‘บีทีเอส’มั่นใจแจงปม ป.ป.ช.ได้ ชี้สัญญาจ้างเดินรถไม่ใช่การต่อสัมปทาน
บีทีเอส เตรียมแจงกรณี ป.ป.ช.ชี้มูลความผิด สัญญาจ้างเดินรถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนต่อขยาย ยืนยันการจ้างเดินรถไม่ใช่การต่อสัมทาน เผยไม่มีเอกชนสนใจลงทุนสร้างส่วนต่อขยาย กทม.ต้องลงทุนเองพร้อมจ้างเอกชนเดินรถ ชี้ผลศึกษาของกรุงเทพธนาคม ระบุทำสัญญาจ้าง 30 ปี เหมาะสม
Key Points
- ป.ป.ช.ได้ชี้มูลความผิด ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร อดีตผู้ว่าฯ กทม.และพวกรวม 13 คน
- เป็นการชี้มูลความผิดในประเด็นการทำสัญญาจ้างเดินรถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนต่อขยาย
- BTS ยืนยันว่าการทำสัญญาจ้างเดินรถชอบด้วยกฎหมายและพร้อมที่จะชี้แจง
- คณะกรรมการกฤษฎีกา ตีความไว้ว่าการจ้างเดินรถไม่ใช่การต่อสัมปทานสายสีเขียว
คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) มีมติเมื่อวันที่ 10 ม.ค.2566 แจ้งข้อกล่าวหา ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ขณะดำรงตำแหน่งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร และพวกรวม 13 คน กรณีว่าจ้าง บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BTSC ผู้ให้บริการเดินรถไฟฟ้า BTS เพื่อเดินรถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนต่อขยาย 3 เส้นทาง ถึงปี 2585 โดยหลีกเลี่ยงและไม่ปฏิบัติตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการให้เอกชนเข้าร่วมงานหรือดำเนินการในกิจการของรัฐ พ.ศ.2535 และ พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ.2542
นายสุรพงษ์ เลาหะอัญญา กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BTSC เปิดเผยว่า วันนี้ (13 มี.ค.) บริษัทฯ จะแถลงข่าวชี้แจงประเด็นกรณี ป.ป.ช.แจ้งข้อกล่าวหาบริษัทฯ ซึ่งเรื่องดังกล่าวบริษัทฯ เชื่อมั่นว่าการทำสัญญาจ้างเดินรถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนต่อขยายได้ดำเนินการอย่างถูกต้องตามกฎหมายกำหนด และทุกการกระทำมีเหตุและผลที่สามารถชี้แจงได้
ทั้งนี้ ประเด็นที่เกิดขึ้นยังถือเป็นเพียงขั้นตอนการแจ้งข้อกล่าวหาจากทาง ป.ป.ช. และบริษัทฯ ยังไม่ได้ถูกฟ้องดำเนินคดีแต่อย่างใด ดังนั้น บริษัทฯ ยังมีสิทธิในการคัดค้านและแก้ข้อกล่าวหาตามกระบวนการของกฎหมาย โดยบริษัทฯ ยินดีให้ความร่วมมือกับ ป.ป.ช.ในการดำเนินการกระบวนการทางกฎหมาย
นอกจากนี้ สัญญาจ้างเดินรถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนต่อขยายได้ดำเนินการถูกต้องตามกฎหมาย โดยในปี 2550 กรุงเทพมหานคร (กทม.) มีหนังสือถึงคณะกรรมการกฤษฎีกาเกี่ยวกับการที่กรุงเทพมหานคร หรือบริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด จะจ้างเอกชนเดินรถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนต่อขยาย โดยคณะกรรมการกฤษฎีกาวินิจฉัยในคำวินิจฉัยคณะกรรมการกฤษฎีกาเรื่องเสร็จที่ 222/2550 แล้ว สรุปว่าการจ้างเอกชนเดินรถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนต่อขยายไม่ใช่การร่วมลงทุนหรือให้สิทธิสัมปทานภายใต้กฎหมายร่วมทุน
