เริ่มแล้ว บางระกำโมเดลเริ่มทำนาปี66ก่อนใคร เตรียมพื้นที่รับน้ำหลากปลายปี
กรมชลประทาน เริ่มปล่อยน้ำเข้าทุ่งบางระกำ 310 ล้านลูกบาศก์เมตร(ลบ.ม) เปิดทางเกษตรกรทำนาปีก่อนพื้นที่อื่น เริ่ม 1 เม.ย. นี้ พร้อมเร่งเก็บเกี่ยวเดือน ส.ค. เตรียมพื้นที่ลุ่มต่ำรับมือช่วงน้ำหลาก เลี่ยงความเสียหาย
นายประพิศ จันทร์มา อธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า กรมชลประทานได้เตรียมรับฤดูน้ำหลากปี 66 ในพื้นที่จังหวัดพิษณุโลก สุโขทัย ด้วยการปรับเปลี่ยนปฏิทินการเพาะปลูกข้าวนาปีหรือโครงการบางระกำโมเดล ในพื้นที่ลุ่มต่ำทุ่งบางระกำ ให้เร็วขึ้นกว่าปกติ เพื่อลดผลกระทบผลผลิตเสียหายในช่วงฤดูน้ำหลาก โดยในปีนี้เป็นการดำเนินโครงการมาอย่างต่อเนื่องสู่ปีที่ 7
ซึ่งในปีที่ผ่านมา กรมชลประทาน ได้จัดสรรน้ำไปยังพื้นที่เป้าหมาย 265,000 ไร่ ปริมาณน้ำจัดสรร 310 ล้าน ลบ.ม. ให้เกษตรกรได้เพาะปลูกและเก็บเกี่ยวแล้วเสร็จเป็นไปตามแผนที่กำหนดทำให้ไม่มีพื้นที่ได้รับความเสียหายจากน้ำหลากแต่อย่างใด สำหรับในปีนี้ กรมชลประทาน ได้เริ่มทยอยปล่อยน้ำเข้าระบบส่งน้ำแล้วเมื่อวันที่ 15 มี.ค.66 ที่ผ่านมา โดยเมื่อวันที่ 17 มี.ค. 2565 กรมชลประทานได้เปิดน้ำเข้าระบบส่งน้ำเพื่อปรับปฏิทินการเพาะปลูกข้าวนาปี พื้นที่ลุ่มต่ำบางระกำ แล้ว
“โครงการบางระกำโมเดล ” นั้น เกิดขึ้นเนื่องจากปัญหาอุทกภัยที่ซ้ำซากในพื้นที่ จ.สุโขทัยและพิษณุโลก เมื่อปี 2559 กรมชลประทานจึงได้บูรณาการร่วมกับทุกภาคส่วน ดำเนินโครงการฯมาอย่างต่อเนื่องจวบจนปัจจุบัน ที่ก้าวเข้าสู่ปีที่ 7 แล้ว ด้วยการปรับเปลี่ยนปฏิทินการปลูกข้าวนาปีของเกษตรกร ในพื้นที่ลุ่มต่ำทุ่งบางระกำ ประกอบไปด้วย อ.พรหมพิราม อ.เมือง อ.บางระกำ และ อ.วัดโบสถ์ จ.พิษณุโลก และ อ.กงไกรลาศ จ.สุโขทัย ให้เร็วขึ้น จากเดิมที่เคยปลูกในเดือนพฤษภาคมมาเป็นเดือนเมษายน เพื่อให้เกษตรกรสามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตได้ภายในเดือนสิงหาคม ช่วยลดผลกระทบจากน้ำท่วมพื้นที่นาข้าวในช่วงฤดูน้ำหลาก
“สำหรับในปีนี้ กรมชลประทานจะเริ่มทยอยส่งน้ำจากเขื่อนสิริกิติ์ ที่ปัจจุบันมีปริมาณน้ำในอ่างฯ 5,240 ล้าน ลบ.ม. หรือร้อยละ 55 ของความจุอ่างฯ มีน้ำใช้การได้ประมาณ 2,390 ล้าน ลบ.ม. ให้กับทุ่งบางระกำ พื้นที่ประมาณ 2.65 แสนไร่ โดยเปิดรับน้ำเข้าระบบชลประทาน ตั้งแต่วันที่ 15 มีนาคม 2566 ให้เกษตรกรเริ่มเพาะปลูกข้าวได้ตั้งแต่ 1 เมษายน เป็นต้นไป เพื่อให้สามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตได้แล้วเสร็จภายในเดือน สิงหาคม 2566 รวมปริมาณน้ำที่จัดสรร ประมาณ 310 ล้าน ลบ.ม.”
