เปิดผลงานเด่น ‘สุพัฒนพงษ์’ รมว.พลังงานคู่ใจ ‘ประยุทธ์’
การยุบสภาของ “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” นายกรัฐมนตรี เริ่มมีความชัดเจนมากยิ่งขึ้น ซึ่งตั้งแต่สัปดาห์หน้าเป็นต้นไป การประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) จะเป็นการประชุมของครม.รักษาการ จนกว่ากระบวนการเลือกตั้งและรับรองผลการเลือกตั้งจะแล้วเสร็จและประกาศรัฐบาลชุดใหม่
Key Points
- อนุมัติ ปตท.สผ.-เชฟรอน สำรวจแหล่งปิโตรเลียมรอบ 24
- เร่งเจรจาพื้นที่ทับซ้อน ไทย-กัมพูชา หวังเพิ่มปริมาณก๊าซผลิตไฟฟ้า
- ราคาพลังงานผันผวนป่วนคณะทำงานวางกรอบ "แผนพลังงานชาติ" ล่าช้า
- แบ่งเบาค่าครองชีพประชาชน พยุงราคาดีเซล-ก๊าซหุงต้ม-ค่าไฟ หนี้รวมกว่า 2 แสนล้าน
ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาจากรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ ได้มอบหมายให้ นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ ดำรงตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เป็นช่วงเวลาประมาณ 4 ปี วันนี้ “กรุงเทพธุรกิจ” จึงขอรวบรวมผลงานทั้งที่สำเร็จและไม่สำเร็จในยุครัฐบาล “พล.อ.ประยุทธ์” เพื่อฝากไปยังรัฐบาลชุดใหม่ได้สานต่อหรือปรับปรุงแนวนโยบายต่อไป
ผลงานที่สำเร็จ
ประมูลสิทธิแหล่งปิโตรเลียม
วันที่ 7 มี.ค.2566 คณะรัฐมนตรี (ครม.) รับทราบผลการประมูลสิทธิแหล่งปิโตรเลียมในอ่าวไทยรอบที่ 24 จำนวน 3 แปลง โดยอนุมัติให้ บริษัท ปตท.สผ. เอนเนอร์ยี่ ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (ปตท.สผ.อีดี) และ บริษัท เชฟรอน ออฟชอร์ (ประเทศไทย) จำกัด เป็นผู้ชนะการประมูลในการยื่นขอสิทธิสำรวจและผลิตปิโตรเลียมสำหรับแปลงสำรวจในทะเลอ่าวไทย ครั้งที่ 24
โดย ปตท.สผ. อีดี เป็นผู้ได้รับสิทธิเป็นผู้รับสัญญาแบ่งปันผลผลิตสำหรับแปลงสำรวจในทะเลอ่าวไทย 2 แปลง คือ แปลงหมายเลข G1/65 และ G3/65 ขนาดพื้นที่รวม 19,515 ตารางกิโลเมตร
ส่วน เชฟรอน ได้รับสิทธิเป็นผู้รับสัญญาแบ่งปันผลผลิตสำหรับแปลงสำรวจในทะเลอ่าวไทยหมายเลข G2/65 ขนาดพื้นที่ 15,030 ตารางกิโลเมตร สำหรับการสำรวจปิโตรเลียมครั้งนี้จะทำให้เกิดการลงทุนสำรวจและพัฒนาปิโตรเลียมภายในประเทศตลอดช่วงสำรวจ 6 ปี เป็นเงินไม่น้อยกว่า 1,500 ล้านบาท
ผลงานที่ไม่สำเร็จ
พื้นที่ทับซ้อนไทย-กัมพูชา
ช่วงเดือนก.ย. 2565 “สุพัฒนพงษ์” ได้แสดงเจตนารมณ์ที่แน่วแน่ในการตั้งคณะกรรมการเฉพาะกิจในการทำงานเพื่อขับเคลื่อนทางการพัฒนาแหล่งพื้นที่ปิโตรเลียมทับซ้อน ไทย-กัมพูชา (Overlapping Claims Area : OCA) โดยฝ่ายไทยมีกระทรวงการต่างประเทศเป็นหน่วยงานหลักในการดำเนินการ
สำหรับพื้นที่ทับซ้อนทางทะเลมี 2.6 หมื่นตารางกิโลเมตร แบ่งการเจรจาเป็น 2 ส่วน คือ
1.พื้นที่เหนือเส้นละติจูดที่ 11 องศาเหนือขึ้นไป ต้องหาข้อสรุปเขตแดนทางทะเล 10,000 ตารางกิโลเมตร ให้ชัดเจนตามกฎหมายระหว่างประเทศ
