กนอ. เล็งนำแนวคิด 4 บริษัทภาคี “CJPT” ระบบยานยนต์แห่งอนาคต ในนิคมฯ Smart Park
กนอ. เล็งนำแนวคิดการพัฒนาระบบยานยนต์แห่งอนาคตจาก 4 บริษัทภาคี (CJPT) ประยุกต์ใช้ในนิคมฯ สมาร์ทปาร์ค ขับเคลื่อนเป้าหมายนิคมอุตสาหกรรมปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์
นายวีริศ อัมระปาล ผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) เปิดเผยว่า เมื่อเร็วๆ นี้ ได้เข้าร่วมกิจกรรมทดสอบสมรรถนะรถยนต์ ซึ่งจัดโดย 4 บริษัทภาคี คอมเมอร์เชียล เจแปน พาร์ทเนอร์ชิบ เทคโนโลยี คอร์เปอร์เรชั่น (Commercial Japan Partnership Technologies : CJPT) ประกอบด้วย บริษัท อีซูซุมอเตอร์ส จำกัด, บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ คอร์ปอเรชั่น, บริษัท ซูซุกิ มอเตอร์ คอร์เปอร์เรชั่น และบริษัท ไดฮัทสุ มอเตอร์ จำกัด ร่วมกับบริษัท ฮีโน่มอเตอร์ส จำกัด
โดยภายในงานมีการจัดแสดงรถยนต์เพื่อการพาณิชย์ ภายใต้แนวคิด CASE: Connected, Autonomous, Shared, Electric เพื่อลดปัญหาที่พบในระบบขนส่ง รวมถึงการจัดการด้านพลังงานทางเลือก (Energy Solution) ด้านการขับเคลื่อน (Mobility Solution) เช่น การจัดสรรยานพาหนะตามเป้าหมายการใช้งานอย่างเหมาะสม การเพิ่มประสิทธิภาพของระบบโลจิสติกส์ และการจัดการบริหารข้อมูล (Data Solution)
“แนวคิดของ CJPT เป็นการพัฒนาระบบยานยนต์แห่งอนาคตในแง่ของทางเลือกด้านพลังงานทดแทน การใช้เทคโนโลยีเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ การจัดการพลังงาน และการเดินทาง ซึ่งสอดคล้องกับเป้าหมายของ กนอ.ในการประกาศเจตนารมณ์ให้นิคมอุตสาหกรรมสมาร์ท ปาร์ค (Smart Park) มุ่งสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน ด้วยการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และไม่อนุญาตให้มีปล่องระบายมลพิษทางอากาศ"
โดย กนอ.จะนำแนวคิดที่ได้ไปส่งเสริมการจัดการพลังงานภายในนิคมฯ อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด อาทิ การใช้พลังงานไฟฟ้าจากพลังงานสะอาด ทดแทนการพึ่งพาเชื้อเพลิงจากฟอสซิล เช่น พลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานไฮโดรเจน และพลังงานชีวภาพ เป็นต้น
รวมถึงส่งเสริมระบบการขนส่งภายในโครงการที่ขับเคลื่อนด้วยพลังงานสะอาดและปล่อยมลพิษเป็นศูนย์ คาดว่าจะสามารถลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในระยะดำเนินการได้ถึง 70% เมื่อเทียบกับนิคมอุตสาหกรรมที่พัฒนาบนพื้นฐานเดิม
อย่างไรก็ตาม ในอนาคตอาจจะสร้างความร่วมมือในการพัฒนาเทคโนโลยียานยนต์โดยใช้พลังงานสะอาด หรือพลังงานไฮโดรเจน เป็นพลังงานทางเลือกใหม่ รวมทั้งพัฒนาด้านซอฟต์แวร์ โดยเฉพาะระบบปฏิบัติการสำหรับยานยนต์ที่พัฒนาเทคโนโลยีและโซลูชันยานยนต์ใหม่ ครอบคลุมถึงรถบัสและรถจักรยานยนต์ เพื่อสนับสนุนการใช้เชื้อเพลิงต่ำในการคมนาคมแต่ให้ประสิทธิภาพสูง อาทิ รถยนต์ไฟฟ้าแบตเตอรี่ (Battery Electric Vehicle: BEV) รถยนต์ไฟฟ้าไฮบริด (Hybrid Electric Vehicle: HEV) และรถยนต์ไฟฟ้าเซลล์เชื้อเพลิง (Fuel Cell Electric Vehicle: FCEV)
โครงการ CJPT ปักหมุดก้าวแรกจากประเทศไทย และมีแผนขยายการใช้เทคโนโลยีเพื่อลดคาร์บอนสู่ตลาดในภูมิภาคเอเชีย ภายใต้ความร่วมมือกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย เพื่อยกระดับชีวิตของคนในภูมิภาค ขณะเดียวกันยังนำเสนอทางเลือกด้านการขับเคลื่อนที่เหมาะสม คำนึงถึงสภาพแวดล้อมในภูมิภาค เพื่อบรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน