“สหรัฐ”จับตาสินค้าจากท่าเรือไทย สวมสิทธิ์ส่งออกใช้แรงงานทาส
‘พาณิชย์’ เผย หลังสหรัฐจับตาสินค้า 5 ชาติรวมไทยส่งเข้าสหรัฐ สวมสิทธิแปลงสัญชาติสินค้าผลิตจากซินเจียง ละเมิดมาตรการ UFLPA ใช้แรงงานทาส ละเมิดสิทธิมนุษชน พร้อมเฝ้าระวังสินค้าไทยใกล้ชิด หวั่นถูกสุ่มตรวจละเอียด ผู้ส่งออกเครื่องนุ่งห่มไทย เร่งปรับตัวเลี่ยงวัตถุดิบจีน
Key Points
- สหรัฐออกกฎหมาย The Uyghur Forces Labor Prevention Act (UFLPA) เมื่อปี 2565
- เป็นการป้องกันการใช้แรงงานทาสและการละเมิดสิทธิมนุษยชนในการผลิตสินค้าที่ส่งออกไปสหรัฐ
- ขณะนี้สหรัฐจับตามองสินค้าจาก 5 ประเทศ คือ ไทย จีน เวียดนาม มาเลเซียและศรีลังกา
- (UFLPA) คือ ห้ามการนำเข้าสินค้าจากเขตซินเจียง ด้วยเหตุผลการใช้แรงงานทาสและละเมิดสิทธิมนุษยชน โดยกฎหมายมีผลตั้งแต่วันที่ 21 มิ.ย.2565 และจะมีผลบังคับใช้ถึง 23 ธ.ค.2572 หรือจนกว่ารัฐบาลสหรัฐจะออกกฎหมายยกเลิกคำสั่ง
สหรัฐได้จับตาเรือสินค้าจาก 5 ประเทศ ประกอบด้วย จีน เวียดนาม ไทย มาเลเซียและศรีลังกา ที่อาจนำสินค้าจากซินเจียงมาแปลงสัญชาติสินค้าไปถึงสหรัฐ โดนกักแล้วเกือบ 500 ครั้ง และกำลังตรวจอีกพันกว่าชิปเม้นท์
การดำเนินการครั้งนี้เกิดขึ้นหลังจากสหรัฐได้ประกาศใช้มาตรการ The Uyghur Forces Labor Prevention Act (UFLPA) คือ ห้ามการนำเข้าสินค้าจากเขตซินเจียง ด้วยเหตุผลการใช้แรงงานทาสและละเมิดสิทธิมนุษยชน โดยกฎหมายมีผลตั้งแต่วันที่ 21 มิ.ย.2565 และจะมีผลบังคับใช้ถึง 23 ธ.ค.2572 หรือจนกว่ารัฐบาลสหรัฐจะออกกฎหมายยกเลิกคำสั่ง
นางอารดา เฟื่องทอง รองอธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า สินค้าสำคัญที่ออกจากพื้นที่ดังกล่าว คือ ฝ้าย (20% ของฝ้ายที่ใช้ทั่วโลก) มะเขือเทศ และ Polysilicon (ส่วนประกอบในการผลิตแผงโซล่า 45% ของ polysilicon ที่ใช้ทั่วโลก)
รวมทั้งสินค้าที่เหลือที่อยู่ภายใต้ UFLPA คือ ส่วนประกอบสินค้าอิเล็กโทรนิกส์ รองเท้า ถุงมือ เส้นก๋วยเตี๋ยว สิ่งพิมพ์ (printed material) ของเล่น วิกผม รวมถึงสินค้าสำเร็จรูปที่ผลิตทั้งหมดหรือบางส่วนและส่งออกโดยตรงจากพื้นที่ สินค้าสำเร็จรูปที่ผลิตทั้งหมดหรือบางส่วนในพื้นที่และส่งออกจากประเทศที่ 3ในลักษณะ Transshipment หรือส่งเข้าไปประกอบสำเร็จรูปในประเทศที่ 3 ก่อนส่งออก สินค้าที่ผลิตโดยใช้วัตถุดิบที่มาจากพื้นที่
ตรวจพบต้องถูกส่งกลับ
ทั้งนี้การตรวจสอบที่ด่านนำเข้าของหน่วยงานศุลกากรและการป้องกันชายแดนสหรัฐ หรือ Customs and Border Protection (CBP) จะเป็นในลักษณะตั้งข้อสงสัยไว้ก่อน โดยสินค้าที่สงสัยว่าจะมาจากเขตซินเจียงจะถูกคำสั่ง Withhold Release Order (WRO) สินค้าจะถูกกักที่ด่านนำเข้า
รวมทั้งจะให้เวลา 30 วันที่ผู้นำเข้าต้องเลือกที่จะส่งออกกลับออกไปยังประเทศต้นทาง หรือหาทางพิสูจน์ให้ได้ว่าสินค้าไม่ได้ผ่านการผลิตทั้งหมดหรือบางส่วนจากโรงงานที่ใช้แรงงานทาสในพื้นที่ หรือใช้วัตถุดิบจากพื้นที่
