุ่มสาขาธุรกิจที่ไม่มีการเติบโตของ TFP เช่น
1) ภาคเกษตรกรรมที่ผลผลิตต่อไร่โดยรวมไม่มีการเติบโตอย่างชัดเจน อีกทั้งปริมาณผลผลิตได้รับผลกระทบจากภัยแล้งและโรคระบาดในสัตว์
2) ธุรกิจสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มที่อยู่ในช่วงขาลงมาระยะหนึ่งแล้ว เนื่องจากค่าจ้างแรงงานปรับเพิ่มขึ้นเร็วกว่าผลิตภาพแรงงาน ขณะที่การลงทุนและการพัฒนาเทคโนโลยีที่ไม่เพียงพอ ทำให้มีการย้ายฐานการผลิตออกจากประเทศไทย
3) ธุรกิจสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ที่ปัจจุบันไทย ยังเน้นการรับจ้างประกอบสินค้าที่ปลายน้ำ รวมถึงผลิตสินค้าที่ใกล้หมดความนิยม เช่น ฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์ (HDD) และ 4) การบริการสาธารณูปโภค เป็นธุรกิจที่มีผู้ผลิตน้อยราย ทำให้ไม่มีแรงจูงใจในการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตเพื่อแข่งขันกับผู้ให้บริการรายอื่น
ขณะที่กลุ่มสาขาธุรกิจที่มีการเติบโตของ TFP เช่น 1) ธุรกิจการค้าที่ความสำเร็จส่วนหนึ่งขึ้นกับการมีเครือข่ายทางธุรกิจ (business networking) และช่องทางการขายสินค้าที่กว้างไกล
ซึ่งการเข้ามาของระบบการชำระเงินที่มีประสิทธิภาพและ e-commerce ช่วยให้ TFP ในภาคการค้าขยายตัวได้ดี
2) ธุรกิจการศึกษาได้รับผลบวกจากเทคโนโลยีสื่อการสอน ที่เอื้อให้นักเรียนสามารถเข้าถึงการศึกษาที่มีคุณภาพ แม้จะอยู่ในชุมชนห่างไกล
3) การผลิตยานยนต์และการผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้าที่มีการย้ายฐานการผลิตและถ่ายทอดเทคโนโลยีมาจากต่างประเทศ และ
4) ธุรกิจการแพทย์ที่เติบโตจากบุคลากรทางการแพทย์และเทคโนโลยีการรักษาที่มีคุณภาพ ทำให้ไทยเป็นหนึ่งในจุดหมายปลายทางที่ชาวต่างชาตินิยมเข้ารับบริการทางการแพทย์ของไทย
อย่างไรก็ตาม ผลวิเคราะห์จากข้อมูลในอดีต ซึ่งกลุ่มที่ทำได้ดีในอดีตไม่ได้หมายความว่าจะทำได้ดีในอนาคต มองไปข้างหน้าเศรษฐกิจไทยจะเผชิญกับความท้าทายมากมาย
เช่น กระแสเศรษฐกิจสีเขียว จะกระทบธุรกิจผลิตรถยนต์และธุรกิจผลิตน้ำมันในไทย จากกระแสความนิยมรถยนต์พลังงานไฟฟ้าที่มีมากขึ้น ประกอบกับความต้องการของผู้บริโภคทั้งในและต่างประเทศที่ต้องการผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
แน่นอนว่าเราไม่ควรละทิ้งกลุ่มใดไว้ข้างหลัง โดยเฉพาะกลุ่มซบเซาอย่างภาคเกษตร ซึ่งมีแรงงานคิดเป็น 30% ของแรงงานทั้งหมด การเพิ่มผลผลิตต่อไร่เป็นสิ่งสำคัญ
ไม่ว่าจะเป็นการวิจัยและพัฒนาพันธุ์พืช หรือการผลักดันเรื่องการเกษตรอัจฉริยะ (Smart Farming) รวมทั้งยังมีปัจจัยอื่นๆ อีกมากที่จะเพิ่มความคุ้มค่าให้กับการลงทุน
เช่น ความพร้อมด้านโครงสร้างพื้นฐาน ความพร้อมด้านแรงงานที่มีคุณภาพ กฎระเบียบและประสิทธิภาพของภาครัฐจะที่เอื้อภาคธุรกิจดำเนินการได้สะดวกด้วยต้นทุนที่ต่ำ เป็นต้น
ท้ายที่สุดแล้ว ผู้เขียนมองว่าการที่ 32% ของ GDP ไทยไม่มีการเติบโตของ TFP ถือเป็นโอกาสหรือพื้นที่ในการพัฒนาประเทศ
หากไทยสามารถเพิ่ม TFP และเกาะกระแสการเปลี่ยนแปลงได้ การเติบโตของเศรษฐกิจไทยต่อชั่วโมงทำงานที่ 4-5% คงไม่ไกลเกินเอื้อม
บทความนี้เป็นข้อคิดเห็นส่วนบุคคล ซึ่งไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับข้อคิดเห็นของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)
คอลัมน์ แจงสี่เบี้ย
ธนาคารแห่งประเทศไทย
- เกริกเกียรติ พรหมมินทร์
เศรษฐกรอาวุโส
ฝ่ายเศรษฐกิจมหภาค
สายนโยบายการเงิน
- รัตติยากร ลิมัณตชัย
ผู้วิเคราะห์อาวุโส
ฝ่ายนโยบายและกำกับการแลกเปลี่ยนเงิน
สายตลาดการเงิน