2.พื้นที่ใต้เส้นละติจูดที่ 11 องศาเหนือลงมา พื้นที่ 16,000 ตารางกิโลเมตร ซึ่งมีเป้าหมายทำความตกลงพัฒนาปิโตรเลียมร่วมกัน (JDA) ในลักษณะที่คล้ายกับทที่ไทยทำ JDA ร่วมกับมาเลเซีย
โดยพื้นที่ดังกล่าวมีศักยภาพปิโตรเลียม โดยพื้นที่ฝั่งไทยที่ติดกับพื้นที่ทับซ้อนมีการพบปิโตรเลียมแล้ว เช่น แหล่งเอราวัณ แหล่งอาทิตย์ จึงมีแนวโน้มผลิตเชิงพาณิชย์ได้ ซึ่งรัฐบาลไทยให้สัมปทานไปเมื่อปี 2511 และให้หยุดสำรวจตั้งแต่ปี 2518 ซึ่งเป็นไปตามมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) ปี 2518 ที่ให้ยุติการสำรวจในพื้นที่ทับซ้อนกับประเทศเพื่อนบ้านทั้งหมด ทำให้การให้สิทธิสัมปทานในพื้นที่ทับซ้อนไทย-กัมพูชาหยุดลงด้วย
แผนพลังงานชาติ
กระทรวงพลังงานได้จัดทำ “แผนพลังงานชาติ" (National Energy Plan 2022) ซึ่งรวมทั้ง 5 แผนพลังงานไว้ด้วยกัน ประกอบด้วย 1. แผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย (PDP) 2. แผนพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก (AEDP) 3. แผนอนุรักษ์พลังงาน (EEP) 4. แผนบริหารจัดการก๊าซธรรมชาติ (Gas Plan) และ 5. แผนบริหารจัดการน้ำมันเชื้อเพลิง (Oil Plan)
สำหรับเป้าหมายของการจัดทำแผนดังกล่าว เนื่องจากรัฐบาล “พล.อ.ประยุทธ์” มีเป้าหมายที่ไทยจะบรรลุการปล่อยคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ภายในปี ค.ศ. 2050 และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ (Net-zero GHG emission) ภายในปี ค.ศ.2065
ดังนั้น การจะไปสู่เป้าหมายดังกล่าว กระทรวงพลังงานจะต้องปรับปรุงแผนพลังงานชาติใหม่เพื่อเป็นกลไกในการผลักดันตามนโยบาย โดยส่วนสำคัญคือการเพิ่มพลังงานหมุนเวียนเพื่อสร้างสมดุลที่มาจากพลังงาน ลม ชีวมวล และแสงอาทิตย์ ซึ่งต้องปรับเป้าหมายการทำแผนใหม่ โดยสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) เป็นผู้จัดทำแผน ประกอบด้วย
การปรับแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย(PDP) ฉบับใหม่จาก PDP 2022 เป็น PDP 2023 แทน เนื่องจากการจัดทำแผน PDP เกิดความล่าช้า เสนอเข้าคณะรัฐมนตรี (ครม.) ชุดปัจจุบันไม่ทัน ต้องปรับแผนใหม่เริ่มใช้ในปี 2566 แทน โดยขณะนี้กระทรวงพลังงานอยู่ระหว่างการจัดทำแผนดังกล่าว โดยสาเหตุความล่าช้า ส่วนหนึ่งมาจากปัญหาโควิดและการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ รวมถึงความผันผวนของราคาพลังงาน ซึ่งระหว่างจัดทำแผนฯ องค์ประกอบโดยรวมยังไม่นิ่งพอ มีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา
นอกจากนี้ จากโครงการรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนในรูปแบบ Feed-in Tariff (FiT) ปี 2565 – 2573 สำหรับกลุ่มโรงไฟฟ้าประเภทไม่มีต้นทุนเชื้อเพลิง พ.ศ. 2565 จำนวน 5,203 เมกะวัตต์ แต่มีบริษัทรายใหญ่หลายรายให้ความสนใจยื่นเข้ามากว่า 17,000 เมกะวัตต์ คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) จึงมีมติเปิดรับซื้อเพิ่มอีก 3,668.5 เมกะวัตต์