หลังจากที่เกษตรกรเก็บเกี่ยวผลผลิตแล้วเสร็จทั้งโครงการฯ กรมชลประทาน จะใช้พื้นที่ลุ่มต่ำทุ่งบางระกำ เป็นพื้นที่หน่วงน้ำรองรับปริมาณน้ำในช่วงฤดูน้ำหลากจากลุ่มน้ำยม ซึ่งจะช่วยลดผลกระทบจากอุทกภัยทั้งในเขต จ.พิษณุโลก และพื้นที่เศรษฐกิจ จ.สุโขทัย ได้อย่างมีประสิทธิภาพ อีกด้านหนึ่ง ได้ร่วมกับกรมประมง บูรณาการส่งเสริมอาชีพ โดยนำพันธุ์ปลามาปล่อยลงในทุ่ง ให้เกษตรกรมีอาชีพเสริมในการทำประมง และยังส่งเสริมการแปรรูปผลผลิตจากปลา และผลผลิตทางการเกษตรอื่น ๆ เพื่อสร้างรายได้เสริมให้กับเกษตรกรและชุมชน ในช่วงฤดูน้ำหลาก เมื่อสิ้นเดือนพฤศจิกายน จะเริ่มระบายน้ำออกจากทุ่งบางระกำ โดยจะคงเหลือปริมาณน้ำส่วนหนึ่งไว้ในทุ่ง สำหรับให้เกษตรกรใช้ในการเตรียมแปลงเพาะปลูกข้าวนาปรังต่อไป ช่วยประหยัดน้ำต้นทุนให้กับเขื่อนสิริกิติ์ได้อีกทางหนึ่งด้วย
นายสุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) กล่าวว่า ในการประชุม คณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ ครั้งที่ 1/2566 ที่มี พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และประธานกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (กนช.) เป็นประธานการประชุม
ที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมประชุม เพื่อรับทราบรายงานสถานการณ์น้ำปัจจุบันและการคาดการณ์ สรุปผลการถอดบทเรียนการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำฤดูฝน ปี 2565 ความก้าวหน้าการดำเนินการตามมาตรการรองรับฤดูแล้ง ปี 2565/2566 ความก้าวหน้าการดำเนินงานแผนงานบูรณาการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 และปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 และผลการดำเนินงานที่สำคัญของคณะอนุกรรมการภายใต้ กนช.
นอกจากนี้ ที่ประชุมยังได้พิจารณาเห็นชอบ (ร่าง) มาตรการรับมือฤดูฝน ปี 2566 ที่ปรับจาก 13 มาตรการเดิม
จากเมื่อปีที่ผ่านมา เป็น 12 มาตรการใหม่ ดังนี้ 1.คาดการณ์ชี้เป้าพื้นที่เสี่ยงน้ำท่วมและพื้นที่เสี่ยงช่วงฝนทิ้งช่วง 2.การบริหารจัดการน้ำพื้นที่ลุ่มต่ำเพื่อรองรับน้ำหลาก 3.ทบทวน ปรับปรุงเกณฑ์บริหารจัดการน้ำในแหล่งน้ำ/เขื่อนระบายน้ำและจัดทำแผนบริหารจัดการน้ำเชิงบูรณาการ
4.เตรียมความพร้อม ซ่อมแซม ปรับปรุง อาคารชลศาสตร์ ระบบระบายน้ำ โทรมาตร ให้พร้อมใช้งาน และปรับปรุงแก้ไขสิ่งกีดขวางทางน้ำ 5.เตรียมพร้อม/วางแผนเครื่องจักร เครื่องมือ บุคลากร ประจำพื้นที่เสี่ยงน้ำท่วมและพื้นที่เสี่ยงในช่วงฝนทิ้งช่วง ปรับปรุงวิธีการส่งน้ำในพื้นที่เสี่ยงในช่วงฝนทิ้งช่วง 6.ตรวจความมั่นคงปลอดภัย คัน ทำนบ พนังกั้นน้ำ