ขณะที่การทำสัญญาจ้างเดินรถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนต่อขยายเคยผ่านการสอบสวนจากกรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) ในปี 2555 แล้ว โดยหลังจากการสิ้นสุดการสอบสวนในปี 2556 กรมสอบสวนคดีพิเศษและสำนักงานอัยการสูงสุดได้เห็นควรไม่ฟ้อง BTSC
“คีรี”เตรียมแจงปมสัญญาจ้าง
สำหรับการแถลงข่าวชี้แจงครั้งนี้ BTSC จะมีนายคีรี กาญจนพาสน์ ประธานกรรมการ บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) เข้าร่วมแถลงด้วย
รายงานข่าวระบุว่า สำหรับการจ้างเดินรถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนต่อขยาย เริ่มจากปี 2542 กระทรวงมหาดไทยอนุมัติดำเนินการส่วนต่อขยาย 2 ส่วน คือ
1.ส่วนต่อขยายสายสุขุมวิท 2.2 กิโลเมตร
2.ส่วนต่อขยายสายสีลม 8.5 กิโลเมตร
ซึ่งภาคเอกชนไม่สามารถลงทุนดังกล่าวได้จึงได้ข้อสรุปให้กรุงเทพมหานครเป็นผู้ลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน
ส่วนการเดินรถไฟฟ้านั้น ในปี 2552 ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ ได้เสนอแก้ไขข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร เพื่อให้บริษัทกรุงเทพธนาคม จำกัด มารับงานได้ และต่อมาบริษัทกรุงเทพธนาคม จำกัด ได้จ้างบริษัทที่ปรึกษาการเงิน คือ บริษัทแคปิตอล แอ๊ดแวนเทจ จำกัด จัดทำข้อเสนอการบริหารโครงการระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพมหานคร โดยบริษัทกรุงเทพธนาคม จำกัด เห็นว่าเป็นแนวทางที่จะทำให้กรุงเทพมหานครแก้ไขภาระกระแสเงินสดติดลบในช่วงแรกของการดำเนินงาน และทำให้กรุงเทพมหานครมีเงินสดรับในแต่ละปีได้
โดยบริษัทกรุงเทพธนาคม จำกัด จะขอรับมอบสิทธิในการบริหารจัดการและขอรับมอบทรัพย์สินทั้งหมดของโครงการระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพมหานคร และจะจ่ายค่าใช้สิทธิให้กรุงเทพมหานครเป็นการตอบแทน โดยเสนอแผนบริหารจัดการระยะที่ 1 เป็นเวลา 30 ปี ครอบคลุมส่วนต่อขยายสายสีลม ช่วงสะพานตากสิน-วงเงียนใหญ่ และส่วนต่อขยายสายสุขุมวิท ช่วงอ่อนนุช-แบริ่ง รวมถึงส่วนต่อขยายวงเวียนใหญ่-บางหว้า
ผลศึกษาเคาะจ้างเดินรถ30ปี
ต่อมาบริษัทกรุงเทพธนาคม จำกัด ได้จ้างบริษัทที่ปรึกษาการเงิน คือ กลุ่มที่ปรึกษา PB-Sasin (บริษัทพีบี เอเชีย จำกัด และสถาบันบัณฑิตบริหารธุรกิจศศินทร์ แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย) ทำรายงานประเมินข้อเสนอทางเทคนิคและราคา สำหรับการจ้างเดินรถ 30 ปี และต่อมาผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครอนุมัติในหลักการให้มีการจ้างเดินรถไฟฟ้าส่วนต่อขยายสายสีเขียว 30 ปี
นอกจากนี้ กรุงเทพมหานครได้เห็นชอบการจ้างบริษัทกรุงเทพธนาคม จำกัด เป็นผู้ดำเนินโครงการบริหารจัดการระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพมหานคร 30 ปี โดยวิธีกรณีพิเศษ และต่อมาบริษัทกรุงเทพธนาคม จำกัด ได้ทำสัญญาให้บริการเดินรถและซ่อมบำรุงโครงการระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพมหานคร กับ BTSC ตั้งแต่วันที่ 3 พ.ค.2555 ถึงวันที่ 2 พ.ค.2585
ทั้งนี้ ผลการการศึกษาจ้างเอกชนเดินรถไฟฟ้าดังกล่าวพิจารณาถึงต้นทุนการดำเนินงานที่เอกชนผู้รับจ้างเดินรถไฟฟ้าจะต้องลงทุนซื้อรถไฟฟ้ามาให้บริการ