มาตรการช่วยเหลือประชาชน
ตรึงราคาดีเซล
จากการที่ทั่วโลกต้องเผชิญกับวิกฤติโควิด-19 ประเทศต่าง ๆ ต่างใช้มาตรการล็อกดาวน์ประเทศเพื่อระงับการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส ซึ่งประเทสไทยก็ใช้นโยบายทำงานที่บ้าน (WFH) เช่นกัน ทำให้ราคาน้ำมันตลาดโลกลดต่ำเพราะยอดการใช้จ่ายลดลงตามภาวะเศรษฐกิจที่หดตัว และเมื่อสถานการณ์เริ่มคลี่คลาย เศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัว หลายประเทศเริ่มนโยบายเปิดประเทศ ภาคอุตสาหกรรมกลับมาเร่งกำลังผลิตอีกครั้ง การใช้พลังงานกลับมาเพิ่มสูงขึ้นส่งผลถึงราคาพลังงานที่พุ่งสูงขึ้นแบบฉุดไม่อยู่
ทั้งนี้ กระทรวงพลังงานใช้กลไกพยุงราคาน้ำมันโดยเฉพาะน้ำมันดีเซลที่เป็นหัวใจหลักของภาคขนส่งที่มีปริมาณการใช้ผลต่อราคาสินค้าในประเทศไทยโดยตรึงราคาดีเซลไว้ในระดับ 32 บาทต่อลิตรและค่อย ๆ ปรับขึ้นมาที่ 35 บาทต่อลิตรในช่วงสิ้นปี 2565 และเมื่อราคาน้ำมันเริ่มปรับลดลงทำให้กองทุนน้ำมันเริ่มเก็บเงินเข้ากองทุนน้ำมันได้ บัญชีที่เคยติดลบระดับ 1.2 แสนล้านบาทอยู่ในระดับ 9.9 หมื่นล้านบาท กระทรวงพลังงานจึงได้มีมติปรับลดราคาดีเซลลงครั้งละ 50 สตางค์ในช่วงเดือนก.พ. 2566 และล่าสุดวันที่ 17 มี.ค. 2566 คณะกรรมการบริหารกองทุนน้ำมัน (กบน.) มีมติลดราคาดีเซลลงอีก 50 สตางค์ ส่งผลให้ราคาขายหน้าปั๊มจึงเหลือที่ลิตรละ 33.50 บาท มีผลวันที่ 24 มี.ค. 2566
ตรึงราคาก๊าซหุงต้ม LPG
ในส่วนของราคาก๊าซหุงต้มก็เช่นกัน โดยกระทรวงพลังงานใช้เงินอุดหนุนจากกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงเพื่อตรึงราคาไว้ปัจจุบันที่ 423 บาทต่อถัง15 กิโลกรัม จากปัจจุบันต้นทุนจริงอยู่ที่ 510 บาทต่อถัง15 กก. ตามสถานการณ์โลกที่ผันผวนระดับสูง โดยกองทุนน้ำมันฯอุดหนุน 8.88 บาทต่อกก. ส่งผลให้บัญชีก๊าซแอลพีจีติดลบ 46,372 ล้านบาท
ลดค่าไฟกลุ่มเปราะบาง
อีกราคาพลังงานที่มีความผันผวนและเป็นต้นทุนของกลุ่มอุตสาหกรรม และด้วยปัจจัยการผลิตก๊าซในอ่าวไทย แหล่งเอราวัณไม่สามารถผลิตก๊าซได้ตามสัญญาแบ่งปันผลผลิต ส่วนหนึ่งมาจากปัญหาการเข้าลงทุนในพื้นที่ล่าช้า ส่งผลให้ไทยต้องนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) เพื่อมาผลิตไฟฟ้า ซึ่งมีราคาต้นทุนสูงกว่าก๊าซในอ่าวไทย
ทั้งนี้ “สุพัฒนพงษ์” ได้ใช้แนวทางในการควบคุมราคาค่าไฟโดยให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เป็นผู้แบกรับค่าไฟฟ้าผันแปร (Ft) เป็นระยะเวลากว่า 2 ปี คิดเป็นเงินหลัก 1.7 แสนล้านบาท อีกทั้งค่าไฟงวดเดือนม.ค.-เม.ย. 2566 ได้ใช้แนวทางโดยการให้ประชาชนกลุ่มเปราะบางจ่ายค่าไฟฟ้าโดยใช้ก๊าซในอ่าวไทยเป็นต้นทุนส่งผลให้จ่ายในราคาเดิมคือหน่วยละ 4.72 บาท ในขณะที่กลุ่มธุรกิจจ่ายหน่วยละ 5.33 บาท