7.เพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำของทางน้ำ 8.ซักซ้อมแผนเผชิญเหตุตั้งศูนย์ส่วนหน้าก่อนเกิดภัยและฟื้นฟูสภาพให้กลับสู่สภาพปกติ 9.เร่งเก็บกักน้ำในแหล่งน้ำทุกประเภทช่วงปลายฤดูฝน 10.สร้างความเข้มแข็ง เครือข่ายภาคประชาชนในการให้ข้อมูลสถานการณ์ 11.การสร้างการรับรู้และประชาสัมพันธ์ผ่านคณะกรรมการลุ่มน้ำ คณะอนุกรรมการทรัพยากรน้ำจังหวัด องค์กรผู้ใช้น้ำ เครือข่ายต่างๆ
และ 12.ติดตามประเมินผลปรับมาตรการให้สอดคล้องกับสถานการณ์ภัย โดยรองนายกรัฐมนตรีได้สั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เร่งรัดจัดทำแผนปฏิบัติการรองรับมาตรการรับมือฤดูฝน ปี 2566 ตามภารกิจของหน่วยงาน และให้คณะกรรมการลุ่มน้ำ นำมาตรการรับมือฤดูฝนดังกล่าว ไปประกอบการจัดทำแผนป้องกันและแก้ไขภาวะน้ำท่วมของลุ่มน้ำ ปี 2566 และเสนอมาตรการรับมือฤดูฝนให้ ครม. รับทราบต่อไป
ในส่วนการจัดทำแผนป้องกันและแก้ไขภาวะน้ำแล้ง และแผนป้องกันและแก้ไขภาวะน้ำท่วม ของคณะกรรมการลุ่มน้ำ ทั้ง 22 ลุ่มน้ำ ที่อยู่ระหว่างเร่งดำเนินการ และคาดว่าจะแล้วเสร็จไม่ทันในช่วงฤดูฝน ปี 66 ซึ่งตามปฏิทินการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำในช่วงฤดูฝน ที่เริ่มตั้งแต่วันที่ 1 พ.ค. สิ้นสุดวันที่ 31 ต.ค. ของทุกปี ยกเว้นพื้นที่ภาคใต้ฝั่งตะวันออก ที่เริ่มตั้งแต่วันที่ 1 ก.ย. สิ้นสุดวันที่ 28 ก.พ. ของทุกปี ดังนั้น เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมในการป้องกันและแก้ไขภาวะน้ำท่วมในปีนี้ ให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ สทนช.
จึงเสนอให้คณะกรรมการลุ่มน้ำพิจารณาใช้แนวทางแผนป้องกันและแก้ไขภาวะน้ำท่วม ปี 65 มาใช้เป็นหลักการในการจัดทำแผนป้องกันและแก้ไขภาวะน้ำท่วม ปี 66 ไปพลางก่อน ซึ่งประกอบด้วย (ร่าง) แผนป้องกันและแก้ไขภาวะน้ำท่วม ที่ สทนช. ได้จัดเตรียมไว้เบื้องต้น มาตรการรับมือฤดูฝน ปี 66 ตามที่ กนช. เห็นชอบ แผนปฏิบัติการของหน่วยงานภายใต้มาตรการรับมือฤดูฝน ปี 66 และแผนการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำของหน่วยงาน รวมทั้งเพิ่มเติมแผนการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ พ.ศ. 2564-2570 ที่ ครม. มีมติเห็นชอบเมื่อวันที่ 5 ก.ค. 65
มาใช้ในบริหารจัดการทรัพยากรน้ำฤดูฝนปีนี้ด้วย
นอกจากนี้ รองนายกรัฐมนตรี ยังได้กำชับให้ทุกหน่วยงานติดตามสถานการณ์น้ำและเตรียมความพร้อมรับมือกับสถานการณ์ที่จะเกิดขึ้นอยู่ตลอดเวลา เพื่อสามารถเข้าให้การช่วยเหลือประชาชนได้ทันท่วงที รวมทั้งให้เร่งดำเนินการขับเคลื่อนแผนงานโครงการต่างๆ ให้บรรลุเป้าหมายตามแผนแม่บทการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำที่กำหนดไว้ เพื่อสร้างความมั่นคงด้านน้ำและสร้างความเชื่อมั่นให้กับประชาชน.