“สนพ” กางแผน 4 งานสำคัญปี 66 ลั่นคลอด “แผนพลังงานชาติ” ปีนี้
“พลังงาน” เป็นหนึ่งในปัจจัยพื้นฐานที่สำคัญในการขับเคลื่อน เศรษฐกิจ สังคม และการพัฒนาประเทศ ซึ่งปัจจุบันนานาประเทศต่างให้ความสำคัญในประเด็นลดปัญหาภาวะโลกร้อน ซึ่งหนึ่งในตัวแปรสำคัญที่ทำให้เกิดผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมคือภาคพลังงาน
กระทรวงพลังงาน โดย สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) จึงได้จัดทำ “แผนพลังงานชาติ” หรือ National Energy Plan ขึ้นเพื่อเป็นกรอบแนวทาง ดำเนินนโยบายเพื่อการพัฒนาด้านพลังงานของประเทศไทยในอนาคต โดยในการจัดทำแผนพลังงานชาติครั้งใหม่นี้ จะเป็นการนำแผนพลังงานชาติ ทั้ง 5 แผน ที่มีอยู่ซึ่งประกอบด้วย 1. แผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศ 2. แผนพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก 3. แผนอนุรักษ์พลังงาน 4. แผนบริหารจัดการก๊าซธรรมชาติ และ 5. แผนบริหารจัดการน้ำมันเชื้อเพลิง มาบูรณาการและรวมกันไว้ภายใต้แผนเดียว
นายวัฒนพงษ์ คุโรวาท ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) กระทรวงพลังงาน กล่าวว่า แผนการดำเนินงานของ สนพ. ในปี 2566 นั้น สนพ. ได้รับมอบหมายจัดทำแผนปฏิบัติการด้านพลังงาน พ.ศ. 2566 – 2580 หรือแผนพลังงานชาติ เพื่อสนับสนุนให้ประเทศไทยบรรลุความเป็นกลางทางคาร์บอน ภายในปี ค.ศ.2050 และมุ่งเน้นส่งเสริมความมั่นคงภาคพลังงานเพื่อรองรับรูปแบบการผลิตและการใช้พลังงานที่มีความหลากหลายมากขึ้นในอนาคต โดยแผนพลังงานชาติ มีแนวนโยบายที่สำคัญ คือ
1. เน้นการเพิ่มสัดส่วนพลังงานทดแทนและพลังงานสะอาดจากโรงไฟฟ้าใหม่ โดยเพิ่มการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนจากกำลังผลิตใหม่ให้มากกว่า 50%
2. ส่งเสริมการปรับเปลี่ยนการใช้พลังงานภาคขนส่งเป็นพลังงานไฟฟ้าสีเขียว ผ่านเทคโนโลยียานยนต์ไฟฟ้าตามนโยบาย 30@30
3. เพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงานให้ได้มากกว่า 30 – 40%
4. ปรับโครงสร้างพื้นฐานรองรับการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงานตามแนวทาง 4D1E เช่น การพัฒนาระบบไฟฟ้าที่มีการกระจายตัวและยืดหยุ่น รวมถึงปรับเปลี่ยนรูปแบบการใช้พลังงานเป็นพลังงานไฟฟ้า ปัจจุบันอยู่ระหว่างการจัดทำแผนย่อยรายสาขาด้านพลังงานทั้งด้านไฟฟ้า ก๊าซ น้ำมัน พลังงานทดแทน และอนุรักษ์พลังงาน เพื่อนำมาเป็นข้อมูลสำหรับแผนพลังงานชาติ คาดว่าจะเสนอร่างแผนพลังงานชาติภายในปี 2566
ทั้งนี้ สนพ.ยังมีแผนงานด้านยานยนต์ไฟฟ้า (EV) โดยขับเคลื่อนแผนงานด้านพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ทั้งการส่งเสริมการจัดตั้งสถานีอัดประจุไฟฟ้า โดยประสานหน่วยงานเกี่ยวข้องกำหนดมาตรการสนับสนุนการจัดตั้งสถานีฯ เช่น
การกำหนดค่าไฟของผู้ให้บริการที่อัตรา Low Priority การให้สิทธิประโยชน์ BOI รวมทั้งส่งเสริมอุตสาหกรรมแบตเตอรี่สำหรับ EV โดยร่วมกับกรมสรรพสามิต ออกมาตรการส่งเสริมการลงทุนอุตสาหกรรมผลิตแบตเตอรี่ระดับเซลล์ในประเทศภายในปี 2568
"ดังนั้น ภายในเดือน ม.ค. - ก.พ. 2566 จะมีความชัดเจนในเรื่องของมาตรการ รวมถึงการพัฒนาอีวีดาต้าแพลตฟอร์ม เพื่อกำกับดูแลการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าซึ่งจะทำให้ภาครัฐได้รู้พฤติกรรมการใช้รถอีวี"
นอกจากนี้ สนพ.อยู่ระหว่างการร่างแผนบูรณาการการลงทุน Grid Modernization ของประเทศฉบับแรก เพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านพลังงานไฟฟ้าระยะ 5 ปี (ปี 2565 – 2570) เป็นการบูรณาการการลงทุนและจัดลำดับความสำคัญของโครงการของ 3 การไฟฟ้าทั้งในส่วนระบบผลิต ระบบส่ง และระบบจำหน่าย ซึ่งจะช่วยในเรื่องของการลดขั้นตอน ลดเงินลงทุน
สำหรับแผนพลังงานชาติ ที่จะเกิดขึ้นนี้จัดทำขึ้นเพื่อสอดคล้องกับแนวทางการมุ่งสู่เป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ภายในปี 2593 (ค.ศ. 2050) และบรรลุการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero GHG Emissions) ภายในปี 2608 (ค.ศ. 2065)