จัดสรรน้ำ 'ฤดูแล้ง' ชลประทาน คาดปริมาณน้ำเพียงพอตลอดช่วงฤดูแล้งนี้

จัดสรรน้ำ 'ฤดูแล้ง' ชลประทาน คาดปริมาณน้ำเพียงพอตลอดช่วงฤดูแล้งนี้

กรมชลประทาน ประชุมวางแผนจัดสรรน้ำฤดูแล้ง คาดปริมาณน้ำเพียงพอตลอดช่วงฤดูแล้งนี้

เมื่อวันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2566 ที่ศูนย์ปฏิบัติการน้ำอัจฉริยะ (SWOC) กรมชลประทาน ถนนสามเสน นายปกรณ์ สุตสุนทร ผู้เชี่ยวชาญด้านที่ปรึกษาอุทกวิทยา เป็นประธานการประชุมคณะอนุกรรมการติดตามและวิเคราะห์แนวโน้มสถานการณ์น้ำ ผ่านระบบ Video Conference ไปยังสำนักงานชลประทานที่ 1-17 และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ กรมอุตุนิยมวิทยา สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ กรมทรัพยากรน้ำ กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย สำนักการระบายน้ำกรุงเทพมหานคร การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เพื่อติดตามและวิเคราะห์สถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำ แหล่งน้ำ และแม่น้ำสายหลักต่าง ๆ สำหรับเป็นข้อมูลในการบริหารจัดการน้ำให้สอดคล้องและเหมาะสมในแต่ละพื้นที่ต่อไป 

นายปกรณ์ สุตสุนทร ผู้เชี่ยวชาญด้านที่ปรึกษาอุทกวิทยา เปิดเผยว่า ปัจจุบัน (27 ก.พ 66) อ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลางทั่วประเทศ มีปริมาณน้ำรวมกัน 53,787 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 70 ของความจุอ่างฯ เป็นน้ำใช้การได้ 29,845 ล้าน ลบ.ม. หรือคิดเป็นร้อยละ 57 ของปริมาณน้ำใช้การได้รวมกัน เฉพาะ 4 เขื่อนหลักลุ่มน้ำเจ้าพระยา (เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์) มีปริมาณน้ำรวมกัน 16,735 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 67 ของความจุอ่างฯ ปริมาณน้ำใช้การได้ 10,039 ล้าน ลบ.ม. หรือคิดเป็นร้อยละ 55 ของปริมาณน้ำใช้การได้รวมกัน ภาพรวมปริมาณน้ำต้นทุนอยู่ในเกณฑ์ดี จนถึงขณะนี้มีการจัดสรรน้ำในฤดูแล้งปี 65/66 ทั้งประเทศไปแล้ว 15,655 ล้าน ลบ.ม. หรือคิดเป็นร้อยละ 57 ของแผนฯ (แผนจัดสรรน้ำทั้งประเทศ 27,685 ล้าน ลบ.ม.) เฉพาะลุ่มเจ้าพระยามีการจัดสรรน้ำไปแล้ว 5,552 ล้าน ลบ.ม. หรือคิดเป็นร้อยละ 62 ของแผนฯ (แผนจัดสรรน้ำลุ่มเจ้าพระยา 9,100 ล้าน ลบ.ม.) ด้านผลการเพาะปลูกข้าวนาปรัง ทั้งประเทศมีการเพาะปลูกไปแล้ว 9.67 ล้านไร่ หรือคิดเป็นร้อยละ 87 ของแผนฯ เฉพาะลุ่มน้ำเจ้าพระยามีการเพาะปลูกไปแล้วประมาณ 6.33 ล้านไร่ คิดเป็นร้อยละ 94 ของแผนฯ สำหรับพื้นที่ลุ่มต่ำเจ้าพระยาที่ยังไม่ได้ทำการเพาะปลูก ขอให้เกษตรกรที่มีความพร้อมเร่งดำเนินการเพาะปลูกให้เป็นไปตามแผนการปรับปฏิทินการเพาะปลูก เพื่อให้สามารถเก็บเกี่ยวแล้วเสร็จก่อนฤดูน้ำหลากจะมาถึง 
 

ทั้งนี้ จากการคาดการณ์ของสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (สสน.) พบว่า ในช่วงเดือนมีนาคม - เมษายน 2566 ปริมาณฝนจะต่ำกว่าค่าปกติ โดยเฉพาะในพื้นที่ภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จึงได้กำชับให้สำนักงานชลประทานในพื้นที่วางแผนบริหารจัดการน้ำในช่วงฤดูแล้งนี้อย่างประณีต พร้อมตรวจสอบพื้นที่เสี่ยงปัญหาขาดแคลนน้ำ  โดยให้จัดทำแผนเตรียมรับมือสถานการณ์ภัยแล้ง รวมทั้งจัดเตรียมเครื่องจักรเครื่องมือ อาทิ เครื่องสูบน้ำ รถแบ็คโฮ เพื่อให้สามารถเข้าช่วยเหลือพื้นที่ได้ทันที ที่สำคัญให้ปฏิบัติตาม 10 มาตรการรองรับฤดูแล้งที่กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) กำหนดอย่างเคร่งครัด ในส่วนของพื้นที่ภาคใต้ กรมอุตุนิยมวิทยาได้คาดการณ์ว่า ในช่วงวันที่ 1-5 มีนาคม 2566 จะมีปริมาณฝนตกเพิ่มในพื้นที่ จึงขอให้ติดตามสภาพอากาศและสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิด พร้อมบริหารจัดการน้ำในช่วงปลายฤดูฝนให้สอดคล้องกับสถานกการณ์ควบคู่ไปกับการเก็บกักน้ำ ตรวจสอบและรักษาระดับน้ำในพรุให้สมดุล เพื่อป้องกันการเกิดอัคคีภัยในพื้นที่ลดผลกระทบที่จะเกิดกับประชาชนให้ได้มากที่สุด