เปิดเหตุผล ‘แผนพลังงานชาติ’ สะดุด ไม่ทันเข้า ครม.ก่อนยุบสภาฯ

เปิดเหตุผล ‘แผนพลังงานชาติ’ สะดุด ไม่ทันเข้า ครม.ก่อนยุบสภาฯ

“กระทรวงพลังงาน” ปรับแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย (PDP) ฉบับใหม่จาก PDP 2022 เป็น PDP 2023 แทน เนื่องจากการจัดทำแผน PDP เกิดความล่าช้า เสนอเข้าคณะรัฐมนตรี( ครม.) ชุดปัจจุบันไม่ทัน

แหล่งข่าวกระทรวงพลังงาน เปิดเผยถึงความคืบหน้าการจัดทำแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย (PDP) ฉบับใหม่ว่า ยอมรับว่าการจัดทำแผน PDP ฉบับใหม่ หรือ แผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศ พ.ศ. 2565-2580 (PDP 2022) มีความล่าช้า จนไม่สามารถนำเสนอเข้าที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ(กพช.) และคณะรัฐมนตรี (ครม.) ตามลำดับได้ทันในสมัยรัฐบาลชุด “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” เป็นนายกรัฐมนตรี

ทั้งนี้ กระทรวงพลังงานจะต้องปรับแผน PDP ใหม่ โดยต้องเปลี่ยนชื่อจากแผน PDP 2022 เป็นแผน PDP 2023 แทน หรือเรียกว่าแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย พ.ศ. 2566-2580 เนื่องจากจะกำหนดให้เริ่มต้นใช้แผน PDP ฉบับใหม่ในปี 2566 นี้

อย่างไรก็ตาม ขณะนี้กระทรวงพลังงานอยู่ระหว่างการจัดทำแผนดังกล่าว และตามขั้นตอนจะต้องเสนอรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานพิจารณาก่อน จากนั้น จะเปิดรับฟังความเห็นประชาชน ซึ่งคาดว่าจะดำเนินการเสร็จและเปิดรับฟังความเห็นประชาชนได้ในเดือน มิ.ย. 2566 จากนั้น จึงจะนำเข้าสู่การพิจารณาเพื่อขออนุมัติจากรัฐบาลชุดใหม่ต่อไป

“จริง ๆ หากไม่เกิดวิกฤติปัญหาโควิด และเกิดการล็อกดาวน์ประเทศทั่วโลก กำลังการใช้พลังงานมีการหยุดชะงักพร้อมกันทั่วโลก และเมื่อปัญหาโควิด คลี่คลาย หลายประเทศเร่งฟื้นเศรษฐกิจ ภาคผลิตกลับมาเดินกำลังการผลิตเต็มกำลัง การใช้พลังงานกลับสูงขึ้นอีกครั้ง อีกทั้งสงครามการเงินก็เป็นอีกปัจจัยให้ราคาพลังงานผันผวนอย่างมาก จึงส่งผลให้การจัดทำแผนไม่นิ่ง ซึ่งต้องมีการปรับเปลี่ยนตลอดเวลา”  

 

 

แหล่งข่าวกระทรวงพลังงาน กล่าวว่า ปัจจุบันประเทศไทยยังคงใช้แผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศ พ.ศ. 2561-2580 หรือ PDP 2018 ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 1 อยู่ และที่ผ่านมาได้พยายามจัดทำแผน PDP 2022 แต่เกิดปัญหาด้านสถานการณ์ราคาพลังงานผันผวน ทำให้ต้องปรับแผนกันหลายครั้ง จนเกิดความล่าช้าและเสร็จไม่ทันกำหนดในเดือน ต.ค. 2565 ที่ผ่านมา และเมื่อเข้าสู่ปี 2566 จึงต้องปรับ PDP ให้เริ่มต้นใช้ปี 2566 จึงกลายเป็น PDP 2023 แทน

สำหรับแผน PDP 2023  ยังคงเน้นในเรื่องของพลังงานทดแทนมากขึ้น และแบ่งรายละเอียดการใช้และผลิตไฟฟ้าเป็นรายภูมิภาคเช่นเดิม สำหรับสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าจะมีการเปลี่ยนแปลงเล็กน้อย โดยจะไม่มีการบรรจุโรงไฟฟ้าถ่านหินสำหรับโรงใหม่ไว้ ดังนั้นโรงไฟฟ้าถ่านหินจะเหลือเพียงโรงไฟฟ้าแม่เมาะที่ดำเนินการอยู่ในปัจจุบันเท่านั้น  ขณะที่โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ยังคงมีบรรจุไว้ช่วงปลายแผน PDP 2023  แต่จะปรับขนาดโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ให้มีขนาดเล็กลง เนื่องจากปัจจุบันโลกมีการพัฒนาเทคโนโลยีโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ให้ลดขนาดลง เพื่อความปลอดภัยและเหมาะสมกับการผลิตไฟฟ้าในปัจจุบัน 

 

 

อย่างไรก็ตาม ยืนยันว่าการจัดทำ PDP 2023 ดังกล่าว ได้สรุปราคาค่าไฟฟ้าตลอดแผนไว้ไม่เกิน 5 บาทต่อหน่วยด้วย เนื่องจากมีไฟฟ้าจากพลังงานทดแทน ซึ่งมีราคาต้นทุนถูกลงตามเทคโนโลยีปัจจุบัน ทำให้ราคาค่าไฟฟ้าไม่แพงเกินไป สำหรับภาพรวมปริมาณการผลิตไฟฟ้าในแผน PDP 2023 จะมีปริมาณใกล้เคียงกับแผน PDP 2018 ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 1 ซึ่งเป็นแผนปัจจุบันที่ใช้อยู่ในขณะนี้

สำหรับแผน PDP 2018 ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 1 (แผนปัจจุบัน) ได้คาดการณ์การใช้ไฟฟ้าสูงสุด (พีค) ช่วงปลายแผนปี 2580 อยู่ที่  53,997 เมกะวัตต์  ส่วนการผลิตไฟฟ้าระหว่างปี  2561-2580 จะมีกำลังการผลิตไฟฟ้าในระบบของ 3 การไฟฟ้า คือ

  • การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.)
  • การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.)
  • การไฟฟ้านครหลวง (กฟน.)

ช่วงปลายแผนในปี 2580 อยู่ที่ 77,211 เมกะวัตต์  ประกอบด้วยกำลังการผลิตไฟฟ้า ณ สิ้นปี 2560 เท่ากับ 46,090 เมกะวัตต์ รวมทั้งจะมีกำลังการผลิตไฟฟ้าใหม่อยู่ที่ 56,431 เมกะวัตต์ และปลดโรงไฟฟ้าที่หมดอายุลง 25,310 เมกะวัตต์