นอกจากนี้ ถ้า CBP เชื่อว่าเป็นสินค้าที่ไม่ได้ผลิตจากโรงงานทาสแล้ว CBP ต้องทำรายงานเสนอรัฐสภาภายใน 30 วัน แจ้งเหตุผลว่าทำไมถึงปล่อยผ่านสินค้า ส่วนผู้ฝ่าฝืน UFLPA จะถูกลงโทษที่อาจเป็นโทษอาญา โทษฐานฝ่าฝืนการแซงชั่น ฝ่าฝืนการควบคุมการนำเข้า นำสินค้าต้องห้ามเข้าสหรัฐ และบริษัทที่ทำผิดจะถูกห้ามส่งสินค้าหรือนำเข้าสินค้าไปสหรัฐ
นางอารดา กล่าวว่า ผลกระทบต่อประเทศไทย โดยจะมีการตรวจสินค้าจะเข้มข้นมากยิ่งขึ้น เพราะไทยเป็นหนึ่งในหลายประเทศต้องสงสัยและถูกจับตามมองว่าจะทำ Transshipment หรือใช้วัตถุดิบจากซินเจียง การตรวจที่เข้มข้นมากยิ่งขึ้นอาจทำให้พบการฝ่าฝืนอื่นที่ไม่เกี่ยวข้องกับ UFLPA หรืออาจทำให้การนำเข้าพบอุปสรรค เสียเวลาเพิ่มขึ้นในการพิสูจน์ว่าไม่เกี่ยวข้องกับ ซินเจียง และประเทศไทยอาจเป็นแหล่งอุปทานทางเลือกอื่นของสินค้าที่ผลิตในเขตซินเจียง
“มาตรการดังกล่าวเริ่มใช้มาแล้ว 1 ปี และขณะนี้สินค้าไทยยังไม่ได้รับผลกระทบ แต่ทางกรมฯ ก็ให้เฝ้าระวังติดตามสถานการณ์นี้อย่างใกล้ชิด” นางอารดา กล่าว
ผู้ส่งออกไทยเร่งปรับตัว
นายชัยชาญ เจริญสุข ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) กล่าวว่า มาตรการดังกล่าาวผู้ส่งออกที่เกี่ยวข้องกับสินค้าที่อยู่ภายใต้มาตราการ UFLPA โดยเฉพาะอุตสหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งหุ่มที่ต้องใช้เส้นฝ้ายได้มีการปรับตัวแล้วจากการใช้บังคับมาตรการดังกล่าวประกาศใช้มาแล้ว 1 ปี โดยได้หาแหล่งวัตถุดิบจากประเทศอื่นมาทดแทน เช่น เวียดนาม และถ้าสินค้าไทยถูกสุ่มตรวจก็มีความเสี่ยงต่ำที่จะละเมิดมาตรการ UFLPA
สำหรับสถานการณ์การค้าระหว่างไทยและสหรัฐในปี 2565 มีมูลค่ารวม 65,552 ล้านดอลลาร์ เทียบปีก่อนหน้าเพิ่มขึ้น 16.53% โดยไทยส่งออกไปสหรัฐ มูลค่า 47,526 ล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้น 13.40% และไทยนำเข้าจากสหรัฐ มูลค่า 18,025.94 ล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้น 25.69%
สินค้าส่งออกหลักของไทย ได้แก่ เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ ผลิตภัณฑ์ยาง เครื่องโทรสาร โทรศัพท์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ อัญมณีและเครื่องประดับ เครื่องใช้ไฟฟ้าและส่วนประกอบอื่น
สินค้านำเข้าหลักของไทย ได้แก่ น้ำมันดิบ แผงวงจรไฟฟ้า เคมีภัณฑ์ เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ เครื่องบิน เครื่องร่อน อุปกรณ์การบินและส่วนประกอบ
ขณะที่เดือน ม.ค.2566 มูลค่าการค้าระหว่างไทยกับสหรัฐ มีมูลค่าการค้ารวม 4,870 ล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้น 7.18% ไทยส่งออกสินค้าไปสหรัฐมีมูลค่าการส่งออก 3,403 ล้านดอลลาร์ ลดลง 4.73 % และไทยนำเข้าสินค้าจากสหรัฐ มูลค่า 1,466 ล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้น 7.01%
สินค้าสำคัญที่หดตัว ได้แก่ เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ ผลิตภัณฑ์ยาง และเครื่องนุ่งห่ม ขณะที่สินค้าสำคัญที่ขยายตัว ได้แก่ อุปกรณ์กึ่งตัวนำ ทรานซิสเตอร์ และไดโอด หม้อแปลงไฟฟ้าและส่วนประกอบ และเครื่องโทรสาร โทรศัพท์ และส่วนประกอบ